'ปิยบุตร' ชี้ 'รอยัลลิสต์' ที่ฉลาดหลักแหลม จะไม่ตั้งคำถามสำรวจแบบ 'ท่านใหม่'

แฟ้มภาพ

9 ส.ค.2565 - นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้

รอแยลลิสต์ที่ฉลาดหลักแหลมจะไม่ตั้งคำถามสำรวจความเห็นแบบนี้

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม จุลเจิม ยุคล ได้โพสในเพจของตนเอง มีภาพประกอบ 3 ภาพ ตั้งคำถามว่า

Democracy หรือ Monarchy

Monarchy !!! ประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ

Democracy !!! ประชาธิปไตยที่สามัญชนเป็นประมุขของประเทศ

พร้อมกับตั้งคำถามว่า “ประชาชนเลือกเอาเอง อย่างที่ 1 หรือ 2 ในฐานะเจ้าของประเทศครับ”

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นคำถามเรื่องรูปแบบรัฐ รูปแบบประมุขของรัฐ เป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ ดังที่เราเห็นในสหราชอาณาจักร และในหลายประเทศในยุโรปที่มีกษัตริย์เป็นประมุข

รัฐธรรมนูญบางประเทศไปไกลยิ่งกว่าการทำโพล มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการจัดออกเสียงประชามติในการเปลี่ยนรูปของรัฐแบบราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ไปเป็นสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขได้ เช่น สเปน และลิคเตนสไตน์

แต่การออกเสียงประชามติในประเด็นดังกล่าว จำต้องผ่านด่านหลายขั้นตอน และใช้เสียงค่อนข้างมาก

หากราชอาณาจักรไทย เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การตั้งคำถามสำรวจความเห็นประชาชนในเรื่องรูปแบบประมุขของรัฐ ย่อมทำได้อย่างเสรี บุคคลหรือคณะบุคคลผู้สำรวจความเห็นย่อมไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีในความผิดตาม ป อาญา มาตรา 112 มาตรา 113 มาตรา 116 หรือกฎหมายอื่นใด

เช่นเดียวกัน ประชาชนผู้แสดงความเห็น ย่อมใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายสามารถรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงข้อดี/ข้อเสีย โน้มน้าวให้สนับสนุนฝ่ายตนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวต่อการข่มขู่คุกคาม การกดดัน หรือคดีความใดๆ

แต่สภาพสังคมไทย ณ เวลานี้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ฝ่ายที่ต้องการเลือกแบบหนึ่ง ไม่สามารถรณรงค์ได้

แต่อีกฝ่ายที่ต้องการเลือกอีกแบบ สามารถทำได้อย่างเต็มที่

อย่าว่าแต่ไปถึงการณรงค์ในคำถามเรื่องรูปแบบประมุขของรัฐเลย เพียงแค่เยาวชนตั้งคำถามเรื่องขบวนเสด็จ เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ หรือมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบ้นกษัตริย์ ยังถูกดำเนินดคีตาม ป อาญา มาตรา 112 และถูกจับกุมคุมข้งหลายเดือนทั้งๆที่ยังไม่มีคำพิพากษา

แม้เสรีภาพในการเลือกและรณรงค์ของสองฝ่ายจะไม่เท่าเทียมกัน แต่ถึงกระนั้น ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวประชาไท พบว่าผลการสำรวจในเพจของจุลเจิมนั้น มีคนกดไลค์สนับสนุน Democracy มากกว่า Monarchy อยู่ดี

เมื่อผลสำรวจออกมาเช่นนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นถีงความเขลาในการตั้งคำถามสำรวจความเห็น

หากต้องการปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยใหม่เช่นปัจจุบัน ต้องไม่ตั้งคำถามแบบนี้

คำถามแบบนี้ ในยุคสมัยใหม่เช่นนี้ มักเกิดจากฝ่ายที่ต้องการยกเลิกสถาบันกษัตริย์มากกว่า

หากรอแยลลิสต์ที่เฉลียวฉลาดแบบพระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมขุนชัยนาทนเรนทร หรือมาถึงคึกฤทธิ์ ปราโมช มาเห็นโพสสำรวจความเห็นแบบนี้เข้า คงต้องบริภาษคนตั้งคำถามว่า “ทะลึ่ง” หรือ “ไม่รู้กาลเทศะ”

เพราะอะไร?

ก็เพราะว่า ในโลกปัจจุบัน Monarchy ที่ยืนยันให้คนเพียงคนเดียวที่สืบทอดทางสายโลหิตได้ครองอำนาจสูงสุดนั้น ไปกันไม่ได้กับยุคสมัย

ในยุคสมัยใหม่ ยุคศตวรรษที่ 21 ไม่มีคนใด ตระกูลใด มีสิทธิธรรมในการปกครอง ใช้อำนาจสาธารณะ ใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยอ้างความชอบธรรมจากสายโลหิต ต้นตระกูล หรือการเป็นลูก หลาน พี่ น้อง ของใครได้

ในยุคสมัยใหม่ ยุคศตวรรษที่ 21 เสรีภาพ เสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นแก่นสาระสำคัญที่มนุษย์ยึดถือร่วมกัน สถาบันที่ใช้อำนาจสาธารณะทั้งหลายจะดำรงอยู่ได้ จำเป็นต้องยึดถือคุณค่าเหล่านี้

ในขณะที่สถาบันกษัตริย์มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ผูกโยงกับเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ การสืบทอดตำแหน่งกันทางสายโลหิต ความไม่เสมอภาคเท่าเทียม ดังนั้นการยอมให้ครอบครัวหนึ่งมีอำนาจ มีงบประมาณ นำภาษีที่มาจากประชาชนส่งมอบให้ครอบครัวนี้ได้ใช้ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้วในยุคปัจจุบัน

พูดง่ายๆก็คือ ลักษณาการของสถาบันกษัตริย์ขัดแย้งกับคุณค่าแบบสมัยใหม่ โดยธรรมชาติ โดยตัวมันเอง

อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศยังอยู่รอดปลอดภัยในยุคสมัยนี้ได้ เพราะ ผันตัวให้เข้ากับประชาธิปไตยและคุณค่าสมัยใหม่ผ่านระบอบการปกครองที่ให้ชื่อว่า Constitutional Monarchy

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่คนจำนวนมาก คนรุ่นใหม่ ถัดๆไปอีกหลายรุ่น มีความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า เกิดกระแสเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และสถาบันกษัตริย์กำลังเผชิญกับความท้าทายแห่งยุคสมัยเช่นนี้ มีแต่รอแยลลิสต์ที่ขลาดเขลาเท่านั้นที่จะตั้งคำถามบังคับให้คนเลือกรูปแบบประมุขของรัฐ จนไม่อาจควบคุมผลสำรวจได้ดังใจต้องการ

หากเป็นรอแยลลิสต์ที่ฉลาดหลักแหลมและต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่รอดปลอดภัยในยุคนี้แล้วล่ะก็ พวกเขาจะยอมรับความเป็นจริง เพื่อนำมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง บรรดากฎเกณฑ์ทางกฎหมาย จารีตประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคุณค่าแบบสมัยใหม่… ทั้งหมดก็เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์

การปล่อยให้รอแยลลิสต์ที่ขลาดเขลาแสดงออกบ่อยๆอย่างเอะอะมะเทิ่ง อย่างไม่เท่าทันสถานการณ์ โดยไม่มีใครตักเตือน แทนที่จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ทำไปทำมา ผลที่ได้จะกลับตาลปัตรเอา

ประวัติศาสตร์สอนเอาไว้ว่า สถาบันกษัตริย์จะอยู่รอดปลอดภัยได้ในยุคสมัยนี้ ไม่มีทางเกิดจากพวกอุลตร้ารอแยลลิสต์/ไฮเปอร์รอแยลลิสต์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปิยบุตร' แนะ 'ชาญ พวงเพ็ชร์' ใช้สปิริตลาออก เหตุระบบกฎหมายตอนนี้มันลักลั่น

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) ว่า ตัวเลขออกมาแล้ว ไม่ว่าจะชนะมากหรือน้อย จะขาดหรือไม่ขาด ก็เป็นผลการเลือกตั้งที่ประชาชนตัดสินใจมา

'ปิยบุตร' ดักคอพรรคจ้องดูด สส.งูเห่า เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมนัดแรก

'ปิยบุตร' หนุน 'กกต.' เร่งประกาศรับรองผล 'เลือก สว.' ก่อนค่อยสอยทีหลัง

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงการเลือก สว.ว่า ผลที่ออกมาแปลกประหลาดมาก ซึ่งหากมีปัญหาเช่นนี้ก็ไม่สอด

'นักวิชาการ' วิเคราะห์ผลการเลือกสว.จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ มากกว่าเป็นผลเสีย

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

หัวหน้าก้าวไกล พูดเต็มปาก สว.ส่วนใหญ่เอี่ยวนักการเมือง แต่ยังไม่แน่ชัดใครฝ่ายประชาธิปไตย

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงรายชื่อ 200 สว. หลังจากการเลือกระดับประเทศวานนี้ (26 มิ.ย.) ว่า จากที่ติดตามมีข้อสังเกตว่าสว.ส่วนใหญ่อาจจะเข้าไปเชื่อมโยงกับนักการเมือง