อัษฎางค์ โพสต์ ‘ที่ดินธรรมศาสตร์ ที่ดินของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่คณะราษฎร์หักคอซื้อมา’

11 ก.ค.2565-อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค เรื่อง ที่ดิน ธรรมศาสตร์ ที่ดินของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คณะราษฎร์”หักคอ”ซื้อมา ระบุว่า องค์การนักศึกษา มธ. ต้องการอะไร อยู่ๆ ก็ประกาศเรื่องนี้ทำไม ที่สำคัญ จะบอกว่า เงินซื้อที่ดิน  เป็นเงินของ อ.ปรีดี หรือ ? นี่องค์การนักศึกษา กำลังจะบอกว่า อ.ปรีดี คอรัปชั่น หรืออย่างไร เพราะก่อนทำปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง อ.ปรีดี รับราชการ ข้าราชการอะไรมีเงินมากขนาดซื้อที่ดิน ซึ่งเดิมเป็นวัง ได้หรือ ?

ความจริง ที่ดินมีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบันนั้น เดิมเป็นบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลหรือที่ประทับของพระมหาอุปราช

เมื่อเริ่มสร้างกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 1 พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของวัดสลัก หรือปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ขึ้นไปจนถึงคูเมืองหรือคลองหลอดในปัจจุบันเพื่อสร้างวังหน้า และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลอย่างประณีตที่สุด ด้วยทรงตั้งพระทัยว่าเมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคต และพระองค์จะขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแทนก็จะทรงประทับอยู่ที่นี่ต่อไป ไม่ย้ายเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง

แต่แล้วหลังจากดำรงพระยศมา 21 พรรษาก็ทรงประชวรเป็นโรคนิ่วเมื่อ พ.ศ. 2345 พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดเรื่อยมา และเสด็จสวรรคตในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 พระชนมายุ 60 พรรษา ในขณะที่ทรงประชวร ได้เสด็จประพาสพระราชมณเฑียร กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงมีกระแสรับสั่งบางอย่างที่ถูกเล่าต่อมาจนปัจจุบันและเล่าออกไปอยู่หลายทาง บางข้อมูลระบุว่าทรงบ่นว่า “ของกูนี้อุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น”

ที่เล่ากันอีกอย่างซึ่งความยิ่งกว่านี้คือทรงรับสั่งว่า “ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข”

เราลองสังเกตดูว่า มหาวิทยาลัยในเมืองไทยมีมากขนาดไหน แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยใดเลย ที่เกิดความวุ่นวายและไม่เป็นสุขอยู่เนื่องๆ เหมือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ถ้าอยากพิสูจน์ว่า คำสาบนั้นมีจริงหรือไม่ ต้องลองย้ายธรรมศาสตร์ออกจากพื้นที่ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ถ้าเหตุการณ์วุ่นวายและไม่สงบสุขหมดไปจริง ก็น่าสนใจยิ่ง

ต่อมาในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2428 และโปรดเกล้าฯ สถาปนาตำแหน่ง ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร’ ขึ้นเป็นตำแหน่งรัชทายาทสืบราชบัลลังก์

พระราชวังหน้าที่เคยโอ่อ่า จึงถูกนำมายังประโยชน์อื่นๆ ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ตัวอย่างเช่น  โปรดให้เขตวังชั้นนอกเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ วังชั้นกลางโปรดให้จัดเป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถาน ส่วนวังชั้นในซึ่งยังมีเจ้านายฝ่ายใน พระธิดาของวังหน้าพระองค์ก่อนๆ ประทับอยู่ ก็โปรดให้จัดเป็นพระราชวังต่อไป และมีเจ้าพนักงานดูแลอยู่เช่นเดิม โรงทหารรักษาพระองค์นี้ต่อมาก็เป็นของ กองพลทหารราบที่ 4 ที่มา: THE STANDARD

หลังปฏิวัติ 2475 คณะราษฎร์ยึดสมบัติเจ้า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรขึ้นมามีอำนาจการปกครองแล้วได้นำพระราชวัง พระตำหนักหลายแห่งของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เปลี่ยนมาเป็นสถานที่ราชการ หรือแม้แต่เปลี่ยนไปเป็นของตนเอง โดยวิธีไม่สุจริต เช่น ซื้อหรือเช่าในราคาถูก แล้วนำไปขายในราคาแพง

มธก.ซื้อที่ดินนั้นมาจากโรงทหารกองพลทหารราบที่ 4 ในราคา 800,000 บาท ซึ่งสุดท้ายต่อรองกันเหลือ 500,000

โดย มธก. กับ กระทรวงการคลัง ช่วยกันรับผิดชอบจำนวนเงินก่อนนี้ด้วยกัน ซึ่งก็เหมือนวังอื่นๆ ที่ถูกคณะราษฎร์ยึดหรือซื้อมาทำเป็นสถานที่ราชการ

อาจพูดแบบภาษาชาวบ้านได้ว่า หลังจากคณะราษฎร์มีอำนาจปกครอง คณะราษฎร์ ก็ใช้วิธี “หักคอ” ไม่ว่าด้วยการยึดหรือซื้อ แต่ก็คือการใช้วิธี “หักคอ”เอาวังมาทำเป็นสถานที่ราชการ ทั้งนั้น เพราะอำนาจอยู่ในมือของคณะราษฎร์ เงินของกระทรวงการคลัง ก็คือภาษีของประชาชนทั้งประเทศ

