'ดร.เอ้' ฝาก 4 แนวทางแก้น้ำท่วมให้ผู้ว่าฯกทม. ย้ำนโยบายบ่อพักน้ำรอระบายแก้มลิงใต้ดิน

'ดร.เอ้'เป็นกำลังใจให้คนทำงานแก้น้ำท่วมกทม.รับเป็นเรื่องซับซ้อน ไม่ง่าย ฝาก4 แนวทางแก้ปัญหาให้ผู้ว่า ย้ำนโยบายบ่อพักน้ำรอระบายแก้มลิงใต้ดิน เหมือน โตเกียว กัวลาลัมเปอร์ สิงค์โปร์ เก็บน้ำท่วมจากฝนตกหนักได้

22 ก.ค.2565 - ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า

"ขอเป็นกำลังใจ ให้คนทำงาน แก้น้ำท่วม"

ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ เป็นเรื่องซับซ้อน ไม่ง่าย เป็นความทุกข์ของคนกรุงเทพ ผมเชื่อว่าผู้ว่ากทม.ทุกคน เห็นความสำคัญ และพยายามทำอย่างเต็มที่ที่สุด
ฝนตกหนัก ตั้งแต่เย็นวานนี้ จนถึงเย็นวันนี้ ทำให้น้ำระบายไม่ทัน เกิดเป็นน้ำท่วมขังรอระบายหลายแห่ง มีรถดับ รถเสียจำนวนมาก น้ำทะลักเข้าบ้านหลายหลัง เสียหายแบบสุดๆ
จากการทำนโยบาย เรื่องน้ำท่วมมาในช่วงลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ผมอยากนำเสนอข้อมูล เพื่อให้พี่ๆ น้องๆ เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นกำลังใจให้คนทำงาน เพราะเรื่องบางเรื่องต้องใช้เวลา

1. "ฝนตกหนัก รุนแรง ไม่เหมือนเดิม"
ไม่มีใครห้ามฟ้าห้ามฝนได้ เราต้องไม่โทษใคร เพียงแต่ต้องตระหนักว่าฝนวันหน้า จะหนักหนายิ่งกว่าวันนี้ เพราะอิทธิพลจากภาวะโลกร้อน พิสูจน์แล้วจากทุกทวีปทั่วโลก ฝนจะตกหนักรุนแรงขึ้น ในช่วงเวลาสั้นๆ ทุกที่จะเจอน้ำท่วมมากกว่าเดิมทุกปีๆ กรุงเทพเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่นเมื่อคืนนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
ดังนั้น การวิเคราะห์ปัญหา และการเตรียมรับมือน้ำท่วมจะต้องเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

2. "กรุงเทพพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำ ต้องปั๊มน้ำออก ไม่งั้นก็จม "
อยากให้ทุกท่านจินตนาการกรุงเทพ เป็น "แอ่งกระทะคอนกรีต” พื้นที่ส่วนใหญ่ต่ำมาก ต่ำแทบเท่ากับระดับน้ำทะเล พื้นที่ในซอยส่วนใหญ่อยู่ต่ำที่สุด จากซอยสูงขึ้นมาเป็นถนน แต่ยังต่ำกว่าคลอง และคลองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
การระบายน้ำออกจาก "แอ่งกระทะ" สู่เส้นทางน้ำธรรมชาติ อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา จึงต้องสูบน้ำ โยนต่อเป็นทอดๆ จากซอย ขึ้นมาถนน ต่อขึ้นคลอง และคลองขึ้นแม่น้ำ ก่อนไหลลงทะเลต่อไป
เครื่องปั๊มน้ำจึงเปรียบเป็น "เครื่องปั๊มหัวใจ" ของกรุงเทพ เพราะหากไม่มีการปั๊มน้ำ หรือเครื่องสูบน้ำไม่มีประสิทธิภาพ กรุงเทพก็ "จม" หัวใจหยุดเต้น
ดังนั้น การต้องมีเครื่องสูบน้ำมากพอ ทำงานอัตโนมัติสูบทันทีเมื่อน้ำท่วม มีประสิทธิภาพสูง เพื่อปั๊มน้ำท่วม ส่งน้ำขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็ว จึงเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่จะเห็นผล

3. "ลอกท่อ ลอกคลอง เพิ่มปริมาตรรับน้ำ"
ผมขอชื่นชมท่านผู้ว่ากทม. และทีมงานสำนักระบายน้ำ และเขตพื้นที่ ที่ดำเนินการลอกท่อ ลอกคลอง ในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้น้ำท่วมพอมีพื้นที่ระบาย ลดความทุกข์ชาวบ้าน ในหลายพื้นที่ ช่วยเพิ่มปริมาตรการรับน้ำท่วม เพียงแต่ว่า วันนี้ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น ในช่วงเวลาที่สั้นลง ทำให้น้ำระบายออกไม่ทัน
และพื้นที่รับน้ำในปัจจุบันก็ลดลง กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างตามการพัฒนาของเมือง ทั้งยังมีการลักลอบถมคลอง คลองหาย เส้นทางน้ำเป็นทางตัน ก็ยิ่งทำให้แย่ลงไปอีก
ผมจึงขอเสนอวิธีเพิ่มพื้นที่รับน้ำเหมือนที่ต่างประเทศที่ได้เจอปัญหาเดียวกัน ใช้แก้ปัญหาได้ซึ่งนั้นคือ

4. "บ่อพักน้ำรอระบายแก้มลิงใต้ดิน"
ผมเคยสัมภาษณ์คนญี่ปุ่น คนสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มาทำงานในกรุงเทพ ที่ต้องเจอฝนตก น้ำท่วม รถติด เหมือนเราชาวบ้านคนไทย เขาก็เล่าถึงวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมที่บ้านเขา
โตเกียว กัวลาลัมเปอร์ และสิงค์โปร์ ต้องเจอพายุฝนหนักยิ่งกว่ากรุงเทพ ระบายน้ำไม่ทันเหมือนกัน และพยายามสูบน้ำสู้ พยายามลอกคูคลอง เอาไม่อยู่ สุดท้าย เปลี่ยนวิธีการ โดยสร้าง "บ่อพักน้ำรอระบาย เป็นแก้มลิงใต้ดิน" เก็บน้ำท่วมจากฝนตกหนัก พักไว้ในบ่อใต้ดิน น้ำก็ไม่ท่วมซอย ไม่ท่วมถนน พอฝนหยุดตกถึงค่อยๆ สูบน้ำระบายออก ก็ไม่เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เห็นภาพน้ำท่วมล้นลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลายเป็นทะเล เช่นเดียวกับถนนรามคำแหง ลาดพร้าว ท่วมหนัก ลองคิดดูหากสร้าง "แก้มลิงใต้ดิน" เป็นบ่อขนาดใหญ่ใต้ลานจอดรถสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ไม่ต้องเวนคืน ไม่เสียพื้นที่ งบประมาณไม่แพง

เก็บน้ำรอระบายได้ถึงแสนลูกบาศ์กเมตร รามคำแหง ลาดพร้าว น้ำก็ไม่ท่วม และยังสามารถทำได้อีกหลายพื้นที่ ใจกลางกรุง ก็ทำได้ ทั้งจตุจักร วิภาวดี รัชดา ห้วยขวาง สุขุมวิท

ผมจึงอยากนำเสนอนโยบายนี้ ฝากให้ท่านผู้ว่าฯ และทีมงานลองพิจารณา หากเห็นว่าเป็นประโยชน์และจะช่วยแก้ปัญหาให้ชาวกรุงเทพได้ ผมยินดีสนับสนุน โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ผมอยากเห็นบ้านเมืองนี้ดีขึ้น หยุดปัญหาที่เกิดขึ้นยาวนานให้จบในรุ่นเรา และสร้างเมืองที่พร้อมต่อการเติบโตให้ลูกหลานของเราครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปราโมทย์ ไม้กลัด' ดึงสติคนกทม.-ปริมณฑล ไม่ต้องกังวลปัญหาน้ำท่วม

อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา มาตลอดจนถึงวันนี้ 8 ตุลาคม

เปิดรธน.ม.162 สอน 'อุ๊งอิ๊ง' ก่อนแถลงนโยบาย หากมีกรณีสำคัญจำเป็นเร่งด่วน ครม.สั่งการได้ทันที

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่าเตือนอุ้งอิ้ง อุ้งอิ้ง ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ว่า"ขณะนี้ยังไม่สามารถสั่งการอะไรได้ เนื่องจากยังไม่ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา"

'ชัชชาติ' ดันศูนย์ BKK Food Bank ครบ 50 เขต แบ่งปันอาหาร 2 ล้านมื้อถึงกลุ่มเปราะบาง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารอาหาร หรือศูนย์ BKK Food Bank แห่งที่ 50 โดยมี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นางสาวมธุรส เบนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตสะพานสูง

‘14สว.’ ชงตั้ง กมธ.ศึกษา หาแนวทางแก้ปัญหาภัยพิบัติ จากวิกฤตน้ำท่วม

14 สว.ชงตั้งกมธ.วิสามัญฯพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ปัญหาภัยพิบัติจากวิกฤตน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ‘หมอเปรม’ ระบุปัญหาเกิดซ้ำซากหน่วยงานรัฐไม่มีประสิทธิภาพขาดความร่วมมือ