1 พ.ย.2564 - ศาลอาญา อ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลหมายเลขดำ ล.ศ.6/2564 ที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา น.ส.เบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหา
กรณีเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ชวนกันมาทำกิจกรรมยื่นจดหมายพร้อมทั้งยืนอ่านกลอนตุลาการภิวัติ ที่ศาลอาญา โดยมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามา บริเวณศาล รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาล ซึ่งมีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนข้อความ ปล่อยเพื่อนเรา โดยระหว่างที่มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งร่วมในกลุ่มได้วิ่งผ่านแนวรั้วแผงเหล็กที่กั้นอยู่หน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญา พร้อมโปรยแผ่นกระดาษและพยายามหลบหลีกเจ้าหน้าที่ศาลอาญา โดยขณะวิ่งและยังตะโกนสรุปข้อความว่า "ตุลาการเช่นนี้ อย่ามีเลย" และพูดผ่านเครื่องขยายเสียงข้อความอื่นด้วย
ศาลพิเคราะห์แล้ว แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34, 44 ได้บัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างก็ตาม แต่บทบัญญัติทั้งสองดังกล่าวยังได้บัญญัติอีกว่าสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะต้องถูกจำกัดโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ ฯ ยังได้บัญญัติถึงหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในมาตรา 50 (3) ว่าบุคคลต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และมาตรา 50 (6) บัญญัติว่าบุคคลมีหน้าที่เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะบุคคลอันเป็นหนึ่งในปวงชนชาวไทย ย่อมต้องปฏิบัติ "หน้าที่" ควบคู่ไปกับการใช้สิทธิและเสรีภาพด้วย หาใช่จะใช้เฉพาะสิทธิและเสรีภาพเท่านั้นไม่ ข้อกำหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ.2564 ถูกกำหนดมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นมิให้ถูกล่วงล่วงละเมิดโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อันเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญฯ รองรับไว้ ซึ่งข้อกำหนดศาลอาญา ฯ ข้อ 1 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนใช้คำพูดหรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรําคาญ ส่งเสียงดัง หรือในทางประวิงให้การดำเนินกระบวนพิจารณาชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือกระทำในลักษณะที่เป็นการยั่วยุจูงใจสนับสนุนใด ๆ ในการกระทำดังกล่าวในห้องพิจารณาหรือภายในบริเวณศาลอาญา รวมถึงการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ... ฯลฯ ข้อ 6 ห้ามมิให้นำหรือใช้โทรโข่งไมโครโฟนเครื่องขยายเสียง รวมถึงอุปกรณ์ขยายเสียงต่าง ๆ หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันภายในศาลอาญา หรือบริเวณรอบศาลอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามข้อกำหนดของศาลอาญา ฯ
เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวน ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหากับพวกประมาณ 300 คนได้พากันเข้ามาบริเวณอาคารศาลอาญาแล้วกล่าวถ้อยคำโดยใช้อุปกรณ์ขยายเสียงรวมถึงตะโกนและวิ่งโปรยกระดาษ อันมีลักษณะส่งเสียงดังก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญ อีกทั้งถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวและอ่านบทกลอนที่มีเนื้อหาที่ประณามใส่ร้ายและดูหมิ่นต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ อันมีลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 50 (3)(6) และเป็นการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญาข้อ 1 และข้อ 6 อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา อ้างถึงการการอดอาหารและความเจ็บป่วยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ก็ดีอ้างถึงเพื่อนของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นจำเลยซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ดี อ้างว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ ที่อาจกระทำโดยไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมก็ดี อ้างว่าศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวนายพริษฐ์กับพวกอย่างไม่เป็นธรรมและแตกต่างกับกรณีที่ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีของกลุ่ม กปปส. ก็ดีล้วนเป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้ถูกกล่าวหาเองทั้งสิ้นโดยขาดฐานความรู้และความเข้าใจในข้อกฎหมายอันเป็นหลักสากลที่ใช้กันในนานาอารยประเทศ อีกทั้งข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวนี้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถเรียกร้องขอความชอบธรรมได้ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ด้วยวิธีการที่ผู้เจริญหรือผู้มีอารยะปฏิบัติกัน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญา ข้อต่อสู้ทั้งหมดของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น
จึงมีคำสั่งว่า น.ส.เบนจา ผู้ถูกกล่าวหา มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 30, 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 15, 180 ให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 6 เดือน
แม้ผู้ถูกกล่าวหา ให้การรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำการตามคำกล่าวหาก็ตาม แต่กลับต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้สำนึกถึงการกระทำ ประกอบกับคำรับของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นไปในทางจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด คำรับข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาอันจะเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จึงไม่ลดโทษให้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ชัยธวัช-ปชน.' ผิดหวังสภาคว่ำข้อสังเกตกมธ.นิรโทษฯ สะท้อนรัฐบาลขาดเอกภาพ
ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม นำโดย นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ นายชัย
ดร.ณัฏฐ์ เตือนนิรโทษกรรมเหมาเข่ง 112 สารตั้งต้นล่มสลายรัฐบาลแพทองธาร!
สืบเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เข้าสู่วาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เพื่อ
'พิเชษฐ์' สั่งปิดประชุมสภาฯกะทันหัน เลื่อนโหวตรายงานกมธ.นิรโทษฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่สส.อภิปรายแสดงความคิดเห็นครบทุกพรรคแล้ว นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม กล่าวสรุปว่าเนื่องจากรายงานของ
พร้อมสู้ ‘ธนกร’ ขวางแก้112 ‘นันทิวัฒน์’ เชื่อหยุดที่คุก!
ไม่ลดเพดานเจอกันแน่! "ธนกร" ลั่นหากพรรคประชาชนยังคิดแก้ ม.112 อีก
พิสูจน์ชัด! สายพันธุ์ 2475 ทำงานพัฒนาประเทศไม่เป็น นอกจากแก้มาตรา 112
นายเถกิง สมทรัพย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ในที่สุด…สายพันธุ์ 2475 ก็พิสูจน์ว่า ทำงานพัฒนาประเทศอะไรไม่เป็น
อดีตบิ๊กข่าวกรอง เตือนถ้าไม่ลดเพดานแก้ 112 ก็ไปให้สุดแต่หยุดที่คุก!
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า แปะยี่ห้อใหม่