'คำนูณ' กางข้อกฎหมายสอนรัฐบาล แนะ 'เสี่ยหนู' เร่งแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ก่อนที่จะถูกร้องผิดมาตรา 157 ในเรื่องควบคุมกัญชา
21 ก.ค.2565 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมข้อกฎหมายในหัวข้อ “เสี่ยงผิด 157 สธ.ต้องเร่งแก้ประกาศ 16 มิถุนา” ระบุว่า การควบคุมกัญชาสามารถทำได้เต็มที่ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำสภาพ ‘เสรี’ และ ‘สุญญากาศ’ หรือภาษาที่ใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านคือ Legal gab ของกัญชา เคยมีอยู่จริง แต่เป็นช่วงสั้น ๆ แค่ 8 วัน ระหว่างวันที่ 9 - 16 มิถุนายน 2565
เท่านั้น !
เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 มภาพันธ์ 2565 ที่ไม่มีชื่อกัญชาอยู่อีกต่อไป มีผลใช้บังคับในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 แต่นับจากวันที่ 17 มิถุนายน 2556 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 มีผลใช้บังคับ กัญชาก็มีสถานภาพใหม่เป็น…“สมุนไพรควบคุม”
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้สันนิษฐานได้ไม่ยากว่าเพราะพลันที่เกิดสภาพ ‘เสรี’ แบบช็อกซีเนม่า สังคมและโดยเฉพาะแพทย์และสื่อก็พูดถึงด้านลบของกัญชาเสรีกันอย่างอึงมี่ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจึงหันไปหยิบพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ขึ้นมาใช้ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. … เพื่อให้สังคมสบายใจว่าในระหว่างรอการพิจารณาร่างกฎหมายจากรัฐสภา ก็จะมีการควบคุมกัญชา และคุ้มครองเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ผ่านกฎหมายที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2542 ได้ นี่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้ากันมาก่อน
โดยที่กฎหมายฉบับนี้ที่ผ่านมามีการใช้น้อยมาก ที่ผ่านมา 23 ปีมีการประกาศ ‘สมุนไพรควบคุม’ เพียงชนิดเดียวเมื่อปี 2559 วัตถุประสงค์หลักก็ไม่ตรงกับกรณีกัญชาที่จะนำมาปรับใช้เสียทีเดียว จึงทำให้มีการตีความกฎหมายที่แตกต่างกันแม้ในแวดวงกระทรวงสาธารณสุขเอง กฎเกณฑ์ในพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีมาก และครอบคลุมแทบทุกด้าน
ขอโฟกัสเฉพาะมาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้การกระทำกิจกรรมใด ๆ แทบทุกอย่างต่อสมุนไพรควบคุมทุกชนิด (และ ‘ทุกส่วน’) ต้อง ‘ขออนุญาต’ และมี ‘ใบอนุญาต’ ก่อนจึงจะทำได้ “ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นจะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต” เน้น ๆ นะครับ “ศึกษาวิจัย” “ส่งออก” “จำหน่าย” “แปรรูปเพื่อการค้า” ครอบคลุมแทบทุกกิจกรรม
ขออนุญาตจากใคร ขั้นตอนอย่างไร อ่านมาตรา 46 มีรายละเอียดระบุไว้ในกฎกระทรวง “กฎกระทรวง การอนุญาตให้ศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า พ.ศ. 2559”
ในขั้นนี้รู้หลัก ๆ แต่เพียงว่า ผู้ใดก็ตามจะกระทำกิจการใด ๆ เกี่ยวกับกัญชา ต้องไปขออนุญาตเป็นราย ๆ จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข หรือถ้าอยู่ในต่างจังหวัดก็ไปขออนุญาตจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี ถ้าไม่ปฏิบัติตาม หมายถึงกระทำกิจการใด ๆ ไปโดยไม่ได้ไปขออนุญาตและมีใบอนุญาตก่อน มีโทษทางอาญาตามมาตรา 78 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน
จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พวกที่ตั้งแผงขาย หรือเปิดร้านขาย หรือแปรรูปมาผสมในอาหารหรือน้ำดื่ม ด้วยเชื่อว่าทำได้โดย ‘เสรี’ ในมุมมองของผม และในมุมมองล่าสุดของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น !
ข้อกำหนดที่ต้องให้ผู้ประกอบการต้อง ‘ขออนุญาต’ ตามมาตรา 46 นี้เองที่จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถกำหนดนโยบายและเงื่อนไขต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นกรอบได้
แต่ไม่ว่าจะเพราะเกรงว่าการอนุญาตเป็นราย ๆ จะสร้างความโกลาหลอลม่าน และไม่สะท้อนนโยบายปลดปล่อยกัญชาเท่าที่ควร หรือจะเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 กลับย้อนแย้งกับมาตรา 46 ข้อ 2, 3 และ 4 ที่ขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า ‘อนุญาต’ นั่นแหละ
โดยในข้อ 2 ระบุว่า… “อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ “(1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ “(2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร “(3) การจำหน่ายให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร” ข้อ 3 และ 4 เป็นเรื่อง ‘อนุญาต’ ทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล
กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงหลังจากออกประกาศว่านี่คือการออกประกาศอนุญาตให้กับบุคคลทุกคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปกระทำกิจกรรมเกี่ยวกับกัญชาได้ โดยมีข้อยกเว้น 3-4 ประการ พูดง่าย ๆ ว่าเป็น ‘อนุญาตรวม’ !
ทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนว่าตามมาตรา 46 นั้น การอนุญาตมีกฎเกณฑ์กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ใช่อำนาจ รัฐมนตรี และไม่ได้มีข้อความตรงไหนเปิดช่องให้มีการอนุญาตรวมได้ มาตรา 46 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายแม่ มีกฎหมายลูกเป็นกฎกระทรวงปี 2559 กำหนดขั้นตอนปฏิบัติในรายละเอียดไว้ชัดเจน จะใช้ประกาศกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองมา overrule กฎหมายแม่ได้หรือไม่ ? ผมเคยให้ความเห็นส่วนตัวไว้แล้วว่าทำไม่ได้ !
ในเมื่อวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เห็นว่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 46 อย่างเคร่งครัด ทั้งที่ปรากฎในเอกสารแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ย่อหน้าที่ 3 ทั้งในการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกต่อรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์เช้าวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ถึงขนาดระบุว่าจะส่งนิติกรออกไปตรวจสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการจำหน่ายกัญชาในรูปแบบต่าง ๆ กัน และดำเนินการจับกุม ทำไปเถอะครับ ผมเชื่อว่าเดินมาถูกต้องและถูกทางแล้ว โดยต้องแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามแนวทางมาตรา 46 นี้ด้วย
แต่ถ้าจะเดินแนวทางนี้ ที่ต้องไม่ลืมทำอีกอย่างหนึ่งคือ…ต้องแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 โดยเร็ว ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในข้อ 2, 3 และ 4 เสียใหม่ !
แก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นการ ‘อนุญาตรวม’ ที่ขัดต่อมาตรา 46 และไม่มีกฎหมายรองรับ
เพราะไม่อย่างนั้น ผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 46 จะมีข้อต่อสู้ได้ว่าเขาเข้าใจว่าได้รับอนุญาตรวมเป็นการทั่วไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 16 มิถุนายน 2565 ข้อ 2 แล้ว
และที่หนักไปกว่านั้น ยังเสี่ยงต่อการที่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 จะถูกกล่าวหาว่าอาจเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ แก้ไขเสียเถอะครับ
_________
พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF
กฎกระทรวง การอนุญาตให้ศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจําหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า พ.ศ. 2559
https://www.fda.moph.go.th/.../ministerial-KwaoKrua.PDF
เอกสารแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เมื่อ 19 กรกฎาคม 2565
https://www.dtam.moph.go.th/.../dtam.../dn0093-20072565.pdf
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไปอินไซด์ไทยแลนด์เมื่อ 20 กรกฎาคม 2565
https://youtu.be/coVG0LOlywU
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สว.ปฏิมา กังวลกระบวนการยุติธรรมไทยกำลังถูกสั่นคลอนหนัก!
นายปฏิมา จีระแพทย์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ปัจจุบันนี้ เราต่างทราบดีว่า การรักษาความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศคื
กกต. ยื้อ 'หมอเกศ' เลื่อนถกคุณสมบัติจบดอกเตอร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้มีการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบกรณีพ.ญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถูกร้องว่ากระทำการหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ
กระจ่าง! ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ชี้กรณีคุณสมบัติ 'สว.หมอเกศ'
“ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ กรณี สว.หมอเกศ ปริญญาเอกและตำแหน่งศาสตราจารย์ หากไม่จริง เป็นการโชว์เหนือ หลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถของตนเอง
'สว.ชิบ' เค้นรัฐบาล! ใครสั่งโยกคดี 'ดิไอคอน' ให้ดีเอสไอ หวั่นบอสรอดคุก
'สว.ชิบ' ตั้งกระทู้ถามนายกฯ ข้องใจคำสั่งจากใคร ทำให้รัฐบาลโยกคดี 'ดิ ไอคอน' ใส่มือดีเอสไอ หวั่นสรุปคดีไม่ทันเวลา เปิดโอกาสบรรดา 'บอส' รอดคุก
ชวน 'นายกฯอิ๊งค์' ลงใต้ ฟังความทุกข์ทรมานจากปาก 'เหยื่อ-ครอบครัวผู้เสียชีวิต'
'อังคณา' ชี้รัฐบาลพท.-แพทองธาร ปฏิเสธความรับผิดชอบคดีตากใบไม่ได้ ชวนนายกฯ ลงใต้ ฟังความทุกข์ทรมานจากปากเหยื่อ-ครอบครัวผู้เสียชีวิต เตือนระวังคนรู้สึกไม่เป็นธรรม อาจเข้าร่วมขบวนการก่อเหตุ