ปฏิรูปแบบลูบเบาๆ 'คำนูณ' ชำแหละร่างพรบ.ตำรวจ เปิด 8 ข้อเด่นเล็ก กับ 1 ข้อด้อยใหญ่

4 มิ.ย.2565 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ปฏิ(รูป)ลูบเบา ๆ ? เปิด 8 ข้อเด่นเล็ก 1 ข้อด้อยใหญ่ ร่างกม.ตำรวจฉบับกมธ.เสียงข้างมาก รัฐสภาตัดสิน 9-10 มิ.ย.นี้

กัลยาณมิตรถามกันเข้ามาพอสมควรว่าร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯฉบับที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการรัฐสภา โอเคมั้ย ดีมั้ย หรือปฏิรูปได้จริงมั้ย เพราะเห็นผมขลุกอยู่กับเรื่องนี้มาใกล้จะ 5 ปีรอมร่อแล้ว ทั้งแถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ โพสต์บอกกล่าวเล่าเรื่อง ณ พื้นที่นี้ รวมทั้งอภิปรายในสภาต่างกรรมต่างวาระมาเกิน 100 ครั้งแล้วกระมัง หนักบ้างเบาบ้าง ในเมื่อร่างฯจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2, 3 ในรัฐสภา 9-10 มิถุนายน 2565 นี้แล้ว ขอ ‘คำตอบสุดท้าย’ หน่อยเถอะ

คิดอย่างรอบคอบบนพื้นฐานความเป็นจริงแล้วขอฟันธงว่า สมควรลงมติ ‘ให้ผ่าน’ วาระ 3 ออกมาบังคับใช้ครับ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่มี ‘ข้อดี’ มากพอสมควร ขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่างสัก 8 ประเด็น จะเรียกว่า 8 ข้อเด่นก็พอได้…

หนึ่ง - เพิ่มความเป็นธรรมให้ประชาชน
ยกระดับความเป็นธรรมให้กับประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องหรือผิดพลาดของตำรวจ โดยสร้างกรรมการชุดใหม่ชื่อ ‘ก.ร.ตร.’ (คณะกรรมการพิจารณาเริ่องร้องเรียนตำรวจ) ที่มีผู้แทนหน่วยงานภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาตัดสินแทนที่สำนักงานจเรตำรวจที่เป็นเพียงหน่วยงานภายใน ประชาชนจะมีส่วนร่วมจับตาการทำงานของตำรวจให้อยู่ในกรอบกฎหมายและความเหมาะสมเสมือนเป็น ‘ตาวิเศษ’ พบเห็นความผิดปกติใดแจ้งไปที่ ก.ร.ตร. ได้
(มาตรา 35 - 45)

สอง - เพิ่มความเป็นธรรมให้ตำรวจ
ยกระดับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายให้กับตำรวจทุกระดับ โดยสร้างกรรมการใหม่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งชื่อ ‘ก.พ.ค.ตร.’ (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ) ที่มีผู้แทนหน่วยงานภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาด เสมือนเป็นศาลปกครองชั้นต้น โดยเป็นการทำหน้าที่แทน ก.ตร. ที่เป็นคณะกรรมการบริหารภายใน
(มาตรา 25 - 34)

สาม - ป้องกันการครอบงำจากการเมือง
คณะกรรมการบริหารสูงสุดของตำรวจคือ ก.ตร. (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ที่มีอำนาจบริหารงานภายในรวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย แม้จะยังคงให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานอยู่ แต่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากออกแบบองค์ประกอบใหม่เพื่อให้สามารถป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองได้ในระดับสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้มีเสียงข้างมากใน ก.ตร. ผ่านทางข้าราชการที่เป็นตัวแทนหน่วยงานภายนอก ในทางกลับกัน เสียงข้างมากใน ก.ตร. ตามองค์ประกอบที่ออกแบบใหม่คือตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่มาโดยตำแหน่งและอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่มาจากการเลือกตั้งของตำรวจทั้งองค์กร ในประเด็นนี้ จะมี ก.ต.ช. (คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ) ที่ทำหน้าที่ด้านนโยบายอย่างเดียว ด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลโหวตในวาระ 2 (มาตรา 13 - 24)

