‘อดีตรองอธิการ มธ.’ ขอเคลียร์ประเด็นโพสต์วิจารณ์ อมธ. ประกาศใช้ ‘มอญดูดาว’ แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ยันไม่ได้ดุดันเกรี้ยวกราด
11 ก.ค. 2565 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความจริงควรจะจบเรื่องประกาศขององค์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กรณีเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองไปแล้ว แต่คำวิพากษ์วิจารณ์ข้อเขียนของผมที่ตามมาทำให้ต้องกลับมาเขียนเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน
ผมเขียนเรื่องนี้ 2 โพสต์ โพสต์แรกแสดงความเห็นเกี่ยวกับการประกาศของ อมธ. ที่จะใช้เพลงมอญดูดาวแทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่ อมธ. เป็นผู้จัด พูดอีกอย่างคือจะยกเลิกการใช้เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองในทุกกรณี โดยอ้างผลสำรวจที่ อมธ. เรียกว่า ประชามติ นั่นเอง
โพสต์ที่ 2 ผมเขียนวิจารณ์คำชี้แจงของมหาวิทยาลัยต่อเรื่องดังกล่าวว่า ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยจะยังคงเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองไว้ แต่ในกรณีของ อมธ. คำชี้แจงค่อนข้างคลุมเครือ
ผมไม่แน่ใจว่าผู้ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ข้อเขียนของผมได้อ่านโพสต์ของผมทั้ง 2 โพสต์หรือไม่ หรืออ่านเพียงโพสต์ที่ 2 เท่านั้น เพราะบางคนอาจเข้าใจว่า ผมกดดันมหาวิทยาลัยให้หยุดการกระทำของ อมธ. แต่ข้อเท็จจริงคือผมได้วิจารณ์ว่า วิธีการได้ข้อมูลที่ อมธ. ใช้เป็นเหตุผลของการที่ไม่ใช้เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ว่าไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประชามติ และได้ตั้งคำถามขอให้มหาวิทยาลัยวินิจฉัยว่า อมธ. มีอำนาจทำเช่นนี้ได้หรือไม่ เพราะ อมธ. เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่องค์กรอิสระ หากวินิจฉัยว่าไม่มีอำนาจ มหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างไร หากวินิจฉัยแล้วว่า เป็นเสรีภาพของ อมธ. มหาวิทยาลัยก็ควรแสดงจุดยืนของมหาวิทยาลัยเองให้ชัดเจน ว่ามหาวิทยาลัยจะยังคงใช้เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองต่อไปหรือไม่ เพราะศิษย์เก่าจำนวนมากต้องการทราบ ผมต้องการเพียงเท่านั้น
ขอยืนยันว่า แม้ผมไม่ได้เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้คัดค้านการที่ อมธ. จะใช้เพลงมอญดูดาวแทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง แต่ผมข้องใจว่า ทำไม อมธ. ต้องออกประกาศอย่างครึกโครมให้เป็นข่าวไปทั่วประเทศด้วย ซึ่งผมได้เขียนข้อความส่วนหนึ่งในโพสต์แรกไว้ดังนี้
“ความจริงหาก อมธ. จัดกิจกรรมเป็นการภายในแล้ว จะเปิดเพลงทำนองมอญดูดาวเสมือนหนึ่งเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ก็คงไม่มีใครไปจ้องจับผิด และยิ่งไม่มีใครไปขัดขวาง แต่การประกาศอย่างเป็นทางการเช่นนี้ โดยอ้างผลการสำรวจที่อ้างว่าเป็นประชามติ ซึ่งความจริงไม่ใช่ประชามติ จะแปลความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากว่า อมธ. ต้องการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับในสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่”
ส่วนที่ผมวิจารณ์ว่าคำชี้แจงของมหาวิทยาลัยค่อนข้างคลุมเครือ ก็เพราะความหมายของประกาศของ อมธ. คือ จะใช้เพลงมอญดูดาวแทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองในทุกกิจกรรมที่ อมธ. เป็นผู้จัด ซึ่งต้องถามว่าตามปกติ เราใช้เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองในโอกาสใด
