'ชัชชาติ' ควง 'วิโรจน์' ว่าที่ สก.เพื่อไทย-ก้าวไกล สำรวจคลองลาดพร้าว


23 พ.ค. 2565 - นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่บริเวณคลองลาดพร้าว นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล รวมถึงว่าที่สก.เขตลาดพร้าว จตุจักร จากพรรคก้าวไกล และว่าที่สก.วังทองหลาง พรรคเพื่อไทย ขึ้นเรือสำรวจเส้นทางคลองลาดพร้าว

นายชัชชาติห้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ยังไม่ได้มีการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนถามมา คือปัญหาน้ำท่วม. โดยเฉพาะคลองลาดพร้าวที่มีปัญหาเรื่องการระบาย ที่น้ำไม่สามารถดันไปถึงคลองบางบัวได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นที่ 4 เขต ได้แก่วังทองหลาง ลาดพร้าว จตุจักร ห้วยขวาง ทั้ง 4 เขต เป็นพื้นที่ของ ว่าที่สก.พรรคเพื่อไทย 2 คน และว่าที่ สก.ก้าวไกล2คน ตนได้โทรศัพท์เชิญมาคุยปัญหากัน อยากฟังปัญหาของพื้นที่ และนำปัญหา ข้อมูลมาประกอบ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ของเขตนี้ จะได้มาลงในนโยบาย ขณะเดียวกันได้คุยกับนายวิโรจน์ ซึ่งพร้อมจะร่วมมือ พร้อมฝากนโยบายไว้ 12 ข้อก็ต้องดูว่าสิ่งไหนจะช่วยปฏิบัติได้อย่างไร เพราะทุกข้อเสนอเป็นข้อเสนอที่ดี

นายชัชชาติกล่าวว่า นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการร่วมมือกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนในเขต โดยเฉพาะสก.เข้าใจรายละเอียดในพื้นที่ได้ดี พื้นที่ไหนเกี่ยวข้องกับสก.พรรคไหน ก็จะเชิญมาคุยเวลาลงพื้นที่ จะได้เข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น ช่วงเย็นนี้จะไปที่คลองเตย ซึ่งได้เรียนเชิญนายสุชัย พงษ์เพียรชอบ หรือ ต่าย คลองเตย ว่าที่สก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ แต่ว่าที่ สก.ต่ายติดธุระ จึงได้ส่งตัวแทนมา หลักการของผมคือ ให้เกียรติและร่วมคุยปัญหากัน ยืนยันว่าไปพื้นที่ไหนก็จะเชิญ สก.ของทุกพรรคไปร่วมด้วย “

“อยากเห็นกรุงเทพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เห็นแตกต่างกันได้ แต่อย่าทะเลาะกัน ทุกท่านต้องการทำงานเพื่อประชาชนเหมือนกันถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะร่วมมือกัน โดยไม่ได้คิดถึงพรรคการเมือง คิดถึงคนกรุงเทพเป็นหลัก สุดท้ายแล้วจะเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง สร้างบริบทการเมืองใหม่ คิดว่าจะทำให้บทบาทของสก.มีความเข้มแข็งขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นบทบาทมากนัก พรุ่งนี้จะเดินทางไปฝั่งตะวันออกเพื่อดูเรื่องที่เร่งด่วน เราและ ว่าที่สก.ต้องทำงานเลย ไม่มีเวลาฮันนีมูน เพราะปัญหาประชาชนไม่มีเวลาให้เรามาฮันนีมูน ผมไม่ค่อยซีเรียสเรื่องการเมือง มุ่งทำงานเป็นหลัก”นายชัชชาติกล่าว

