'ดร.สุวินัย'วิเคราะห์การเมือง 2 ขั้ว กับระบอบทักษิณที่ตายยาก และความเสื่อมของกลุ่ม 3 ป.

'ดร.สุวินัย' วิเคราะห์ถึงการแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ในสังคมไทย กับระบอบทักษิณที่ตายยาก และความเสื่อมของกลุ่ม 3 ป. เตือนทุกคนไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต้องปรับตัวและเตรียมรับมือกับอภิมหาโกลาหล

29 ต.ค.2564- ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้ ว่า

Polarization กับระบอบทักษิณที่ตายยาก และความเสื่อมของกลุ่ม 3 ป.

อันที่จริงระบอบทักษิณจะยึดประเทศอยู่รอมร่อแล้ว แต่ผู้ที่มาตัดตอน ทั้งปี 2549 และ ปี 2557 คือ กองทัพ
ในสายตาของระบอบทักษิณ พวกเขามองว่า เหลือง หรือ กปปส. ไม่อยู่ในสายตา ถ้าหากไม่มีกองทัพเข้ามาขัดคาน

ดังนั้นระบอบทักษิณถือว่ากองทัพอย่างเดียว คือตัวขัดขว้างไม่ให้เขาเดินไปสู่เป้าหมายกินรวบประเทศได้
จึงไม่แปลกที่ทางนั้นวางยุทธศาสตร์ว่า ต้องจัดการกองทัพ ให้อยู่ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อกุมชัยชนะในการเลือกตั้งที่สามารถทุ่มเงินซื้อเสียงแต่ละเขตทางภาคอีสานได้

อันที่จริงกองทัพกลายเป็นศัตรูตัวเอ้ของระบอบทักษิณหลังปี 2553 ที่มีเผาเมืองเท่านั้น และชัดเจนกันทั้งสองฝ่ายหลังรัฐประหารปี 2557

แต่สมัยปี 2549 กองทัพยังไม่ได้มองระบอบทักษิณเป็นอันตราย
ส่วนพันธมิตรฯ กับกปปส. เป็นแค่เบี้ยในสายตาของชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย
เพียงแต่ในบางสถานการณ์ เบี้ยกินขุนอีกฝ่ายได้เท่านั้นเองซึ่งเกิดขึ้นนานๆที

อันที่จริงพรรคพลังประชารัฐคือเครื่องมือหลักทางการเมืองของคสช.และกองทัพในการผลักดันความต่อเนื่องของการกระชับอำนาจ และแบ่งสรรปันส่วนอำนาจในโครงสร้างอำนาจกันใหม่ในยุค "หลังระบอบทักษิณที่ไร้ทักษิณ" ไม่ให้ตระกูลชินวัตรกินรวบประเทศคนเดียวเหมือนเมื่อก่อน

ในสูตรใหม่นี้ พวกเทคโนแครท ขุนนาง ทุนเก่า ทุนใหม่อื่นๆ และพวกนักการเมืองล้วนมีส่วนแบ่งในโครงสร้างอำนาจนี้ด้วย จึงไม่แปลกที่เราเห็น อดีตขี้ข้าระบอบทักษิณจำนวนไม่น้อยได้ย้ายมาเข้าพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนภาคประชาชนถ้าอยากมีส่วนร่วมส่วนแบ่งในโครงสร้างอำนาจใหม่นี้ก็ต้องสร้างพรรคการเมืองอุดมการณ์เข้าไปแข่งขันตามกติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เท่านั้น

ถ้ามองตามความเป็นจริง ก็จะตาสว่างได้เองว่า "วาทกรรมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ" เป็นแค่มายาคติเท่านั้น จริงๆแล้วมันคือการจัดสรรแบ่งปันอำนาจกันในโครงสร้างอำนาจใหม่ยุคหลังระบอบทักษิณที่ไร้ทักษิณเท่านั้นเอง
........
เรามาทบทวนเรื่อง Polarization หรือการแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ในสังคมไทยในช่วง 16 ปีที่ผ่านมากันดีกว่า

จริงๆแล้วสถานการณ์ที่บ้านเมืองแตกแยกทางความคิดและทางการเมืองออกเป็นสองขั้วอย่างรุนแรง เริ่มเห็นได้ชัดจริงๆในช่วงปลายปี 2548 (2005) จาก "ปรากฏการณ์สนธิ" ที่ขยายตัวดุจหิมะถล่มกลายเป็น การก่อตั้ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2549 (2006)

นี่เป็นครั้งแรกในรอบสิบกว่าปีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 (1992) ที่แกนนำปลุกระดมมวลชน(เสื้อเหลือง) แล้วจุดติด

เป็นที่น่าสังเกตว่า แกนนำในพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่คือผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการสืบอำนาจของคณะทหารรสช.ก่อนเกิดพฤษภาทมิฬทั้งสิ้น ไม่ว่าจำลอง สนธิ สมศักดิ์ พิภพ

เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างว่า ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ใช้การถ่ายทอดผ่านทีวีดาวเทียมASTV เป็นอาวุธหลักในการปลุกระดมมวลชน

