กสม.แนะสังคมอย่านิ่งดูดายการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

กสม.ประสานคุ้มครองเยาวชนหญิงถูกบิดามารดาทำร้ายร่างกาย แนะชุมชน-สังคม ปรับทัศนคติยื่นมือช่วยเหลือเมื่อพบเห็นการกระทำรุนแรงในครอบครัว

08 ก.ย.2565 – น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่า ผู้ร้องเป็นลูกพี่ลูกน้องกับผู้เสียหาย ทราบว่า ผู้เสียหายซึ่งอาศัยอยู่กับบิดามารดาในพื้นที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกบิดามารดาทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเกิดรอยฟกช้ำและบาดแผลตามร่างกาย รวมทั้งถูกบังคับให้กู้ยืมเงินผู้อื่นมาใช้จ่ายในครอบครัว ผู้ร้องมีความกังวลว่าผู้เสียหายจะไม่ได้รับความปลอดภัย จึงขอความช่วยเหลือ

กสม. พิจารณาเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่เนื่องจากการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วด้วยวิธีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงรับไว้เป็นคำร้องและประสานเรื่องไปยังกรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ

ต่อมาเมื่อเดือน มี.ค.2565 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า ได้ส่งนักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงรายและเครือข่ายชุมชน ประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนันตำบล ฝ่ายรักษาความสงบในหมู่บ้าน ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านบิดามารดาของผู้เสียหายที่จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านยายของผู้เสียหายที่จังหวัดเชียงราย โดยได้ทราบข้อเท็จจริงว่า บิดาและมารดาของผู้เสียหายประกอบอาชีพขับรถรับจ้างและค้าขาย มีบุตรร่วมกัน 3 คน ผู้เสียหายเป็นบุตรสาวคนโต อายุ 15 ปี ทางครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและหนี้สินนอกระบบที่ค้างชำระจำนวนมาก จากการเจรจา บิดามารดาได้ตกลงให้ผู้เสียหายอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของยายและให้คำมั่นว่าจะเลิกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผู้เสียหาย ทั้งนี้ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงรายได้มีมติให้ผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมเฝ้าระวังเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากได้รับแจ้งว่าบิดามารดามารับผู้เสียหายไปดูแล ให้ตาและยายสามารถแจ้งไปยังผู้นำชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน รวมทั้งจะประสานขอรับการช่วยเหลือจากเงินกองทุนคุ้มครองเด็กจังหวัดเชียงรายเพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อไป

ล่าสุดจากการติดตามของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เมื่อเดือน พ.ค.และ ส.ค.2565 ได้ความว่า ปัจจุบันผู้เสียหายยังคงอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของยาย ซึ่งบิดาเคยติดต่อยายของผู้เสียหายเพื่อขอรับผู้เสียหายไปอุปการะเลี้ยงดูอีกครั้ง แต่ยายของผู้เสียหายไม่ให้ความยินยอม ปัจจุบันจึงไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับผู้เสียหายแล้ว ดังนั้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2565 จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังกล่าว และมอบหมายเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ให้คำแนะนำแก่ผู้ร้องว่าหากเกิดเหตุการณ์ตามคำร้องเรียนอีก ผู้ร้องสามารถขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและการบังคับคดีประจำจังหวัดของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

“กรณีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในอีกหลายกรณีที่เด็กถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว กรณีนี้ยังดีที่ญาติไม่เพิกเฉยและร้องเรียนมายัง กสม. กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามยังมีเด็กและผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกกระทำความรุนแรงในที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยเพื่อนบ้าน ญาติ ชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไม่สนใจหรือเพิกเฉยเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัวของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติกันและหันมายื่นมือให้ความช่วยเหลือเหยื่อของความรุนแรง ทั้งนี้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 5 ที่กำหนดให้ผู้พบเห็นหรือทราบการกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย” น.ส.สุภัทรากล่าว

น.ส.ฃสุภัทรากล่าวด้วยว่า กสม. อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนอีกหลายกรณีที่เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยในเบื้องต้น กสม. มีความเห็นว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวควรดำเนินการในเชิงระบบด้วยการเชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นและชุมชน โดยอาจให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงหรือประสานกับกลไกอื่น ๆ ในพื้นที่ เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว อสม. คณะกรรมการระดับชุมชน เพื่อให้เหยื่อได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปลาหมอคางดำ'ต้องเป็นศูนย์ ก่อนนิเวศย่อยยับ

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย   ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553  ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน

ส่อง'กฎหมายโลกร้อน' ควบคุม-เบิกทางปล่อยก๊าซ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบทั่วโลก ไทยเจออากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน  น้ำทะเลอุ่นจนปะการังฟอกขาวทั้งอ่าวไทยและอันดามัน  สภาพอากาศร้อนและแล้ง ฤดูฝนล่าช้า ส่งผลพืชผักเสียหาย กระทบภาคเกษตร  ปัญหาเหล่านี้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น  

กสม. สอบปมตำรวจเรียกรับเงิน-กระทำชำเราผู้ต้องหา

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่ากสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเข้าข่ายการกระทำความ

กสม.ชี้ร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

กสม. ตรวจสอบกรณีร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย

กสม. เชื่อมีการใช้ 'สปายแวร์ เพกาซัส' เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกัน

กสม. เชื่อมีการใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกันการใช้งานในทางมิชอบ