กสม.ตรวจสอบกรณีร้องเรียนอาจารย์มหาวิทยาลัยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมด้อยค่านิสิต แนะกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กำชับอาจารย์เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนิสิตนักศึกษา
18 ส.ค.2565 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสโมสรนิสิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2565 เกี่ยวเนื่องกับเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระบุว่าอาจารย์ผู้สอนรายหนึ่งใช้ถ้อยคำอันมีลักษณะส่อเสียด ดูหมิ่น เหยียดหยามในการสื่อสารกับนิสิตรายหนึ่งเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำรายงานผ่านระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งนิสิตเห็นว่าการใช้ถ้อยคำดังกล่าว ทำให้ผู้ฟังเกิดความไม่มั่นใจ เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เหมาะสมกับวุฒิภาวะ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาข้อเท็จจริง ประกอบหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น และสิทธิมนุษยชน อันหมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล
จากข้อเท็จจริง พบว่ากรณีการสื่อสารกันระหว่างผู้ถูกร้องและนิสิตมีที่มาจากการส่งรายงานของนิสิตที่ผู้ถูกร้องมอบหมายให้ทำ ผู้ถูกร้องจึงได้แสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้มีหน้าที่ตรวจรายงานเพื่อการให้คะแนน หากพิจารณาจากถ้อยคำที่สื่อสารกันถึงแม้ผู้ถูกร้องจะไม่ได้กล่าวถ้อยคำหยาบคาย แต่ผู้รับสารก็สามารถตีความได้ในสองแง่มุมทั้งในมุมบวกที่ต้องการให้นิสิตมีแรงขับเคลื่อนและมีแง่คิดในการเรียน และในอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจตีความได้ว่าอาจารย์ผู้ถูกร้องตำหนินิสิตรุนแรงและเสียดสีให้รู้สึกไม่ดีตามที่นิสิตผู้เสียหายเข้าใจ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาประกอบถ้อยคำของพยานบุคคลแล้ว ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าผู้ถูกร้องมีอุปนิสัยและลักษณะการพูดที่ค่อนข้างรุนแรง ตรงไปตรงมา และผู้ถูกร้องยืนยันว่ามีเจตนาแสดงความคิดเห็นในเชิงแนะนำ ตักเตือน หรือสั่งสอนเพื่อให้นิสิตพัฒนางานในทิศทางที่ดีขึ้นเท่านั้น ประกอบกับผู้ถูกร้องไม่เคยพบหรือรู้จักกับนิสิตมาก่อนและเป็นการส่งรายงานครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าเจตนาของผู้ถูกร้องต้องการตักเตือนว่ากล่าวให้นิสิตปรับปรุงตัว โดยไม่ได้มีอคติส่วนตน เพียงแต่ยังใช้คำพูดที่อาจไม่เหมาะสมในการสื่อสาร จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องยังไม่ถือเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของนิสิต ในชั้นนี้ จึงยังไม่ปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่า ผู้ถูกร้องในฐานะที่เป็นทั้งผู้บริหารและอาจารย์ซึ่งมีสถานะเป็นผู้มีอำนาจเหนือในความสัมพันธ์กับนิสิต ต้องระมัดระวังและตระหนักถึงการใช้ถ้อยคำแสดงความคิดเห็นหรือว่ากล่าวตักเตือนบุคคลอื่น ที่อาจเป็นการทำร้ายความรู้สึกหรือทำให้ผู้ฟังรู้สึกด้อยค่า ซึ่งเป็นการทำร้ายจิตใจทางคำพูดประเภทหนึ่ง (verbal abuse) และหากมีการกระทำแบบเดิมซ้ำ ๆ อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งรังแก (bullying) ได้ในอนาคต นอกจากนี้ หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้พูดในฐานะผู้ส่งสารก็ควรมีความตระหนักถึงการเคารพและให้เกียรติแก่ผู้ฟังหรือผู้รับสารไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในฐานะใด มิใช่มุ่งเพียงเจตนาของตนเพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นแล้วอาจเป็นข้ออ้างให้บุคคลนำมาเป็นเหตุผลในการใช้คำพูดเพื่อทำร้ายบุคคลอื่น ซึ่งอาจเป็นการเริ่มต้นของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งการดูหมิ่นเหยียดหยามโดยอ้างเจตนาที่ดี
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของผู้ถูกร้อง และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สรุปได้ ดังนี้
1.ให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัดกำชับให้ผู้ถูกร้องระมัดระวังการใช้ถ้อยคำในการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมในลักษณะเดิม อันสุ่มเสี่ยงต่อการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น รวมถึงกำชับให้บุคลากรในสังกัดระมัดระวังและตระหนักถึงการใช้ถ้อยคำในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อบุคคลอื่น นอกจากนี้จะต้องรณรงค์ให้นิสิตและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยตระหนักถึงการแสดงความคิดเห็นอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นด้วย
และ 2.ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แจ้งมหาวิทยาลัย ทุกแห่งในสังกัดกำชับบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอน ให้ระมัดระวังและตระหนักถึงการใช้ถ้อยคำแสดงความคิดเห็นอันอาจบั่นทอนหรือลดทอนคุณค่าของบุคคลอื่น รวมถึงให้มีการรณรงค์ให้บุคลากร นิสิต และนักศึกษา ตระหนักถึงการแสดงความคิดเห็นอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างจริงจัง โดยนำรายงานผลการตรวจสอบนี้ไปใช้เป็นข้อมูล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
อว.หนุนเต็มที่ ! "ศุภชัย" เปิดประชุมนานาชาติด้านชีววิทยาสังเคราะห์ SynBio Consortium 2024
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องอีเทอร์นิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี
ไปแอ่วหละปูนกันเต๊อะ ยลมหานครโคมโลก !
ประเด็น "การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทย-กัมพูชา กลับมาเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