จนนำไปสู่ "ยุทธการเบี้ยกินขุน" ซึ่งยากจะเกิดขึ้นในการเมืองไทย

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 น่าจะเรียกได้ว่าเกิดจากการฉวยโอกาสของผบ.ทบ.คนเดียว และทำรัฐประหารเพราะกลัวว่านายกฯทักษิณจะปลดตนเองเป็นแรงจูงใจหลัก

ผลกระทบจากรัฐประหาร 2549 ที่รุนแรงที่สุด คือ Polarization ในหมู่ปัญญาชนไทยทำให้เกิดการเลือกข้างคนละฝั่งของชนชั้นนำไทยที่ต่อสู้ยึดครองพื้นที่ในโครงสร้างอำนาจของเมืองไทย

จนกลายเป็นความขัดแย้งทางความคิดสองฝ่ายระหว่าง ราชาชาตินิยม กับ ลิเบอรัล (ที่หลายคนออก 'ร่าน' ซึ่งสะท้อนวุฒิภาวะและ EQ ของคนพวกนี้)

ในบริบทการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำที่เป็น เทคโนแครทและขุนนางกับทุนเก่า กับชนชั้นนำที่เป็นทุนใหม่สามานย์กับพวกนักการเมืองที่มาจากเจ้าพ่อท้องถิ่นและช่ำชองในกลไกเลือกตั้งกับมีฐานคะแนนเสียงในต่างจังหวัดแน่นหนา
การลุกขึ้นสู้ของมวลชนเสื้อหลวงต่อ"ระบอบทักษิณ"(อีกชื่อของเผด็จการรัฐสภา) ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ "เบี้ยจะกินขุน" ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก แต่เรื่องราวกลับจบแบบหักมุมด้วยการเกิดรัฐประหาร 2549 ที่นอกจากจะเสียของแล้ว ยังนำไปสู่ Polarization ที่ยากจะเยียวยาจนทุกวันนี้

สภาพ Polarization ที่ทำให้บ้านเมืองแตกแยกอย่างหนักมีที่มาจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำสองฝ่ายโดยที่ฝ่ายหนึ่งต้องการกินรวบประเทศไทยผ่านการคอรัปชั่นเชิงนโยบายและการมอมเมามวลชนที่เป็นฐานเสียงของตนให้เสพติดนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่ง

ขณะที่ชนชั้นนำเก่า เทคโนแครท ขุนนางและทุนเก่าเตรียมจะถอดใจยอมสวามิภักดิ์ "เจ้าคนใหม่" ที่โตมาจากทุนสัมปทานแล้วใช้กลไกการเลือกตั้ง กับฐานคะแนนเสียง และเครือข่ายทุนสามานย์และนักเลือกตั้ง เข้ายึดอำนาจรัฐอย่างชอบธรรมอยู่รอมร่อแล้ว .... ถ้าไม่เกิดการลุกขึ้นสู้ต่อต้านระบอบทักษิณของ "กลุ่มชาวบ้านบางระจันยุคดิจิตัล" แบบ "ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง"

การผุดขึ้นมาของพันธมิตรและมวลชนเสื้อเหลือง ที่เป็นเบี้ยทรงพลัง ใช้เงินซื้อไม่ได้ และกล้ากินขุน ... เป็นอะไรที่ชนชั้นนำเก่าก็ระแวงและไม่ไว้ใจ ถึงแม้ชนชั้นนำเก่าจะฉวยโอกาสตีกินช่วงชิงอำนาจคืนมาได้บางส่วนหลังรัฐประหารปี 2549 ก็ตาม

เราต้องทำความเข้าใจแบบนี้จึงสามารถเข้าใจความเป็นไปของบ้านเมืองหลังปี 2551 ได้

ในด้านหนึ่งรัฐบาลนอมินีของทักษิณกลับมาชนะเลือกตั้งได้ ไม่ใช่แค่นั้นทางนั้นยังจัดตั้งขบวนการมวลชนเสื้อแดงนปช. เลียนแบบพันธมิตรโดยใช้สื่อทีวีดาวเทียมเป็นอาวุธ ช่วงนี้แหละที่มีการสร้าง "วาทกรรมล้มเจ้า" ขึ้นมาโดยอดีตฝ่ายซ้ายและพวกคอมมิวนิสต์เก่าที่เข้ามาสวามิภักดิ์นายทุนสามานย์อย่างเต็มตัว

วิกฤตความแตกแยกบานปลายและเริ่มฝังรากลึกอย่างแยกไม่ออกจากการต่อสู้ระดับสงครามอำนาจแบบว่า "หากข้าไม่เป็นสุข พวกเอ็งก็ไม่มีวันสงบสุขได้หรอก" ... หน่ออ่อนของสงครามการเมืองเกิดขึ้นแล้วผ่านการปลุกระดมมวลชนด้วย hate speech

