'อัยการธนกฤต' ชี้ กทม.เปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวได้

'อัยการธนกฤต' ชี้สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นสัญญาร่วมทุนบริการสาธารณะ เปิดได้ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เว้นแต่ส่วนกระทบความมั่นคง-ข้อมูลส่วนบุคคล

06 ก.ค.2565 - ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดโพสต์เฟซบุ๊กในประเด็นข้อกฎหมายเรื่องการเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่ากรณีการเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ทำกับเอกชนให้ประชาชนทราบ จะทำได้หรือไม่ แค่ไหน เพียงใด นั้น ผมขอให้ความเห็นทางวิชาการสำหรับข้อกฎหมายในเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว เป็นการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ผู้สนใจ ในฐานะที่ผมเป็นกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ดังนี้

บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีกรุงเทพมหานคร ถือหุ้น 99.98% โดยถือเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครที่อยู่ในอำนาจควบคุมหรือกำกับของกรุงเทพมหานคร การที่กรุงเทพมหานครจะเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ทำกับเอกชนนั้น มีข้อที่ต้องพิจารณาดังนี้

กรุงเทพมหานครเป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 4 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6) บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนด

ดังนั้น สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นสัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับเอกชน ในการจัดทำบริการสาธารณะจึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่กรุงเทพมหานครในฐานะผู้ถือหุ้นแทบจะทั้งหมดของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และมีอำนาจในการควบคุมหรือกำกับดูแล ต้องจัดให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูหรือตรวจสอบได้

นอกจากประชาชนจะสามารถเข้าตรวจดูหรือตรวจสอบสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวได้แล้ว กรุงเทพมหานครยังสามารถเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ด้วย

โดยการให้ประชาชนเข้าตรวจดูหรือตรวจสอบสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว และการเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ

เว้นแต่จะมีข้อความส่วนไหนที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 14 หรือมาตรา 15 (1) – (6) เช่น การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย เช่น ข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ. ความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 เป็นต้น กรุงเทพมหานครก็สามารถใช้ดุลยพินิจไม่เปิดเผยข้อความส่วนนั้นได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม. เฝ้าระวัง16 ชุมชน 731 ครัวเรือน รับมือน้ำล้นตลิ่ง

กรุงเทพมหานคร แจ้งการเฝ้าระวัง 13-23 ต.ค. 67 เฝ้าระวัง 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต นอกคันกั้นน้ำ ยกของขึ้นที่สูง ตรวจสอบปลั๊กไฟและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ถนนทรุด! หลุมใหญ่กว้าง 10 เมตร ปิดสะพานเกษะโกมล ซ่อมด่วน

เกิดเหตุถนนทรุดตัว บริเวณคอสะพานเกษะโกมล ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. เป็นหลุมขนาดใหญ่กว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 5 เมตร และลึก 3 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรชั่วคราว