'พนิต' ตั้งคำถามยื้อเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างชาติ ทำประเทศเสียรายได้ - โอกาส

14 มิ.ย. 2565 – นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้
ยื้อเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างชาติ ทำประเทศสูญเสียรายได้-โอกาส

จากโพสต์ครั้งก่อน ที่ได้กล่าวถึงรายได้จำนวนมหาศาลที่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติได้จากกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย แต่เรากลับเก็บภาษี E-Service ได้เพียงน้อยนิด จากภาษีมูลค่าเพิ่ม มิหนำซ้ำยังไปเรียกเก็บจากผู้ประกอบการในประเทศ หรือกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนใช่หรือไม่

เรื่องนี้ กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลโดยตรง ต้องมีแนวทางหรือรูปแบบการเก็บภาษีให้ชัดเจน ไม่ให้ประชาชนต้องแบกภาระตรงนี้ แต่เราต้องการเก็บจากเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศ

นอกจากนี้ ในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล ถือเป็นรายได้สำคัญของประเทศ แต่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติเหล่านี้พยายามอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายหลีกเลี่ยง หรือจ่ายน้อยที่สุดโดยการไปเสียภาษีในประเทศที่เสียภาษีในอัตราที่ต่ำใช่หรือไม่

สำหรับเรื่องการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ ผมทราบว่า กรมสรรพากร ได้เคยหารือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ร่วมกับ 139 ประเทศทั่วโลก เพื่อเดินหน้ามาตรการป้องกันการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายหวังหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ โดยมี 2 แนวทาง

แนวทางแรกคือบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อปี มีกำไรในส่วนที่เกิน 10% จะต้องปันกำไรมาเป็นรายได้ในอัตรา 25% ให้กับประเทศผู้ใช้บริการ โดยกรมสรรพากรจะเริ่มจัดเก็บได้ภายในปี 2567

ส่วนอีกแนวทางคือ มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่หลบเลี่ยงภาษีโดยถ่ายโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ จะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจนเสียอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15%

เช่น บริษัทหนึ่งตั้งบริษัทในประเทศที่เก็บภาษี5 %แต่ให้บริการประเทศที่เก็บภาษี15 % ดังนั้นสรรพากรของประเทศที่เก็บภาษี 15 %สามารถเรียกเก็บภาษี เติมจากบริษัทดังกล่าว อีกร้อยละ 10% โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2566 เช่นกัน

คำถามคือเหตุใดเราต้องรอถึงปี 2566 และ 2567 ในเมื่อกรมสรรพากรได้มีการศึกษาเรื่องนี้เอาไว้หมดแล้ว ทำไมกระทรวงการคลังจึงไม่รีบจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศในยามวิกฤติเช่นนี้ได้ แต่กลับปล่อยเวลาให้สูญเปล่า ทำให้เราสูญเสียโอกาสและรายได้จำนวนมหาศาลหรือไม่

น่าแปลกใจเรามีกฎหมายภาษี E-Service แต่ไม่สามารถนำมาช่วยประเทศหรือช่วยประชาชนได้เท่าที่ควร ตลกร้าย การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกลายเป็นเพิ่มภาระให้ประชาชนต้องแบกรับเสียอีกใช่หรือไม่ ในขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลเรายังไม่ได้เริ่มบังคับใช้เสียที สรุปแล้วคุณรออะไร?

ในขณะที่ค่าไฟฟ้าขึ้น ราคาน้ำมันขึ้นโดยไม่มีวี่แววลดลง แถมยังราคาแพงซ้ำเติมวิกฤติปากท้องของประชาชน

ผมคิดว่า กระทรวงการคลัง โดยรัฐบาลต้องมีมาตรการที่ชัดเจน และในฐานะ ส.ส. ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และอยู่ใน คณะกรรมาธิการ การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร จะเสนอให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยจะเชิญกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มาชี้แจงในโอกาสที่เหมาะสม ว่าทำไมเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องรอถึงปี 2566-2567 ติดขัดเรื่องอะไร ทำไมจึงไม่ดำเนินการโดยเร็ว และอีกหลายๆเรื่อง ซึ่งจะต้องมีคำตอบให้แก่ประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาญชัย เผยหลักฐาน ดอนเมืองโทลเวย์ ทำผิดสัญญา ขึ้นค่าผ่านทางไม่ได้

ชาญชัย เผยหลักฐาน ดอนเมืองโทลเวย์ ทำผิดสัญญาตั้งแต่ปี 54 จะขึ้นค่าผ่านทางไม่ได้ เตรียมฟ้องศาลเอาผิดให้เป็นคดีตัวอย่าง 

นิด้าโพล เผยผลสำรวจ คนใต้ 41% บอกไม่เลือก ปชป. แล้ว

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “เสียงพี่น้องชาวใต้ถึงพรรคประชาธิปัตย์ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2567

ออกอาการ! ชัยชนะสอนมารยาท 'ก่อแก้ว' อย่าวิจารณ์บุคคลข้ามพรรค

'ชัยชนะ' โดดป้อง 'ชวน-จุรินทร์-บัญญัติ' บอกเป็นไม้บรรทัดเหล็กเที่ยงตรง สอนมารยาท 'ก่อแก้ว' ให้ศึกษาก่อนวิจารณ์ บอกการกระทำอยู่เหนือคำพูด