1 ก.ย.2565 - นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 แถลงว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวินิจฉัยเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มิให้เป็นเกิน 8 ปี พร้อมกับมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีนั้น เห็นว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ สั่นคลอนลงแล้ว ทั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปีทำประเทศถอยหลังแทบทุกด้านล้มเหลวแทบทุกเรื่อง และในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของ พล.อ.ประวิตร ที่จะต้องเร่งโชว์ศักยภาพในการสร้างความยอมรับให้กับประชาชนโดยเร็วไม่เช่นนั้นก็จะพังไปทั้งประยุทธ์และประวิตร
ทั้งนี้ในสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ตนมีความคิดเห็นและข้อเรียกร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้
1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ ที่มีอำนาจเต็มแล้ว ควรใช้โอกาสนี้ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง เรื่องสินค้าราคาแพงซึ่งเรียกได้ว่าแพงทั้งแผ่นดินแล้วรวมถึงปัญหาราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า ที่ล้วนแต่สามารถลดราคาลงได้
"ขออย่าได้รีรอหรือกลัวบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ให้รีบตัดสินใจหาคนที่มีความรู้ความสามารถมาแก้วิกฤตเศรษฐกิจโดยด่วน ซึ่งอาจจะปรับครม.หาคนดีที่สังคมยอมรับเข้ามาช่วยกันแก้วิกฤตของประเทศหากรอจนศาลตัดสิน8ปีพล.อ.ประยุทธ์ แล้วเกรงว่าจะไม่ทันการณ์ เวลานี้ประชาชนเดือดร้อนกันไปทั่ว ผู้คนคาดหวังว่าการเปลี่ยนตัวจากพล.อ.ประยุทธ์ มาเป็น พล.อ.ประวิตร น่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆบ้าง แต่จนถึงวันนี้ พล.อ.ประวิตร ยังอืดอาด ไม่ได้ส่งสัญญาณในการเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งหากปล่อยไปเป็นสภาพรัฐบาลเป็ดง่อย บริหารประเทศแบบไม่บริหาร ประเทศก็จะยิ่งย่อยยับ"นายอดุลย์ กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวว่า ในขณะนี้แรงกดดันทั้งหมดไปอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร หากไม่เร่งโชว์ศักยภาพความเป็นผู้นำ อาจทำให้มีผู้นำไปเปรียบเทียบกับพล.อ.ประยุทธ์ อีก ซึ่งในระหว่างที่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจมีบริวาร ของพล.อ.ประยุทธ์ เคลื่อนไหวเอา พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาอีก ซึ่งไม่เป็นผลดี
นอกจากประเด็นปัญหาปากท้องของประชาชนแล้ว พล.อ.ประวิตร ยังต้องเร่งแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติควบคู่ไปด้วยเพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ ด้วยการนำรายงานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เคยเสนอต่อรัฐบาล มาพิจารณาดำเนินการจะเป็นทางออกคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองลงได้
2.ประชาชนและสื่อมวลชนกำลังจับตาการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ หรือจะวินิจฉัยให้เป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีได้ ซึ่งหากเป็นประการหลังก็จะเกิดคำถามว่า ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ถ้าไม่นับว่า พล.อ.ประยุทธ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ฯ เป็นอะไร เงินประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เงินค่าตอบแทนทั้งหลาย หรือรถประจำตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ฯ รับในตำแหน่งอะไร แล้วหากว่าไม่นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ฯ จึงไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินในการดำรงตำแหน่ง “สมัยที่สอง”แล้วเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจและเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเมืองจะมีความหมายอะไร
ดังนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่าน จึงควรต้องวินิจฉัยโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะประกาศใช้ แล้วท่านได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่เพิ่มอายุเกษียณจาก 70 ปีเป็น 75 ปี ทำให้ท่านดำรงตำแหน่งต่อมาได้จนถึงปัจจุบัน การที่ท่านเป็นหนึ่งในตุลาการที่ลงมติไม่สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สังคมจึงจับตามองท่านมากกว่าตุลาการท่านอื่น ว่าท่านดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้ ท่านก็อยู่ใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แล้วท่านจะวินิจฉัยเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ฯ แตกต่างไปหรือไม่อย่างไร
3.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้าใจสถานะตัวเองว่าดำรงตำแหน่งนายกฯมาครบ 8 ปีแล้ว เป็น 8 ปีที่ประชาชนคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำที่เข้ามาปฏิรูปประเทศและสร้างความสามัคคีของคนในชาติตามสัญญาประชาคม แต่กลับไม่ได้ทำตามสัญญา ประเทศชาติจึงเกิดวิกฤตรอบด้าน แล้วทำไมท่านจึงยังอยากจะดำรงตำแหน่งต่อไปจนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ ซึ่งก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากยึดอำนาจของท่านเอง ทำไมท่านจึงไม่ปฏิบัติตาม เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะท่านควรรู้ตัวด้วยตัวท่านเองว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปีแล้ว ความชอบธรรมของท่านหมดสิ้นลงแล้ว ถึงเวลาต้องลงจากอำนาจแบบสง่างาม หากยังดันทุรังฝืนเจตจำนงประชาน จะถูกกระแสต่อต้านขยายวงออกไปมากขึ้นจนจะเกิดวิกฤตทางการเมืองอีกครั้งได้
4.ประเทศชาติกำลังถึงจุดเปลี่ยนหลังจากปล่อยให้พล.อ.ประยุทธ์ฯ บริหารประเทศแบบไร้ความสามารถ ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาบ้านเมือง ประชาชนเกิดความแตกแยกทุกระดับอย่างร้าวลึกกระทบกระเทือนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกับก้าวข้าม พล.อ.ประยุทธ์ฯ แล้วช่วยกันกอบกู้วิกฤตของบ้านเมือง หากมีการสรรหานายกฯ คนใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามกติกาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่า ทุกคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขเศรษฐกิจ สร้างความสามัคคีคนในชาติ และป้องปกสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ฯ อย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน
เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง
เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.
‘พล.ร.อ.พัลลัภ’ เตือนภัย กับดักบันได 3 ขั้น พ่ายเขมรเสียดินแดน..!! I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 02 พฤศจิกายน 2567
'เทพไท' เรียกร้องนิรโทษกรรมทุกกลุ่ม รวมคดี 112 ด้วย
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "พรบ.นิรโทษกรรม:ปรองดองจริงหรือ?" ระบุว่ากรณีนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.