ส่วนเงินของ มธก. ที่ซื้อที่ตรงนั้นมาจาก ผลประกอบการของ มธก. อันได้แก่ ค่าเล่าเรียน (ปัจจุบันก็คือค่าหน่วยกิต) ค่าธรรมเนียม ค่าตำราเรียน และที่สำคัญ คือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งมันคือเงินจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ

หลังจากนั้น อ.ปรีดี ก็ซื้อกิจการธนาคาร Overseas Chinese Banking Corporation ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ตำบลสามแยก มาจากคนจีน ธนาคารนี้ถูกตำรวจกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งห้ามส่งเงินออกนอกประเทศ ผู้จัดการธนาคารถูกสอบสวน ในที่สุด ธนาคารนี้ก็ไม่มีความปรารถนาจะดำเนินกิจการธนาคารต่อไป

อ.ปรีดี พนมยงค์ ได้เจรจาซื้อกิจการเจ้าของเดิม ในวงเงิน 20,000 บาท และจัดตั้งเป็น ธนาคารเอเชีย มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท โดยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถือหุ้น 80% คือ 800,000 บาท กำไรจากธนาคาร ก็กลายมาเป็นเงินเลี้ยงตัวเองของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมาภายหลังก็ขายกุ้นทั้งหมดนั้นไป ที่มา: สถาบันปรีดี พนมยงค์

แต่เงินทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ อ.ปรีดี ควักกระเป๋าตนเองซื้อ แล้วยกให้ มธก. แต่มันมีที่มา ที่เริ่มต้นจาก ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียม ค่าตำราเรียน และที่สำคัญ คือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งมันคือเงินจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่เงินส่วนตัวจากกระเป๋าของ อ.ปรีดี

องค์กรนักศึกษา มธ. จะอ้างว่า ที่ดินของ มธ. ไม่ใช่ที่ดินพระราชทาน ถึงจะไม่ผิด แต่ก็คงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะความจริงยังไงก็เป็นความจริง ความจริงที่ว่า ที่ดินและอาคารหลายแห่งในบริเวณนี้ เป็นของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ซึ่งอาจารย์ไอยคุปต์ ธนบัตร นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เล่าเอาไว้ใน The Standard ว่ารัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเป็นคู่พระเชษฐา-พระอนุชาที่ร่วมรบสร้างบ้านสร้างเมืองด้วยกันมา ทรงพระราชอำนาจใกล้เคียงจนเกือบจะเท่าเทียม

“สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงกับเรียกกันว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็คือวังหลวงพระองค์หนึ่ง วังหน้าอีกพระองค์หนึ่ง หลายๆ อย่างทรงทำคู่กันมา พระชันษาก็ไล่เลี่ยกัน การแบ่งเมืองนั้น ถ้าเทียบระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ถือว่าครึ่งๆ พื้นที่วังหน้าเดิมนั้นใหญ่โตมาก กินเข้าไปในครึ่งหนึ่งของสนามหลวงตอนนี้ ธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมดก็เป็นพื้นที่ของวังหน้า และภายในวังหน้าก็มีเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน แบบเดียวกับวังหลวง”

จนมาถึงในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ที่ทรงยกเลิกวังหน้า และตั้งตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช ขึ้นมาเป็นองค์รัชทายาทแทนตำแหน่งพระมหาอุปราชวังหน้าพื้นที่วังหน้า จึงถูกใช้ในกิจการอื่นๆ ในทางราชการต่อมา รวมทั้งพื้นที่บริเวณ มธ.ในปัจจุบัน ก็คือโรงทหารรักษาพระองค์

ก่อนที่จะถูกรัฐบาลคณะราษฎร์ “หักคอ” ขอซื้อไปในราคาพิเศษ ซึ่งอาจพูดเป็นอีกอย่างได้ว่า มันคือการโอนย้ายสถานที่ราชการจากกรมทหารไปเป็นของมหาวิทยาลัย เท่านั้น ราคาที่เสนอซื้อและเสนอขายก็เป็นราคาพิเศษ เพื่อโยกย้ายหน่วยงานราชการเท่านั้นเงินที่ใช้ซื้อที่ดินจากกรมทหารก็เป็นเงินของทางราชการซึ่งสถานที่ราชการดังกล่าวนั้น เดิมคือที่ดินของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ดี

คือ”การหักคอ” เอาที่ดินของสถาบันพระมหากษัตริย์ไปใช้ โดยเจ้าของที่ดินหรือทายาทตัวจริง ไม่รู้เห็น แปลว่า ที่ดินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานมาโดยอ้อม จากวังหน้า ผ่านกรมทหาร สู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้นเอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย

เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"

เอ็ดดี้ ข้องใจปม ‘เกาะกูด’ ถาม ‘ทักษิณ’ มีข้อตกลงอะไรกับ ‘ฮุนเซน’ หรือไม่

ทักษิณ ชินวัตร ไร้น้ำยา ไม่สมราคาคุย หรือ ทักษิณ ชินวัตร มีข้อตกลงอะไรกับฮุนเซน หรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามที่ค้างคาใจประชาชนคนไทยทั้งชาติ

'อัษฎางค์' ข้องใจ ม.นเรศวร จ้างฝรั่งมาบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างไร?

อัษฎางค์ ยมนาค โพสต์เฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ระบุข้อความว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรจ้างฝรั่งมาบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างไ

สงสัย 'อเมริกา' คือจุดเริ่มต้นการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาเดือนตุลาถึงขบวนการสามกีบหรือไม่?

อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า สหรัฐอเมริกา(ผู้รักษาสันติภาพ ที่ทำลายสันติภาพ) คือจุดเริ่มต้นการชุมนุม