ในอีกด้านหนึ่ง พันธมิตรและมวลชนเสื้อเหลืองต้องลุกขึ้นมาสู้กับรัฐบาลนอมีนีอย่างเด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยวดุจสงครามครั้งสุดท้าย ถูกระเบิดสังหาร ทำให้พิการจาก 7 ตุลา 2551 (2008) แต่ก็ยืนหยัดไม่ย่อท้อ จนนำไปสู่ตุลาการภิวัฒน์ ในปลายปี 2551

สุดท้ายชนชั้นนำเก่าก็ยังฉวยโอกาสและฉวยประโยชน์จากการเสียสละของพันธมิตรเหมือนเดิม พวกเขาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร

การลอบสังหาร "ขุนพลงักฮุย"อย่างสนธิที่เป็นแกนนำพันธมิตรแต่ล้มเหลวอย่างเหลือเชื่อเกิดขึ้นหลังจากนั้น ... หลังจากที่พวกชนชั้นนำเก่าประเมินแล้วว่าเอาอยู่ จึงจัดการทำสิ่งที่เรียกว่า
"เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล"

แต่ชนชั้นนำฝ่ายทุนสามานย์ไม่ยอมแพ้ เขาก่อ "กบฏ" ผ่านยุทธการเผาเมืองปี 2553 แม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็บีบให้อีกฝ่ายยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ได้

ผลของยุทธการเผาเมืองปี 2553 (2010) เกิดผลกระทบอย่างหนึ่งที่ฝ่ายทุนสามานย์คาดไม่ถึง คือ ดันไปปลุก เสือหลับอย่างกองทัพให้ตื่นและตาสว่าง และเริ่มมองว่าระบอบทักษิณเป็นภัยความมั่นคงจริงๆ

ปี 2554 (2011) รัฐบาลน้องสาวทักษิณชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ผ่านการชูนโยบายประชานิยมสิ้นคิดอย่างโครงการจำนำข้าวและโครงการรถคันแรก

ตอนนี้แหละที่ชนชั้นกลางไทยที่ไม่ใช่มวลชนเสื้อเหลืองเริ่มทนไม่ได้ที่รัฐบาลหุ่นเชิดทักษิณจะนำพาประเทศให้ล่มสลายทางเศรษฐกิจแบบอาเจนติน่า เวเนซุเอล่า

น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่เกิดจากการบริหารน้ำที่ผิดพลาดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยิ่งตอกย้ำความไม่พอใจของชนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่

จนมาระเบิดในปลายปี 2556 (2013) จากเรื่องนิรโทษกรรมสุดซอย เกิดกปปส.ที่ยิ่งใหญ่กว่าพันธมิตรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพแต่เด็ดเดี่ยวเหมือนกัน

ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ปี 2557 (2014) เพื่อยับยั้งสงครามกลางเมือง ทำให้มีความชอบธรรมกว่ารัฐประหารปี 2549 มาก

แต่ Polarization ยังไม่หมดไปและยากที่จะหมดไปง่ายๆ ตราบใดที่ฝ่ายหนึ่งยังคงปลุกระดมสร้างความเกลียดชังด้วยการบอกความจริงแค่ด้านเดียว

สถานการณ์ Polarization ซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อเกิดขุมพลังล้มเจ้าตัวจริงโผล่ขึ้นมาช่วงชิงฐานมวลชนที่เป็นคนรุ่นใหม่แข่งกับขุมพลังของตระกูลชินวัตร

ขณะที่กลุ่ม 3 ป. ที่โตมาจากกองทัพ และเป็น "ตาอยู่" จากการรัฐประหารปี 2557 เริ่มมีรอยร้าวและขาลอยจากกองทัพ

นักการเมืองจากระบอบทักษิณที่ย้ายมาสุมหัวในพรรคพลังประชารัฐแทนเริ่มประกาศศักดาและแข็งข้อกลายๆต่อกลุ่ม 3 ป.

ขณะที่กลุ่ม 3 ป.เองก็เริ่มนับถอยหลังทางการเมืองแล้วเช่นกัน
.....
ขณะนี้บริบททางเศรษฐกิจสังคมได้เปลี่ยนไปมากในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่สำคัญที่สุด คือการดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการผงาดขึ้นของยุคดาต้านิยม (Dataism) ตามมาด้วยวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลกมาสองปีแล้ว
The Great Reset เริ่มต้นแล้ว !!

ชนชั้นนำไทยและคนไทยทุกคนไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต้องปรับตัวและเตรียมรับมือกับอภิมหาโกลาหลที่จะเกิดขึ้นแน่ในอนาคตอันใกล้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เทพไท’ ตอกหน้าลิ่วล้อทักษิณ เมื่อทำเลวเหมือนเดิม ไม่แปลกคนค้านเป็นพวกเดิม

เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ จำเป็นอยู่ดี คนที่ออกมาคัดค้านจะเป็นคนหน้าเดิมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อคนพวกเดิมในระบอบทักษิณเข้ามาบริหารประเทศ

'นักเศรษฐศาสตร์' เปิดสูตรคณิตศาสตร์แชร์ลูกโซ่ ทะลุหมื่นล้าน 'หัวหน้าบอส' ฮุบไป2พันล้าน

ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า