'ไทยสร้างไทย' หนุนใช้ 'โซลาร์เซลล์' ในครัวเรือน แก้ค่าไฟแพงระยะยาว แทนการใช้ 'เตาอั้งโล่'

'หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทสท.'หนุนใช้'โซลาร์เซลล์'ในครัวเรือน แก้ค่าไฟแพงระยะยาว ช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่าย ลดก๊าซเรือนกระจก แทนการใช้เตาอั้งโล่ ให้ธนาคารภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการ

29 มิ.ย.2565- นายสุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โพสต์ข้อความ เรื่อง ส่งเสริม “โซลาร์เซลล์” ในครัวเรือน แก้ค่าไฟแพงระยะยาว ช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่าย ลดก๊าซเรือนกระจก แทนการใช้เตาอังโล่ มีเนื้อหาดังนี้

ผมได้ติดตามเหตุการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ด้วยความเป็นห่วงเป็นใบพี่น้องประชาชน ผมขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งแบบการแก้ปัญหาในระยะสั้น และการแก้ปัญหาระยะยาว ดังนี้ครับ

ประการแรก ผมเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง หากเราใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องของพลังงานแดดที่แรงและดึงมาเป็นพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ก็จะเกิดประโยชน์ได้มาก ซึ่งรัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดโซลาร์เซลล์ตามบ้านเรือนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของพลังงานได้ในระยะยาว และหากมีไฟฟ้าเหลือแล้ว ก็สามารถนำไปขายต่อให้กับภาครัฐได้ เพื่อให้กลับคืนเป็นรายได้เข้าสู่ภาคครัวเรือน แต่ปัจจุบันก็ยังเห็นว่าภาครัฐยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนขายไฟคืนรัฐได้

และที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมเรื่องดังกล่าว คือการที่รัฐจะต้องเข้ามาช่วยในขั้นตอนที่สำคัญ คือด้านค่าใช้จ่ายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการให้เงินกู้กับประชาชน โดยให้ธนาคารภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการนี้ด้วย

ปัจจุบันภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมพลังงานอยู่แล้ว อีกทั้งยังต้องชดเชยพลังงานที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่องและคาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานในด้านอื่นๆ ก็จะปรับตัวขึ้นเช่นกัน

เราอยู่ในสภาวะที่ทั่วโลกตื่นตัวกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) พลังงานสะอาดจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ ขณะนี้สถานการณ์สงครามร่วมทั้งวิกฤติด้านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งพลังงานไฟฟ้าครัวเรือนที่ต้องรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันธุรกิจ Solar-Corporate PPA ก็เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ หากได้รับการสนับสนุน จากนโยบายภาครัฐทั้งด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการลงทุน โดยผู้ประกอบการเป็นผู้ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้แก่ผู้ว่าจ้างหรือผู้ใช้ไฟฟ้าก่อน แล้วจึงเรียกเก็บค่าไฟฟ้าภายหลังซึ่งมักต่ำกว่าอัตราค่าไฟที่ซื้อจากภาครัฐ ธุรกิจ Solar-Corporate PPA มีแนวโน้มเติบโตตามกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,541 พันเมกะวัตต์ ในปี 2593 จากปี 2563 อยู่ที่ 714 พันเมกะวัตต์ หรือขยายตัวสูงถึง 12 เท่า สำหรับในไทย ธุรกิจนี้จึงมีโอกาสเติบโตตามความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม

หากรัฐใช้ทั้ง 4 เรื่องนี้ เปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาสจะแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานได้ระยะยาว และในขณะเดียวกันจะเตรียมรับการขาดแคลนพลังงานได้ในอนาคตอีกด้วย

จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐควรทำ

รัฐควรออกมาตรการระยะยาว ทั้งเรื่องการส่งเสริมโซลาร์ และต้องใช้เงินที่มีอยู่ของภาครัฐควบคุมราคาพลังงานต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับชาวบ้าน และที่สำคัญคือ รัฐเองจะต้องหาแหล่งพลังงานเสริมเข้ามาช่วยให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานฟอสซิล หรือพลังงานแก๊ส รวมถึงพลังงานอื่นๆ ซึ่งจะต้องมาดูว่าพลังงานต่างๆที่เคยมีอยู่ในอ่าวไทยนั้น จำเป็นที่ต้องทำการขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมใหม่หรือไม่

อีกประเด็นสำคัญ คือการที่ภาครัฐจะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับผู้ที่ผลิตน้ำมันได้เยอะ อาทิเช่น กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อให้ไทยมีแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ประกอบกับการที่รัฐเองต้องมีการสำรองพลังงานในประเทศไว้สูงระดับหนึ่ง เพื่อชดเชยในยามที่สถานการณ์ด้านพลังงานมีปัญหา แต่ในวันนี้หากมองไปดูพลังงานสำรองที่มีอยู่ในประเทศก็พบว่ามีน้อยมากซึ่งนั่นอาจทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤติของพลังงานได้ง่าย

*วิกฤตพลังงานกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต และส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเงินในกระเป๋าของทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนที่มีสัดส่วนของรายจ่ายด้านอาหารและพลังงานสูงกว่าคนไทยโดยเฉลี่ย หากรัฐแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้คนไทยพ้นจากหลุมดำหลุมใหญ่นี้ ช่วยให้คนตัวเล็กกลับฟื้นขึ้นมามีกำลังที่จะเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจไทยร่วมกันได้อีกครั้งครับ*

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สยามเทคโนโพล' เผย คนไทยส่วนใหญ่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เหตุช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับ อาจารย์วงศกร อยู่มาก หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และ ดร.ธนเสฏฐ์ อัคคัญญ์ภูดิส อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล เปิดเผย ผลสำรวจเรื่อง ประชาชนสนใจโซลาร์เซลล์