กสม.แจงผลงานครึ่งปีมีร้องเรียน 356 เรื่อง!

กสม.แถลงผลงานรอบครึ่งปี มีร้องเรียนเข้ามา 356 เรื่อง สิทธิในชีวิตและร่างกายถูกร้องมากที่สุด เน้นประสานการคุ้มครองเพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา

12 พ.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลการดำเนินงานรอบครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) โดยสรุปภาพรวม 3 ด้าน ได้ดังนี้

1.ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในรอบครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งสิ้น 356 เรื่อง โดยเรื่องที่รับไว้ดำเนินการ มีจำนวน 284 เรื่อง คิดเป็น 79.77% และเรื่องที่ไม่รับไว้พิจารณา มีจำนวน 72 เรื่อง คิดเป็น 20.23% เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว จึงต้องห้ามไม่ให้ กสม.รับไว้พิจารณา หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่น เช่น การร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ทั้งนี้ ประเภทสิทธิที่ร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด 5 ลำดับแรก เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ 1. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย 2.สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีตัวเลขการร้องเรียนต่างจากสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเพียงเล็กน้อย 3. สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสตรี 4.สิทธิชุมชน และ 5.สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน

สำหรับเรื่องร้องเรียนจำนวน 284 เรื่องที่ กสม. รับไว้ดำเนินการนั้น แบ่งเป็นการดำเนินการดังนี้ 1.การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 161 เรื่อง คิดเป็น 45.22% และในช่วงเวลาเดียวกันสามารถตรวจสอบเรื่องเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 108 เรื่อง พร้อมมีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการ 2.การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 68 เรื่อง คิดเป็น 19.10% โดยสามารถประสานการคุ้มครองฯ แล้วเสร็จจำนวน 62 เรื่อง เช่น การเร่งรัดการดำเนินคดีให้ผู้ร้องได้รับสิทธิประโยชน์ในทางราชทัณฑ์ การเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสถานะบุคคล การแก้ไขปัญหาการประเมินผลการศึกษาตามการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นต้น 3.การดำเนินการช่วยเหลื่ออื่น ๆ 51 เรื่อง คิดเป็น 14.32% โดยสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการส่งเรื่องให้สภาทนายให้ความช่วยเหลือทางคดี และ 4.การดำเนินการศึกษา วิจัย หรือจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบ 4 เรื่อง ได้แก่ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562, ข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ, ข้อเสนอแนะกรณีการดำเนินคดีล่าช้าอันเกี่ยวเนื่องกับการอายัดตัว และ ข้อเสนอแนะกรณีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....

2.ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สำนักงาน กสม. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย โดยในครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมความร่วมมือ เช่น การวางแผนจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเพื่อส่งเสริมสิทธิของกลุ่มคนเปราะบางร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย การจัดเสวนาวิชาการร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายด้านความหลากหลายทางเพศ เพื่อระดมความเห็นในการแก้ปัญหาสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง สิทธิและความปลอดภัยของคนเดินเท้า ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ และการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม Connect Fest ครั้งที่ 2 ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม 50 องค์กร

สำหรับการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่สังคม สำนักงาน กสม. ได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ผ่านการสื่อสารสาธารณะในหัวข้อรักไม่ละเมิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในชีวิตของเด็กและเยาวชน และจับอย่างระวัง ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิผู้ต้องหาและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่นำไปสู่การสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย ออกมาใช้บังคับได้จริง นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้แทนหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกรณีร้องเรียนจำนวนมากให้ร่วมเป็นเครือข่ายการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีการจัดประกวดภาพถ่ายสิทธิมนุษยชนและคลิปสั้น TikTok ในหัวข้อสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน โดยผลงานที่สะท้อนมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้มีการจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมี.ค.2565

3.การเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากการติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศทุกมิติอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน กสม. ได้ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่ 1. แรงงานข้ามชาติ และ 2.สถานะบุคคลและผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา สรุปได้ดังนี้ ประเด็นแรงงานข้ามชาติ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 สำนักงาน กสม. ได้จัดประชุมรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อกรณีปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติที่นำไปสู่การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยได้มีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงนายกรัฐมนตรี แจ้งข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าว ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. โดยเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 44 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด และวางแนวทางการนำคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและกัมพูชาที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนให้เป็นไปในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่แล้ว

สำหรับประเด็นสถานะบุคคลและผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา เมื่อเดือนมกราคม 2565 กสม. ได้ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระนองเพื่อติดตามสถานการณ์ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลที่มีความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต่อแนวทางในการช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาและประชาชนไทยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (นางปรีดา คงแป้น และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช) ได้เข้าพบและหารือร่วมกับอธิบดีกรมการปกครองถึงแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น และผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในประเทศไทยด้วย

“นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนมี.ค. 2565 กสม. ไทย ยังได้รับทราบผลการปรับคืนสถานะ A จากการประเมินของคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI) อันเป็นผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของ กสม. ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งความพยายามในการผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่อาจกระทบความเป็นอิสระของ กสม. ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เผยแพร่ผลการปรับเลื่อนสถานะของ กสม. ไทยอย่างเป็นทางการแล้ว”เลขาธิการ กสม. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แทนคุณ’ ร้อง ‘ปธ.สภาฯ’ สอบสภาทนายความ เหตุมีทนายสร้างความแตกแยก

แทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม ยื่นหนังสือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบการทํางานของสภาทนายความฯ

‘ผู้การจ๋อ’ ส่งทนายยื่นหนังสือ ‘ผบ.ตร.’ ยัน ป.ป.ช.ไม่ชี้มูล คดี ‘อัจฉริยะ’ ร้องเรียน

ทนายความของ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำมติ ป.ป.ช.ที่ไม่ชี้มูลความผิด กรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ร้องทุกข์กล่าวโทษ

เครือข่ายชาวเลอันดามัน ยื่น 3 ข้อ ขอรัฐบาลแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

เครือข่ายชาวเลอันดามัน นำโดย นายวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานฯ พร้อมตัวแทน 10 คน ยื่นหนังสือถึงนายกฯ

กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่

'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