คำตอบคือเกือบร้อยทั้งร้อย เราใช้เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองเพื่อเปิดงาน หรือปิดงานอย่างเป็นทางการ เราไม่ใคร่จะได้นำเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองมาเปิดในโอกาสอื่นๆ นัก เพราะเมื่อได้ยินเพลงนี้ ชาวธรรมศาสตร์ทุกคนก็มักจะต้องลุกขึ้นยืนเสมอ ดังนั้นคำตอบของมหาวิทยาลัยที่ว่า อมธ. สามารถเลือกเพลงใดก็ได้ใน 20 เพลงที่อยู่ในคำแถลง ตามโอกาสและความเหมาะสม จึงเป็นคำแถลงแบบเลี่ยงๆ ไม่ชัดเจนพอ เพราะการประกาศว่าจะใช้เพลงมอญดูดาวแทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองในทุกกิจกรรม ย่อมหมายถึงการจะไม่ใช้เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองเพื่อเปิดหรือปิดงานอีกต่อไปนั่นเอง ไม่ใช่เป็นการเลือกใช้เพลงตามโอกาสและความเหมาะสมแต่อย่างใด
และมหาวิทยาลัยก็ไม่จำเป็นต้องนำรายชื่อเพลงธรรมศาสตร์ทั้ง 20 เพลงมาแสดง เพราะแม้แต่ อมธ. ก็คงไม่นำเอาเพลงเช่น อาลัยโดม มาเป็นเพลงเพื่อเปิดหรือปิดงานอย่างแน่นอน
อนึ่ง ผมต้องขอเรียนว่า ผมได้ตัดสินใจ block ผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ที่ 2 ไป 1 คน ประการแรกเนื่องเพราะคนๆ นี้ไม่ปรากฏว่าเป็นเพื่อน fb ของผม และไม่ทราบว่าเป็นใคร เพราะไม่ได้ใช้ชื่อจริง แต่ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ น่าจะเป็นเพราะเป็นเพื่อนของเพื่อนใน fb ประการที่ 2 ความคิดเห็นของเขาแม้ไม่ใช้คำหยาบ แต่ไม่ได้เป็นความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ ตรงกันข้าม เป็นความคิดเห็นที่เสียดสี ประชดประชันมากกว่า เพราะเขาบอกให้ผมไปสมัครเป็นอธิการบดี หรือนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสียเอง ซึ่ง page ของผมเป็น page ส่วนตัว จึงเป็นสิทธิของเจ้าของ page ที่จะ block ผู้ที่แสดงความเห็นในเชิงตีรวนได้ แต่หลังจาก block ไปแล้วคนๆ นี้ยังไปเขียนโจมตีในช่องทางอื่นอีก โดยกล่าวหาว่าผมพยายามกดดันสังคม มธ. ให้แบนหรือ ยกเลิกแถลงการณ์ฉบับนี้ของ อมธ. ซึ่งหากไปอ่านโพสต์ของผมทั้ง 2 โพสต์ ก็จะเห็นว่า ไม่ได้มีข้อความเช่นนั้นเลย และยังว่าผมดุดันเกรี้ยวกราด ก็ไม่ทราบว่าดุดันเกรี้ยวกราดอย่างไร ตรงไหน
หวังว่า เรื่องนี้จะจบเพียงเท่านี้ และต้องขออภัยทุกท่านที่ครั้งนี้ผมไม่ได้ใช้เนื้อที่ใน page นี้ เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือให้ความรู้อย่างที่เคยทำเสมอมา แต่มาใช้ในการอธิบายแก้ต่างให้กับตัวเอง
หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจนะครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สิรภพ" รับรางวัล "ศิษย์เก่าผู้ทรงคุณค่าต่อสังคม"เนื่องในวันธรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ “ศิษย์เก่าผู้ทรงคุณค่าต่อสังคม” ในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปลุกรุมบี้ 'รัฐบาลอิ๊งค์' ส่งศาล รธน. ชี้ขาด 'MOU 44'
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ท่านที่ได้อ่านโพสต์ที่แล้วของผม คงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไป
'อ.หริรักษ์' สรุปข้อเท็จจริง MOU 44 ที่ทุกคนควรรู้ ทั้งเสียงคัดค้าน-ฝ่ายรัฐบาล
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง
'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
จับตา! ปม 'นักโทษเทวดา' จุดตาย 'ทักษิณ-เพื่อไทย'
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นเพราะคุณไพบูลย์ นิติตะวัน โปรโมตเรื่องหมัดเด็ดที่อาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยล่มสลายดีเกินไป