ว่าที่ผู้ว่ากทม. กล่าวอีกว่า สำหรับคลองลาดพร้าวปัญหาคือปลายทางคืออุโมงค์ระบายน้ำพระโขนงที่อยู่ตรงคลองแสนแสบ กำลังดูด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแต่น้ำไปไม่ถึงซึ่งเป็นปัญหาในเรื่องของการตัดน้ำ แต่หากพิจารณาดูแล้วการตัดน้ำจากคลองลาดพร้าวไปบางซื่อจะไปได้ง่ายกว่าเพราะอุโมงค์มันใกล้กว่า นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องสร้างเขื่อนริมตลิ่งไม่ได้ซึ่งทำขุดลอกคลองไม่ได้ด้วย เพราะจำให้ตลิ่งพัง เช่น คลองบางบัวระดับน้ำ อยู่ที่ -1 เมตรซึ่งจริงๆแล้วควรจะอยู่ที่ -3 เมตร ซึ่งถ้าอยู่ในระดับตรงนั้น ปริมาณน้ำจะเพิ่มได้มหาศาล และน้ำจะไหลเร็วขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้

การไม่สร้างเขื่อนนั้นก็ต้องดูว่าปัญหาเกิดจากตรงไหน ซึ่งเราจะต้องเร่งรัดเรื่องนี้ โดยพิจารณาว่าจะต้องมีการยกเลิกผู้รับเหมาหรือไม่ เพื่อให้สร้างเขื่อนได้ต่อเนื่อง นอกจากนั้นคือ การเพิ่มแก้มลิงซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่แต่ปริมาณน้ำไม่ได้ถูกนำไปใช้ก่อนฝนตกจึงไม่สามารถรองรับน้ำใหม่ได้ เราควรจะบริหารจัดการแก้มลิงโดยการพร่องน้ำก่อน ส่วนพื้นที่เพิ่มเติม ก็มองว่าไม่ได้ง่าย โดยเฉพาะตรงบางเขน เขตบ้านบัว ยังมีพื้นที่ซึ่งเป็นจุดรับน้ำ ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ราชการ หน่วยทหารหลายแห่ง ซึ่งหากขุดลอกบึงในหน่วยทหาร มีการติดตั้งปั๊มน้ำ มีการประสานงานกันเวลามีฝนจะได้แจ้งไป

เมื่อถามถึงกรณีที่ป้ายหาเสียงที่มีคนตัดภาพไปทำเป็นกระเป๋านั้น นายชัชชาติ กล่าวว่าถ้าใครจะนำไปใช้ประโยชน์ก็ได้ เพราะเป็นขยะที่รีไซเคิล หรือรียูส เราก็พยายามเก็บให้มากที่สุด กรณีที่มีการนำเรื่องนี้ไปร้องเรื่องผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น ก็แล้วแต่คนร้อง ซึ่งตนเคารพ แต่ประเด็นนี้เราก็คิดมานานแล้ว ไม่กังวลว่าเรื่องนี้จะทำให้การเป็นผู้ว่าฯสะดุดลงเพราะได้คิดเรื่องทางกฏหมายไม่อย่างละเอียดแล้ว ว่าสิ่งใดทำได้บ้าง และไม่ได้บ้าง

เมื่อถามว่าจะบอกคนที่เก็บป้ายนำไปขายอย่างไรบ้าง นายชัชชาติ กล่าวว่า จะให้ฝ่ายกฎหมายมาให้ความเห็น

นายวิโรจน์ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นตรงกันคือในเรื่องการเปิดปิดประตูระบายน้ำว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อถามว่าการที่มาช่วยลงพื้นที่กับ นายชัชชาติ เตรียมความพร้อมที่จะเป็นรองผู้ว่าฯแล้วใช่หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า มาช่วยในเชิงนโยบาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำให้บ้านเมืองดีขึ้น 2 เดือนที่ผ่านมาก็เจอแต่การดีเบตด้วยกัน วันนี้เพิ่งได้มีโอกาสคุยกันจริงจัง คะแนนเลือกตั้งตนมีน้อยกว่า อาจารย์ยังแซวว่า ทำไมคุณมีความสุขมากกว่าอีก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด