อดีตทูตนริศโรจน์ เผยประสบการณ์เคยถวายงาน 'ในหลวง' ลั่นปกป้องสถาบันจากส่วนลึกในหัวใจ

26 พ.ค.2565 - นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โพสต์รูปภาพและข้อความบนเฟซบุ๊ก Fuangrabil Narisroj ว่า มีเพื่อนๆบอกว่าอยากฟังเรื่องเล่าที่ผมได้เคยถวายงานในหลวง ร.10 เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จริงๆแล้วผมไม่กล้าเล่า เพราะเกรงว่าจะมีคนหาว่าผมโหนสถาบัน

แต่วันนี้ได้ดูข่าวในพระราชสำนัก ในการที่ ในหลวงและสมเด็จพระราชินี เสด็จฯเยือนวัดถ้ำกลองเพล ของหลวงปู่ขาว อนาลโย จู่ๆใจก็รู้สึกเกิดปิติอย่างประหลาดที่ได้เห็นพระราชจริยาวัตรของทั้งสองพระองค์ ที่ทรงมีความนอบน้อมกราบคารวะหลวงปู่ขาว

และคงเป็นเพราะผมมีความเคารพศรัทธาในหลวงปู่ขาวด้วย ทุกวันสวดมนต์ก็ยังออกชื่อหลวงปู่ขาวเสมอ จึงคาดว่าดวงจิตของหลวงปู่ขาวคงดลใจให้ผมถือโอกาสนี้เล่าเรื่องประทับใจที่เป็นประสบการณ์ตรงของผมที่ได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่านถึง 3 ครั้งด้วยกัน

ครั้งแรกในปี 2530 ตอนนั้นพระองค์ท่านเสด็จฯเยือนประเทศสเปนอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของ สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน คาร์โลส

ครั้งที่สองในปี 2534 พระองค์ท่านเสด็จฯ ร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิคที่นครบาร์เซโลนาประเทศสเปน

และครั้งที่สาม ในปี 2536 พระองค์ท่านเสด็จฯเยือน บราซิล เปรู และเอกวาดอร์ อย่างเป็นทางการ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ผมต้องถวายงานอย่างใกล้ชิดที่สุดในฐานะ ล่ามแปลภาษาสเปน

ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ถือเป็นการเสด็จฯเยือนกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกาใต้เป็นครั้งแรก เนื่องจากบราซิลเป็นประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ส่วนเปรูและเอกวาดอร์ใช้ภาษาสเปน ทาง กต.จึงได้มอบหมายให้ขรก.ที่รู้ภาษาโปรตุเกส ซึ่งเป็นรุ่นน้องผม ชื่อ กุ้ง เป็นล่ามโปรตุเกสช่วงเสด็จฯเยือนบราซิล ซึ่งเป็นประเทศแรก ส่วนเปรูและเอกวาดอร์ ผมได้รับมอบหมายให้เป็นล่ามสเปนทำหน้าที่ตลอดในสองประเทศนี้

มีเรื่องขำๆเกิดขึ้นคือ กุ้ง ซึ่งเป็นล่ามโปรตุเกสนั้น ไม่เคยมีประสบการณ์ถวายงานพระองค์ท่านมาก่อน กุ้งบอกกับผมว่าเขาประหม่ามาก มือเย็นเฉียบ ผมในฐานะรุ่นพี่ที่เคยมีประสบการณ์ถวายงานมาแล้ว 2 ครั้ง ก็พยายามปลอบกุ้งว่า ใจเย็นๆพยายามสูดลมหายใจลึกๆไว้

แต่กระนั้นก็ตาม หมายกำหนดการแรกที่บราซิล ในขณะที่พระองค์ต้องมีพระปฏิสันถารกับผู้นำบราซิล พวกเราก็ได้เห็นอาการประหม่าของกุ้ง แบบทำอะไรไม่ถูก ผมซึ่งยืนอยู่ห่างออกมาก็พยายามพยักเพยิดบอกกุ้งให้เข้าไปใกล้ๆพระองค์ พูดให้ชัดๆช้าๆไม่ต้องลนหรือประหม่า

แต่สถานการณ์ตอนนั้นเหมือนกุ้งไม่รู้ตัวเอง พอพระองค์ท่านหันมาทางขวาเพื่อทรงมองหาล่าม กุ้งก็ถอยหนีไปทางซ้าย พอพระองค์ท่านทรงหันมาทางซ้าย กุ้งก็ถอยหนีไปทางขวา เป็นแบบนี้ตลอด จนผมต้องขยิบตาและทำสัญญาณมือให้กุ้งอยู่นิ่งๆ เดชะบุญ พอกุ้งเริ่มชินก็ลดความประหม่าลง จนการเสด็จฯเยือนบราซิลผ่านพ้นไปด้วยดี

จากบราซิล พระองค์ท่านก็เสด็จฯ เปรูต่อ หมายกำหนดการแรกที่ทำเนียบประธานาธิบดีเปรู (ตอนนั้นเปรูมีประธานาธิบดีเป็นคนเชื้อสายญี่ปุ่นชื่อ Alberto Fujimori)

ผมซึ่งมีประสบการณ์ถวายงานมาแล้ว 2 ครั้ง ก็ต้องเข้าประกบใกล้พระองค์ท่านทันที วินาทีนั้นยังจำได้จนถึงบัดนี้ พระองค์ท่านทรงเอาพระหัตถ์แตะที่แขนผมเบาๆแล้วรับสั่งว่า “ล่ามอย่าหนีไปไหนนะ พูดดังๆชัดๆใกล้ๆด้วย”

ตอนนั้นผมรู้สึกเย็นวาบตั้งแต่หัวถึงเท้า แต่ก็พยายามถวายงานอย่างเต็มที่ ยังจำได้จนถึงบัดนี้คือ เนื่องจากต้องเข้าใกล้พระวรกายของพระองค์ท่านให้มากที่สุด เพื่อมิให้เสียงดังเกินไป หรือ ค่อยเกินไป จนผมสามารถได้กลิ่นน้ำปรุง Eau de Cologne อ่อนๆจากพระวรกายของพระองค์ท่าน

การถวายงานที่เปรูและเอกวาดอร์ก็ผ่านไปโดยเรียบร้อย หลายครั้งที่ได้เห็นสายพระเนตรที่มองมาที่ผมอย่างมีพระเมตตา เท่านี้ใจก็เอิบอิ่มยิ่งนักแล้ว

เหตุการณ์ผ่านไป 24 ปี จนถึงปี 2560 ผมได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำอาร์เจนตินา และถือเป็นคณะราชทูตไทยคณะแรกในแผ่นดินของรัชกาลที่ 10 ที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่เจริญสัมพันธไมตรีในนามของพระองค์ท่าน

วันที่ผมต้องเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อรับพระราชสาสน์ตราตั้ง ในขณะที่ทรงหลั่งน้ำจากพระมหาสังข์รดที่กลางศีรษะของผมนั้น ผมยังไม่ค่อยกล้ามองพระพักตร์พระองค์ท่าน จนถึงช่วงที่ต้องเงยหน้าเพื่อที่พระองค์จะได้ใช้พระหัตถ์เจิมหน้าผากผม ผมมองเห็นรอยแย้มพระสรวลเล็กๆ เหมือนพระองค์ทรงจำ ล่ามตัวเล็กๆ ที่เคยถวายงานพระองค์ท่านที่เปรูและเอกวาดอร์ได้ (ทางกต.จะต้องทำประวัติของ ออท.ทุกคนขึ้นถวายให้ทรงทราบก่อน)

และตอนที่พระองค์ท่านพระราชทานใบมะตูมให้ผมทัดที่หูขวาอีกครั้ง ก็ได้เห็นพระพักตร์และสายพระเนตรที่อ่อนโยนมองมาที่ผมอีกครั้ง ตอนนี้หัวใจของผมก็อิ่มพองฟูอย่างน่าประหลาดจนอธิบายเป็นตัวอักษรไม่ถูก

ผมเองได้ปฏิญานกับตัวเองว่าจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเกียรติภูมิของประเทศชาติและจะรักษาพระเกียรติยศของพระองค์ท่าน ปฏิบัติหน้าที่เจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศให้สมกับที่พระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯให้ผมดำรงตำแหน่งที่ทรงเกียรตินี้ครับ

การทำหน้าที่ปกป้องสถาบันของผมเกิดขึ้นจากเนื้อแท้ที่มาจากส่วนลึกของหัวใจผม ด้วยตัวของผมเอง ไม่ได้ทำในนามกลุ่มองค์กรใด และไม่เคยคิดอาจเอื้อมแม้แต่ครั้งเดียวในการแอบอ้างหรือโหนสถาบันเพื่อประโยชน์ส่วนตนของผม

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล
อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำอาร์เจนตินา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วัดมหาธาตุวชิรมงคล จัดโครงการบรรพชาอุปสมบท เฉลิมพระเกียรติในหลวง

เนื่องในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลไทยดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั่วประเทศ โดยกำหนดระยะเวลาขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อเป็นการร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

มหรสพสมโภชในหลวง 72 พรรษา จัดใหญ่สนามหลวง

3 ก.ค. 2567 ที่หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)  จัดแถลงข่าวงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567  นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

'พีระพันธุ์' นำลูกพรรคดูหนัง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ย้ำจุดยืนไม่นิรโทษคดี 112

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมด้วย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค นายหิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรค และสมาชิกพรรค

จบข่าว! ประชาชนแห่โหวตคัดค้านนิรโทษกรรมรวมคดี 112

สืบเนื่องจากกรณี เว็บไซต์รัฐสภา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 รัฐธรรมนูญ ของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. ที่ นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อ

ในหลวง พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาน สวัสดิวัตน์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาน สวัสดิวัตน์ ป.จ.,ม.ป.ช.,ม.ว.ม.,ว.ป.ร.2 ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตร

'ในหลวง พระราชินี' เสด็จฯ ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย