กลุ่มประชาสังคมฯร้อง 'ชวน' ชงป.ป.ช.ฟัน 'จิราพร' อภิปรายเหมืองทองคำบิดเบือนข้อเท็จจริง

กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ บุก สภา ร้อง 'ชวน' ตรวจสอบจริยธรรม-ชงป.ป.ช.ฟัน 'จิราพร' พูดบิดเบือนข้อเท็จจริงในศึกซักฟอก ยันไทยยังไม่ได้รับความเสียหาย'ประยุทธ์'ใช้ม.44ปิดเหมืองเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐบาลไทย

22 ก.ค.2565- ที่รัฐสภา กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดย นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ รองประธานกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอให้สอบสวนจริยธรรม น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย (พท.) จากพฤติการณ์อภิปรายกรณีเรื่องเหมืองแร่ทองคำโดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในสภา เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนางวันเพ็ญ กล่าวว่า กลุ่มของตนเป็นกลุ่มประชาชนผู้ร้องในคดีเหมืองทองคำต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ดำเนินการสอบสวนกรณีบริษัทประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำโดยมิชอบด้วยกฎหมายในหลายกรณี ซึ่งคดีดังกล่าวนี้ บางส่วนก็มีการชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและมีการสั่งฟ้องไปยังศาลแล้ว บางคดีก็อยู่ระหว่างการสั่งฟ้องไปยังอัยการ และบางส่วนก็อยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งรวมทุกประเด็นแล้วมีมากกว่า 40 ประเด็น


นางวันเพ็ญ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยยุติการทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัทอัครารีซอสเซส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 โดย การใช้มาตรา 44 ตามคำสั่งที่ 72/2559 ประกอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นอำนาจโดยชอบของรัฐบาลไทยซึ่งให้สัมปทานเมื่อรัฐบาลเห็นว่าประชาชนร้องเรียนเรื่องผลกระทบ จึงใช้อำนาจโดยการระงับไม่ต่อใบอนุญาตเหมืองแร่ทองคำและโรงงานโลหะกรรมที่สิ้นอายุลงตามปรกติ เอาไว้เพื่อตรวจสอบ จนนำไปสู่การตรวจสอบตามข้อร้องเรียนพบว่าบริษัททำผิดกฏหมายหลายกรณี ซึ่งกรณีที่ว่านี้แม้ว่าประเทศไทยจะถูกดึงเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ แต่การต่อสู้ในชั้นนี้ ประเทศไทยมีจุดแข็งในการต่อสู้เนื่องจากขณะที่ใช้มาตรา 44 ประเทศไทยยังมีพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งมีมาตรา 9 ตรี กับ 9 ทวิ คุ้มครองไว้ จึงทำให้ประเทศไทยนั้นไม่เสียเปรียบทางด้านกฎหมาย เพราะว่ากฎหมายได้คุ้มครองไว้ว่าไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทเอกชน


นางวันเพ็ญ กล่าวต่อว่า การที่น.ส.จิราพร ได้หยิบเอาประเด็นเหมืองแร่ทองคำมาอภิปรายในสภาอยู่หลายครั้งรวมทั้งในวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา มีประเด็นที่บิดเบือนข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่า ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากการใช้มาตรา 44 ทั้งที่ประเทศไทยยังไม่ได้รับความเสียหายเพราะว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการยังไม่ได้มีข้อชี้ขาดและกรณีข้ออภิปรายโจมตีเพียงการใช้มาตรา 44 โดยไม่ได้หยิบยกเอาประเด็นที่ประเทศไทยนั้นใช้มติที่ชอบธรรมของ ครม. ที่กล่าวมา นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่อ้างว่าพล.อ.ประยุทธ์ วิ่งล้มเหมืองทองคำที่อยู่ในดีเอสไอ ป.ป.ช. และปปง. ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญ กลุ่มประชาสังคมที่เป็นผู้ร้องต่อคดีดังกล่าวทั้งหมดจึงเห็นว่าข้ออภิปรายนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกับรูปคดี ประกอบกับการนำเอกสารลับของอัยการสูงสุดมาอ้างตอนอภิปราย โดยมีข้อความเห็นของอัยการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี กรณีที่ว่านี้จึงเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศเนื่องจากคดีเหมืองทองคำเป็นคดีประวัติศาสตร์ของชาติและเนื่องจากประเทศไทยนั้นต้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเหมืองทองคำในกรณีขุดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 13 01 และทางสาธารณประโยชน์ มูลค่าเสียหายต่อประเทศถึง 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนี้อยู่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งนี้ทางกรมได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการไปแล้วและบริษัทอัคราฯ ก็ได้รับทราบข้อกล่าวหานี้แล้ว รวมถึงคดีนอมินีต่างชาติ สืบเนื่องจากบริษัทอัคราฯ ใช้คนไทยเป็นนอมินีในการประกอบธุรกิจทำเหมืองแร่ทองคำ


“ขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ดำเนินการส่งเรื่องไปให้กรรมการตรวจสอบประมวลจริยธรรมว่า การดำเนินการอภิปรายดังกล่าวของท่าน ส.ส. เมื่อวานนี้ และย้อนหลังไปอีกหลายครั้งที่ผ่านมานั้น ขัดต่อประมวลจริยธรรมพ.ศ.2563 ซึ่งหากพบว่าเป็นการกระทำความผิดก็ขอให้ ป.ป.ช. และขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป” นางวันเพ็ญ กล่าว

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จิราพร' รับสัปดาห์นี้ถอนใบอนุญาต 'ดิไคอน' ไม่ทัน!

'จิราพร' รับถอนใบอนุญาต 'ดิไอคอน' อาจไม่ทันสัปดาห์นี้ บอกต้องทำให้รอบคอบ ยันไม่มีธงกลั่นแกล้งใคร ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ระบุมีสิทธิเรียกมาชี้แจงได้ ไม่เว้นนักการเมือง