'กสม.'จี้สภาเร่งคลอด กม.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน

'กสม.' ออกแถลงการณ์จี้สภาผู้แทนราษฎรเร่งคลอดร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ออกมาบังคับใช้ แม้สาระสำคัญบางเรื่องถูกตัดไป

24 ส.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเร่งพิจารณาร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ออกมาใช้บังคับได้โดยเร็ว

โดยแถลงการณ์ระบุว่า กสม.ให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สมควรได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ห้ามมิให้กระทำทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม

อีกทั้งเป็นการสมควรที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม มาตั้งแต่ปี 2550 รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้

กสม. ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและวุฒิสภา เพื่อสนับสนุนและผลักดันการตรากฎหมายออกมาใช้บังคับโดยเร็ว โดยได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง สส. และ สว. และหากไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในอายุของสภาชุดนี้ ร่างกฎหมายจะต้องตกไปและจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายล่าช้า และไม่สามารถคาดหมายได้ว่าจะดำเนินการตรากฎหมายออกมาใช้บังคับได้เมื่อใด

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้มีกระบวนการ ขั้นตอน และกลไกที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ห้ามนำพฤติการณ์พิเศษใด ๆ มาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะจับและควบคุมหรือปล่อยตัวบุคคล ให้มีการบันทึกข้อมูลสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุมก่อนถูกควบคุมและก่อนปล่อยตัว ให้พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ ร่วมเป็นพนักงานสอบสวน และให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดี เป็นต้น

แม้สาระสำคัญบางประการถูกตัดออกไป เช่น ผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหายในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการห้ามนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด แต่ กสม. เห็นด้วยและสนับสนุนให้มีกฎหมายดังกล่าวออกมาใช้บังคับโดยเร็ว และขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยคำนึงถึงความเร่งด่วนในการตรากฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีประชาชนรายใดต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำทรมาน และการบังคับให้สูญหาย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงได้อีก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปลาหมอคางดำ'ต้องเป็นศูนย์ ก่อนนิเวศย่อยยับ

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย   ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553  ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน

'พิชัย' แก้เกี้ยวบอกดิจิทัลวอลเล็ตคิดตั้งแต่วันแรกไม่ใช่คิดไปทำไป

'พิชัย' ยันรัฐบาลจัดสรรเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ย้ำไม่ใช่คิดไปทำไป แต่คิดตั้งแต่วันแรกว่าต้องมีนโยบาย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ชี้หากจะแก้ปัญหาโครงสร้าง ต้องรู้ก่อนว่าทำให้ใคร

สส.เพื่อไทย ดักคอ 'ก้าวไกล' เสนอเพิ่มวันประชุมสภาฯ อย่าหวังเอาคะแนนลอยๆ

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวกรณีที่ฝ่ายค้านเสนอให้เพิ่มวันประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาพิจารณากฎหมายสำคัญให้มากขึ้นว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหารือกัน แต่หากย้อนไปดูในอดีต เราจะมีการประชุมสภาฯ