กรมอุตุฯ เตือน 30 มิ.ย.-2 ก.ค.เจอดีเปรสชันถล่ม

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนไทยเตรียมเจอผลกระทบดีเปรสชัน ช่วง 30 มิ.ย.-2 ก.ค. หลายจังหวัดเจอฝนกระหน่ำและถล่ม ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

29 มิ.ย.2565 - น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง "พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2565)" ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2565 มีเนื้อหาว่า

เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (29 มิ.ย. 65) หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ ละติจูด 15.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนืออย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 2–3 ก.ค. 65

ประกอบกับในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. – 2 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่อาจเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 30 มิถุนายน 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร
ภาคตะวันออก: จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลกและเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

วันที่ 2 กรกฎาคม 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้:จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 17.00 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 11 เตือน 'พายุฤดูร้อน' ถล่มถึง 1 เม.ย.

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบบางพื้นที่จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2568) ฉบับที่ 11 โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนร้อนถึงร้อนจัด พายุฝนฟ้าคะนองถล่ม 38 จังหวัด ลมแรงลูกเห็บตก

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง

พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า ก่อนสงกรานต์ ยังร้อนสลับฝน

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 28 มี.ค. - 11 เม.ย. 68

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 5 เตือน 'พายุฤดูร้อน' ถล่ม 28 จังหวัด

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2568) ฉบับที่ 5