27 พ.ค.2565 - นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ข้อเสนอแนะถึงคุณชัชชาติเรื่องต้องไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงจะเกิดตั๋วร่วมราคาเดียวได้ โดยเมื่อเย็นวานนี้ (26 พ.ค 2565) คุณชัชชาติให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ FM 96.5 เรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สาระโดยสรุปว่า
1)การแก้ปัญหาหนี้สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะไม่ต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอสโดยอาศัยอำนาจ คสช. มาตรา 44 (คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่3/2562) แต่ ถ้าจะต่อสัมปทาน ก็“จะต่อสัญญาสัมปทาน”โดยอาศัย พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพราะมีหลายเจ้ามาแข่งขันกัน
2)รฟม.เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าอื่นๆ 10 สาย ส่วนกทม.มีสายเดียว ต้องการให้เกิดตั๋วร่วมราคาเดียว ซึ่งควรมีเจ้าของเดียวจะได้ไม่เกิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ปมหนี้สินที่รัฐบาลสร้างขึ้นกับส่วนต่อขยาย(2)ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็เพื่อผูกมัดให้ต่อสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก” ใช่หรือไม่
1)รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนที่เป็นสายหลักคือ จากสถานีหมอชิต ถึง สถานีอ่อนนุช จะหมดสัมปทาน30ปีกับเอกชนในปี 2572 และจะเป็นสมบัติของ กทม. โดยชาวกทม.ได้จ่ายค่าโครงสร้างพื้นฐานระบบรางรวมอยู่ในราคาค่าโดยสารไปแล้ว เมื่อหมดสัมปทานก็จะไม่มีต้นทุนค่าโครงสร้าง จะมีก็แค่ค่าใช้จ่ายการเดินรถ และค่าบำรุงรักษาเท่านั้นซึ่งจากรายงานการเงินของบีทีเอส พบว่าค่าใช้จ่ายการเดินรถเพียงเที่ยวละ10-16 บาทเท่านั้น ดังนั้นราคาค่าโดยสารเที่ยวละ 20 บาทตลอดสายจึงเป็นไปได้
2)รัฐบาลได้สร้างส่วนต่อขยาย (2)จากสถานีหมอชิต ไปถึง คูคต และส่วนต่อขยายจากสถานีอ่อนนุชถึงสมุทรปราการ โดยมีการประเมินว่าส่วนต่อขยาย(2)ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ หมายความว่าจะไม่มีเอกชนรายไหนสนใจจะมาสัมปทานส่วนต่อขยายนั้น คือเดินรถไปก็ขาดทุนแน่นอน แต่รัฐบาลเห็นว่ามีผลดีทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการช่วยประชาชนย่านปริมณฑลเดินทางเข้ามาในเมือง ซึ่งรัฐบาลต้องจัดงบฯอุดหนุนให้มีการเดินรถในส่วนต่อขยายนี้เองไม่ใช่ผลักภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กทม. แต่ปรากฎว่ารัฐบาลไม่ได้จัดงบฯอุดหนุนให้กทม.เดินรถ จึงเกิดหนี้จากการเดินรถใน2-3 ปีที่ผ่านมา
3)ผู้ว่าฯจากการเลือกตั้ง กทม.ยุคก่อน คสช.ไปทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย(2)ไปถึงปี 2585 ด้วยสัญญจ้างเดินรถ 1.6 แสนล้านบาท ทั้งที่รถสายสีเขียวส่วนหลัก (สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช)จะหมดอายุสัมปทานในปี 2572 จึงเกิดการเขย่งหากจะมีการประมูลการเดินรถ สายสีเขียวส่วนหลักหลังหมดสัมปทานในปี2572 ข้ออ้างว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถถึง 2585 มาจากเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนขบวนรถไฟซึ่งเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิมได้เปรียบเอกชนรายอื่นถ้าจะมีการประมูลการเดินรถ ใช่หรือไม่
4)ส่วนต่อขยาย(2) คือจากสถานีหมอชิต ถึงคูคต และจากสถานีอ่อนนุชถึงสมุทรปราการ กทม.ยังไม่ได้รับโอนมาเป็นสมบัติของกทม. ดังนั้นส่วนต่อขยายดังกล่าว จึงยังคงเป็นสมบัติของ รฟม. และกระทรวงคมนาคม
5)ผู้ว่ากทม.ที่คสช.แต่งตั้งขึ้นเป็นผู้สั่งให้เดินรถส่วนต่อขยาย(2) โดยไม่ได้ของบฯสนับสนุนจากรัฐบาล จึงทำให้ขาดทุนจากการจ้างเดินรถและเกิดเป็นหนี้ก้อนโตขึ้นมา ต้องถามว่าทั้งหมดนี้คือการวางกับดักสร้างหนี้ส่วนต่อขยาย(2) เพื่อบังคับให้ผู้ว่าฯกทม.จากการเลือกตั้งต้องต่อสัมปทานให้เอกชนในส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักที่กำลังจะหมดสัมปทานในอีก 7 ปี (2572) ใช่หรือไม่?
คุณชัชชาติไม่ควรหลงกลเอารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก(จากสถานีหมอชิต ถึงสถานีอ่อนนุช) ที่เป็นของคน กทม.ไปแก้ไขหนี้สินส่วนต่อขยาย(2)ที่ไม่ใช่สมบัติของกทม. ไม่ว่าจะด้วยการต่อสัมปทานภายใต้ม.44 หรือพ.ร.บ.ร่วมทุนก็ตาม และการต่อสัมปทานด้วยพรบ.ร่วมทุนฯ ก็จะมีเอกชนรายเดียวที่ได้เปรียบเอกชนรายอื่นเหมือนเดิม ใช่หรือไม่
การที่เอกชนไม่สนใจสัมปทานเฉพาะส่วนต่อขยาย เพราะขาดทุนแน่นอน แต่อยากต่อสัมปทานส่วนหลักต่างหาก โดยเอาส่วนต่อขยายมาสร้างหนี้เพื่อเป็นเงื่อนไขมาต่อสัมปทานส่วนหลัก ใช่หรือไม่
ข้อเสนอแนะต่อคุณชัชชาติ
1)คุณชัชชาติไม่ควรหลงกลติดกับดักเรื่องหนี้จากส่วนต่อขยาย(2)ที่ไม่ใช่สมบัติของ กทม. แต่มีการสร้างหนี้ขึ้นมาบังตาประชาชนเพื่อกินรวบรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักคนกทม.ได้จ่ายเงินค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางมาตลอด และจะหมดสัมปทานในอีก7ปี (2572)
การต่อสัมปทานให้เอกชนไปอีก30ปี ในราคาสูงสุด65 บาท เป็นการโกงคนกทม. เป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมสำหรับคนกทม. เพราะจากงบการเงินของบีทีเอส ปี2562/2563 รายงานค่าใช้จ่ายการเดินรถซึ่งน่าจะรวมส่วนหลัก และส่วนต่อขยาย(2)ไว้แล้ว มีค่าใช้จ่ายเพียง 15.70 บาทเท่านั้น ใช่หรือไม่
การที่มีต้นทุนเดินรถทั้งส่วนหลัก และส่วนต่อขยาย เพียง15.70บาทต่อเที่ยว และเอกชนที่ได้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลัก และส่วนต่อขยาย(2)จะสามารถหารายได้จากการให้เช่าพื้นที่ในสถานี จากการโฆษณา และรวมทั้งจากการเชื่อมต่อกับพื้นที่เอกชนมากกว่าปีละ5,000 ล้านแน่นอน เฉพาะสถานีส่วนหลัก ก็เคยมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท อยู่แล้ว หากรวมส่วนต่อขยาย (2) เข้าไปด้วยน่าจะมีรายได้ถึงปีละ 5,000-8,000 ล้านบาทจึงมีข้อเคลือบแคลงว่า การผลักดันต่อสัมปทานนี้เป็นการร่วมกันหาประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและกลุ่มทุนที่วางแผนสร้างปมหนี้สินเพื่อกินรวบรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30ปี ในราคา65 บาท ซึ่งเป็น
“กับดักของการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ใช่หรือไม่ คุณชัชชาติบอกชัดเจนว่าจะไม่ต่อสัมปทานโดยม.44 ของคสช. (คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่3/2562) และดิฉันเห็นว่าคุณชัชชาติก็ต้องไม่ติดกับดักเรื่องหนี้ที่เขาอ้าง เพื่อไปต่อสัมปทานตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ด้วย
ขอให้คุณชัชชาติยึดหลักว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักเป็นของกทม. และไม่เกี่ยวกับหนี้สิน ที่รัฐบาลและผู้ว่าฯคนก่อนสร้างขึ้น คุณชัชชาติควรคืนส่วนต่อขยาย(2)ให้รฟม. ตามที่รัฐมนตรีคมนาคมพูดทวงไว้ถูกต้องแล้ว รวมทั้งไม่รับหนี้ที่รัฐบาลและผู้ว่าฯคนก่อนสร้างขึ้น รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมต้องไปจัดการเรื่องหนี้เอาเอง ใครทำผิดกฎหมายก็เอาผิดกับคนเหล่านั้น คุณชัชชาติต้องไม่หลงกลรับหนี้นั้นมาแก้ปัญหาให้ด้วยการให้ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก(สถานีหมอชิต ถึง สถานีอ่อนนุช)ที่เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของกทม.
