กสม.ประสานอัยการสูงสุดขอให้ใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องลูกจ้างหญิงที่ออกมาประท้วงกรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มาประท้วงหน้าทำเนียบฯ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564
07 ก.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ แถลงข่าวประจำสัปดาห์ ว่าตามที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยและเครือข่ายแรงงานเพื่อประชาชนได้ร้องเรียนต่อ กสม.ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ลูกจ้างหญิงของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตชุดชั้นในให้กับแบรนด์สินค้ามีชื่อเสียงยี่ห้อหนึ่ง จำนวน 300 คน ได้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐช่วยเหลือกรณีนายจ้างปิดกิจการและเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างและเงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้างจำนวน 1,388 คน ต่อมาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ร่วมชุมนุม จำนวน 6 คน ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548) ทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ชุมนุมในสถานที่เปิดโล่ง รวมทั้งไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงขอให้ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ร่วมชุมนุมทั้ง 6 คน
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิแรงงานและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวทำได้ด้วยวิธีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามหน้าที่และอำนาจ และแจ้งไปยังสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อขอให้ยุติการดำเนินคดี ซึ่งต่อมาได้รับแจ้งว่าพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการแล้วนั้น
จากการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้รับทราบว่า ผลจากการเรียกร้องและให้ความช่วยเหลือโดยองค์กรด้านสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ แบรนด์ชุดชั้นในยี่ห้อดังได้มอบเงินให้แก่บริษัทเอกชนผู้บอกเลิกจ้างแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยบริษัทเอกชนผู้บอกเลิกจ้างได้นำเงินจำนวนประมาณ 285.2 ล้านบาท ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของนายจ้างเป็นที่เรียบร้อย ประกอบกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบตามสมควรแก่กรณีแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม กสม. จึงเห็นชอบรายงานผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่า กรณีการดำเนินคดีกับผู้แทนเครือข่ายสหภาพแรงงานและประชาชนที่ร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค.รวม 6 คน ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของพนักงานอัยการ เป็นกรณีเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่ง กสม. ได้เคยมีข้อเสนอแนะเมื่อเดือน มี.ค. 2564 กรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมีรายงานผลการตรวจสอบเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 โดยมีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ดังกล่าวควรกระทำอย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็น และการดำเนินคดีกับแกนนำหรือผู้ชุมนุมอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นตามแต่ละกรณี โดยควรหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาหรือฐานความผิดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ
ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 จึงมีมติให้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอให้พิจารณาใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องในคดีอาญากรณีผู้แทนเครือข่ายสหภาพแรงงานและประชาชนที่ร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 ข้างต้น หากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2565 กสม. และสำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือกันในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เผยผลการตรวจสอบโครงการอุตสาหกรรมจะนะ ขาดการมีส่วนร่วม แนะศอ.บต. แก้ไข
กสม. เผยผลการตรวจสอบโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ระบุขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย แนะศอ.บต. แก้ไข
กสม.แนะแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินปชช. ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ
กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
'อิ๊งค์' ลางาน 1 วัน ก่อนหยุดยาวปีใหม่ ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในวันเดียวกันนี้ นายกฯได้ส่งหนังสือลากิจ 1 วันไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เรียบร้อยแล้ว
'เทพไท'แฉ 2 เป้าหมายที่วิษณุให้สัมภาษณ์ เรื่องพ่อนายกฯ เข้าคุก
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช
'ไอซ์ รักชนก' รอดศาลไม่เพิกถอนปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี 112
'ไอซ์ รักชนก' รอดศาลไม่เพิกถอนปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี 112 ระบุเป็นการแสดงความเห็นทั่วไป เเต่สั่งกำชับ ปฏิบัติตามเงื่อนไขเคร่งครัด
ตามนัด! 9 ธ.ค. ‘สนธิ-ปานเทพ’ บุกยื่นหนังสือกล่าวหารัฐบาล ปมMOU44
พรุ่งนี้ 9 ธ.ค.67 9โมงครึ่ง คุณสนธิเเละ อ.ปานเทพ จะไปยื่นหนังสือกล่าวหารัฐบาล ปม MOU 44