สี่ - ให้สิทธิตำรวจทุกระดับ
ให้ข้าราชการตำรวจทุกระดับตั้งแต่ผบ.หมู่ขึ้นไปเลือกตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร. ลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) เข้ามาเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเพื่อเป็นหลักประกันความสุจริตยุติธรรม (มาตรา 18)

ห้า - ป้องกันการวิ่งเต้น/ซื้อขายตำแหน่ง
กำหนดเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายไว้ในกฎหมายหลักมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และปรับปรุงแก้ไขจากร่างฯที่ผ่านวาระ 1 มาให้ตรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (4) ว่าด้วยการพิจารณาประกอบกันระหว่างอาวุโสและความรู้ความสามารถ แต่น่าเสียดายที่กรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติตัดเกณฑ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นออกจากบทหลักไปอยู่ในบทเฉพาะกาลใช้บังคับเพียง 5 ปีเท่านั้น และในบทหลักกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขให้การกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นนี้เป็นอำนาจของ ก.ตร. ออกเป็น ‘กฎ ก.ตร.’ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า และก็ได้เคยมีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วในอดีตจนเกิดศัพท์แสลงเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ขอบมาพากลว่า ‘ต่อยอดทอดสะพาน’ และ ‘ชักบันไดหนี’ ที่ทำให้นายตำรวจบางคนได้ประโยชน์ (มาตรา 69, 70, 71, 72, 73, 74, 75, 76, 77, 80, 82, 83, 84 และมาตรา 169/1)

หก - ให้ประชาชนร่วมประเมินตำรวจ
กำหนดให้นำผลการประเมินความพึงพอใจที่ประชาชนได้รับจากตำรวจมาประกอบการพิจารณาประกอบการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย แต่ข้ออ่อนในจุดเด่นนี้คือไม่มีรายละเอียดระบุไว้ชัดเจนว่าทำอย่างไร (มาตรา 74 วรรคสอง)

เจ็ด - ห้ามยกเว้นกฎเกณฑ์ในทุกกรณี
ปรับปรุงแก้ไขจากร่างฯที่ผ่านวาระ 1 โดยตัดบทบัญญัติที่เปิดช่องให้มีข้อยกเว้นทุกกรณีในการจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่กำหนดไว้ในกฎหมายหลัก (มาตรา 69 วรรคสาม และ 80 วรรคสอง)

แปด - ให้เหลือแต่งานตำรวจแท้
กำหนดให้โอนย้ายงานที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้คือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออกไปให้หน่วยงานอื่นอย่างมีขั้นตอน แม้ขั้นตอนออกจะยาวไปสักหน่อย (มาตรา 155 - 160)

ในทั้ง 8 ประเด็นที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ บางประเด็นไม่มีความเห็นแตกต่างกันระหว่างกรรมาธิการเสียงข้างมากกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อยผู้สงวนความเห็นและสมาชิกผู้สงวนคำแปรญัตติ แต่ก็มีบางประเด็นที่มีความเห็นต่าง ต้องอภิปรายและลงมติกันในที่ประชุม ผลการลงมติในบางประเด็นอาจมีผลลดทอนหรือเปลี่ยนแปลงความเป็นข้อเด่นบางประเด็นได้เช่นกัน

หากจะถามว่าเป็น ‘การปฏิรูปตำรวจ’ ในความหมายที่แท้จริงได้จริงหรือไม่ ? ไม่อาจตอบเต็มปากเต็มคำว่า ‘ใช่’ ! และเท่าที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างนี้จะกลายเป็น ‘8 ข้อเด่นเล็ก’ ไปทันทีเมื่อเทียบกับ 1 ข้อด้อยที่ปรากฎให้เห็น เพราะต้องไม่ลืมว่า ‘หัวใจสำคัญ’ ของการปฏิรูปตำรวจ รวมถึงการปฏิรูปกระกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นก่อนถึงศาลที่ประชาชนคาดหวัง และจะได้รับประโยชน์แท้จริง จับต้องได้ โดยมีอุทธาหรณ์จากคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ นอกเหนือจากหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่โปร่งใสเป็นธรรมขจัดการวิ่งเต้นและการซื้อขายตำแหน่งได้แล้ว ยังคือประเด็นเกี่ยวกับ ‘ระบบการสอบสวน’ ทั้งหมด อันเปรียบเสมือนเป็นกระดุมเม็ดแรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ร่างกฎหมายตำรวจฯใหม่ฉบับนี้ยังแตะ ‘ระบบการสอบสวน’ น้อยไป !

ด้านหนึ่ง - ในตัวร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯ สายงานสอบสวนยังคงไม่เป็นอิสระชัดเจนในการทำสำนวนคดีถึงขั้นมีผู้บังคับบัญชาเฉพาะของสายงานตัวเองในทุกระดับชั้น เหมือนที่เคยปรากฎในร่างฯของคณะกรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์

อีกด้านหนึ่ง - ร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาอันเป็น ‘กฎหมายคู่’ หรือ ‘กฎหมายพวง’ ที่เปิดโอกาสให้อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนกับตำรวจได้ตั้งแต่ต้นในคดีสำคัญ รัฐบาลยังไม่ได้ส่งเข้ามาให้รัฐสภาพิจารณา โดยให้เหตุผลล่าสุดเมื่อปลายปี 2564 ทำนองว่า “ชะลอ” ไว้ก่อนเพื่อให้ “สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯ…”

แต่โดยความเป็นจริงที่รัฐบาลไม่ได้บอกคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นหน่วยปฏิบัติคัดค้านเสียงแข็ง และรัฐบาลในฐานะฝ่ายนโยบายไม่ได้บอกประชาชนว่าตัดสินใจอย่างใรในประเด็นสำคัญที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้

ทั้งนี้ เมื่อดูตามระยะเวลาแล้วก็น่าจะไม่มีการส่งร่างฯเข้ามาจนสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะส่ง รัฐบาลก็สามารถส่งเข้ามาคู่กันกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯฉบับนี้ได้ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2564 เพื่อให้รัฐสภาตัดสินในวาระ 1 ว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบการสอบสวนคดีอาญาใหญ่กันหรือไม่ ถ้าโอเค ก็ลงมติรับหลักการในวาระ 1 แล้วให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดเดียวกันกับที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯฉบับนี้เพื่อให้มีความสอดคล้องต้องกัน

แต่รัฐบาลไม่เลือกวิธีนี้ ไม่เพียงเท่านั้น พอคณะกรรมาธิการมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯฉบับเดียว กรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีมติตัดคำว่า “…และกฎหมายอื่น” ที่อยู่ต่อท้ายคำว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ออกจากมาตรา 6 (2) ที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แม้ว่าจะไม่ได้ตัดทางการมีพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาในอนาคตเพราะยังมีความในอนุมาตราอื่นรองรับไว้ แต่ก็ทำให้ชวนคิดไปได้ว่าหรือนี่อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ความสอดคล้อง” ที่ “ชะลอ” ร่างฯไว้ก่อน หรือพูดง่าย ๆ ว่ามติของกรรมาธิการเสียงข้างมากนี้ชวนให้เกิดข้อสงสัยว่าจะเป็นการไปเจือสมเป็นเหตุผลข้ออ้างให้รัฐบาลไม่เสนอร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาฯเข้ามาสู่การพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่

ทั้ง 2 ด้านนี้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบคดีบอส อยู่วิทยาชุดท่านอาจารย์วิชา มหาคุณที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นเพื่อกู้หน้ากระบวนการยุติธรรมไทย สนับสนุนเต็มที่ผ่านข้อเสนอสุดท้ายที่มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563

นี่คือ 1 ข้อด้อยที่ขอยกมาเป็นตัวอย่าง เป็น ‘1 ข้อด้อยใหญ่’ แน่นอน

ก่อนจบเรื่องเล่าเบา ๆ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯ ผมตัดสินใจนาทีสุดท้ายเติมข้อความในย่อหน้านี้ พร้อมปรับหัวเรื่องและแก้ไขภาพอินโฟกราฟฟิคบรรทัดที่ 2 เป็น “เปิด 8 ข้อเด่นเล็ก 1 (+1) ข้อด้อยใหญ่” เพราะในข้อเด่นที่ 5 ผมติดใจที่ตัดเกณฑ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นออกไปจากบทหลักมาตรา 69 แล้วไปเพิ่มไว้ในบทเฉะาะกาลมาตรา 169/1 ให้ใช้บังคับเพียง 5 ปี โดยไปแก้ไขเพิ่มเติมบทหลักที่มาตรา 80 วรรคแรกให้ ก.ตร. ออก ‘กฎ ก.ตร.’ เกี่ยวกับการนี้แทน ทั้ง ๆ ที่เกณฑ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นนี้เป็น ‘หัวใจพื้นฐาน’ จุดเริ่มนับ 1 ของการกำหนดกฎเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายทั้งปวงที่ควรจะต้องกำหนดไว้ในกฎหมายหลักบทหลักเพื่อให้แก้ไขได้ยากกว่าการไปกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรอง แม้กรรมาธิการเสียงข้างมากจะยังคงกำหนดไว้ในกฎหมายหลักแต่ย้ายไปอยู่ในบทเฉพาะกาลออกจะไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร และก็ไม่รู้ว่าในกระบวนการพิจารณาวาระ 2 ขั้นรายมาตราเมื่อถึงมาตรา 169/1 จะหายไปอีกหรือไม่ จึงขออนุญาตนำข้อด้อยในข้อ 5 มาเพิ่มเป็น (+1) ไว้ในข้อด้อยใหญ่ด้วย

แม้จะเป็นเพียง 1 หรือ 1 (+1) ข้อด้อย แต่ก็เป็น 1 หรือ 1 (+1) ข้อด้อยที่ทั้งใหญ่ทั้งมีนัยสำคัญยิ่ง
แต่จะใหญ่และมีนัยสำคัญพอที่จะสรุปในเบื้องต้นว่าเป็นการปฏิรูปแบบ ‘ลูบเบา ๆ’ เท่านั้น ตามที่จั่วหัวเรื่องไว้พร้อมเครื่องหมายปรัศนีหรือไม่ เชิญสาธุชนพิจารณา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลอย่าเสี่ยง! แจงยิบทำไม 'MOU 44' เข้าข่าย รธน. มาตรา 178

นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 178

หนุ่มสมุทรปราการโร่แจ้งความ มือมืดปาถุงเลือดใส่หน้าบ้าน

นายปริญญา ไกรกิจธนโรจน์ อายุ 24 ปี เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรปราการ ว่า เมื่อเวลา 00.20 น. ได้มีผู้ก่อเหตุมาขว้างปาถุงเลือดสด

เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับ รองผบ.ตร.-ผบช. วาระประจำปี 2567

การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2567 ได้มีมติเห็นชอบบัญชีรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ

'บิ๊กต่าย' สั่งสอบ 'พ.ต.ต.' อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กระทำอนาจาร

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  (ผบ.ตร.) เปิดเผยกรณีเพจดังเผยแพร่ข้อมูลระบุว่า มีนักเรียนนายร้อยตำรวจ ถูกอาจารย์ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และสารวัตร (สอบสวน) สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล

เคาะแล้ว! ก.ตร. แต่งตั้ง รองผบ.ตร.-ผบช. 'สยาม บุญสม' ม้ามืดผงาดนครบาล

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2567 โดยวาระสำคัญ คือวาระที่ 4 เรื่องที่ 4 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ วาระประจำปี 2567 ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ถึงผู้บัญชาการ (ผบช.) เป็นการใช้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เป็นครั้งแรก