2)คุณชัชชาติได้รับการเลือกตั้งมาโดยเสียงชาวกทม.ถึง 1.3 ล้านเสียง ควรเริ่มต้นใหม่โดยตั้งหลักว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะตกเป็นสมบัติของ กทม.ในปี 2572 นั้น คนกทม. เป็นเจ้าของโครงสร้างระบบรางเพราะได้จ่ายค่าก่อสร้างระบบรางไปครบถ้วนแล้วที่รวมอยู่ในค่าโดยสารตลอด30ปีของสัญญาสัมปทานเดิม ดังนั้นเมื่อหมดสัญญาสัมปทานในปี2572 คน กทม.ต้องได้ราคาค่าโดยสารถูกลง ไม่ใช่ราคา65 บาท นี่คือประโยชน์สูงสุดที่คุณชัชชาติจะทำให้กับชาวกทม.ได้
3)หากคุณชัชชาติเห็นว่ารถไฟฟ้าทั้งหมดในกทม.ควรมีเจ้าของเดียว เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ดิฉันเสนอให้คุณชัชชาติยกรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักที่จะหมดสัมปทานในปี2572ให้รฟม.เพื่อแลกกับอำนาจต่อรองการกำหนดค่าโดยสารให้ชาวกทม. และควรเสนอว่ากระทรวงคมนาคมก็ต้องไม่ยกสัมปทานรถไฟฟ้าสายอื่น เช่นสายสีส้มให้กับเอกชนอีกด้วย เพื่อให้รฟม.เป็นเจ้าของระบบรางเพียงรายเดียวดังที่คุณชัชชาติได้ให้สัมภาษณ์ ไว้ เพื่อให้ รฟม.สามารถมีอำนาจกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบได้
คุณชัชชาติควรยกรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รฟม.แลกกับข้อเสนอให้คิดราคาค่าโดยสารตั๋วร่วมราคาเดียวตลอดการเดินทางทั้ง10สาย (466ก.ม) สูงสุดในราคาไม่เกิน44บาท ซึ่งคำนวณจากสูตรของกระทรวงคมนาคมเองที่ใช้ 12+2x (ค่าแรกเข้าคือ12 บาท ส่วน 2x คือสถานีละ 2บาท และXคือจำนวนสถานี ราคาสูงสุด44 บาท) ที่ผ่านมามีสถิติคนขึ้นรถไฟฟ้าสูงสุด เพียง7 สถานีเท่านั้น ดังนั้นคนกทม.จะจ่ายค่าเดินทาง 7 สถานีได้ในราคา 26 บาทเท่านั้น
การทำให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนที่คนทุกรายได้สามารถเดินทางได้ ค่าโดยสารที่ถูกลงก็จะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจาก 1.1 ล้านคน/ปี (ประเมินโดยกระทรวงคมนาคม) เป็น 3-4 ล้านคน/ปี การผลักดันตั๋วร่วมราคาเดียวที่44บาท จะเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับคน กทม. และหากทำเช่นนี้ได้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหารถติด และฝุ่นพิษ PM 2.5 ไปได้ด้วยเพราะPM 2.5 เกิดจากไอเสียรถที่ใช้น้ำมันฟอสซิล
ดิฉันเชื่อมั่นว่า หากคุณชัชชาติทำเช่นนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุด ให้กับชาวกทม.และท่านจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้ว่าได้2 สมัยอย่างแน่นอนเพื่อทำให้ภารกิจตั๋วร่วมราคาเดียวของรถไฟฟ้าเกิดขึ้นเป็นจริงได้หลังปี 2572
รสนา โตสิตระกูล
27 พ.ค 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ 'เหนือ-กทม.' ยังอ่วม
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
67 พื้นที่ กทม. พบค่าฝุ่นสูงกระทบสุขภาพ
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร