‘ปิยบุตร’ แก้เกี้ยว ลุยปลดล็อกท้องถิ่น ยังไม่ยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ้างไม่มีอำนาจยุบ แต่อีก 5 ปี ชงทำประชามติ ‘ราชการส่วนภูมิภาค’ ควรไปต่อหรือไม่
9 พ.ค. 2565 – นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวในหัวข้อ “ปลดล็อกท้องถิ่น: กระจายอำนาจ กระจายงบประมาณอย่างแท้จริง” ที่โรงแรมนนทบุรี พาเลซ จ.นนทบุรี ในกิจกรรม “ปลดล็อกท้องถิ่นเพื่อชีวิตคนนนท์” เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจมาตั้งแต่ ปี 2540 แต่ก็ไปไม่ถึงไหน เพราะความซ้ำซ้อนของอำนานาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กับท้องถิ่น ข้อเสนอเราจึงเป็นการปรับใหม่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ตนเองทุกเรื่อง เว้นเฉพาะบางเรื่อง เช่น การต่างประเทศ เงินตรา กองทัพ เป็นต้น
ส่วน อปท. ไหนไม่มีศักยภาพก็ร้องขอให้ส่วนกลางมาเสริมได้ และเมื่อมีอำนาจหน้าที่แล้วก็ต้องมีงบประมาณด้วย เราต้องผลักดันสัดส่วนรายได้ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นให้อยู่ที่ร้อยละ 50 ต่อ 50 และในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ที่บอกให้โอนภารกิจต่างๆ นั้น ต้องมีสภาพบังคับตามระยะเวลากำหนด
นอกจากนี้ หลักการที่สำคัญคือ รัฐส่วนกลางเป็นแค่การกำกับดูแลไม่ใช่บังคับบัญชา กระทรวงมหาดไทยจะมาสั่งผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้ ซึ่งในข้อเสนอในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับส่วนภูมิภาคนั้น หากมีการกระจายอำนาจเต็มที่แล้ว เราเสนอทิ้งท้ายให้ภายใน 5 ปี ไปทำประชามติถามประชาชนว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะไม่มีราชการส่วนภูมิภาค โดยรัฐบาลจะต้องทำแผนว่าจะเลิกอย่างไร ถ่ายโอนคนอย่างไร และประกาศล่วงหน้าให้ทุกคนได้รู้เพื่อตัดสินใจชีวิตตนเอง ข้อเสนอของเราถ้าผ่าน ไม่ได้หมายความว่ายุบส่วนภูมิภาคทันที
“สำหรับข้อสงสัยของฝ่ายคัดค้านที่ว่า หากกระจายอำนาจเต็มรูปแบบเกิดขึ้นจริง จะทำให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน กำลังทำให้ประเทศไทยเป็นสหพันธรัฐหรือไม่? ผมขอชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด การมีหรือไม่มีราชการส่วนภูมิภาคไม่เกี่ยวกับเรื่องการเป็นรัฐเดี่ยว อย่างประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น มีราชการส่วนกลางแล้วก็ไปส่วนท้องถิ่นเลย ก็ยังคงเป็นรัฐเดี่ยว ยิ่งถ้าไปดูข้อเสนอของเราข้อแรก เราระบุชัดว่า การแก้ไขตามร่างนี้ภายใต้บังคับมาตรา 1 คือประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ส่วนข้อท้วงติงเรื่องความสัมพันธ์ท้องถิ่นกับส่วนกลางที่ห่วงว่าจะไม่มีนั้น ไม่จริง เพราะส่วนกลางยังยึดโยงกับท้องถิ่นนั่นก็คือการกำกับดูแล นอกจากนี้อำนาจที่กระจายไปให้กับท้องถิ่น ก็เป็นแค่อำนาจบริหารเท่านั้น ส่วนอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ก็ยังคงเป็นของส่วนกลางเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้ คือข้อยืนยันในตัวเองว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราผ่าน ประเทศไทยยังเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนเดิม ไม่มีทางเป็นสหพันธรัฐใดๆ ทั้งสิ้น” นายปิยบุตร ระบุ
นอกจากนี้ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราเสนอผ่าน ราชการส่วนภูมิภาคไม่ได้หายไปทันที ตนและคณะก้าวหน้าไม่ได้มีอำนาจใดที่จะยุบให้หายไปได้ เราบอกแค่ว่าภายใน 5 ปี ให้ไปทำประชามติ ถามประชาชนว่าจะยังคงให้มีอยู่ต่อหรือไม่ ถ้าประชาชนยังคงให้มีต่อไป ก็ยังคงอยู่ แต่ก็จะมีความชัดเจนขึ้นระหว่างภูมิภาคกับท้องถิ่นว่าใครมีอำนาจทำอะไรแค่ไหน ไม่ซ้ำซ้อนกันอีก แต่ถ้าประชาชนอยากให้เลิก รัฐบาลก็เตรียมแผนว่าจะถ่ายโอนข้าราชการ บุคลากรไปทางไหน มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน
ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีคำถามว่าจะอยู่ตรงไหน ในส่วนของผู้ว่าฯ ถ้าทำประชามติแล้วประชาชนยังอยากให้มีราชการส่วนภูมิภาค ผู้ว่าฯ ก็อยู่ต่อ แต่จะทำหน้าที่กำกับดูแลท้องถิ่น ช่วยประสานงาน แต่ไม่ใช่สั่งการท้องถิ่น ในส่วนของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด มีเห็นด้วยเห็นต่าง ปรับกันเรื่อยมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะปฏิรูปปรับปรุงอะไรต่างๆ นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย ที่จะได้มาพูดคุยเจรจากันว่าจะจัดการตรงนี้อย่างไร
“ในส่วนคณะก้าวหน้า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรากำลังรณรงค์เข้าชื่อกันอยู่นี้ ไม่เสนอยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน เราเสนอแค่เรื่องของงาน เงิน คนไปให้ท้องถิ่น จัดภารกิจของส่วนกลางกับท้องถิ่นให้ชัดมากขึ้น แล้วเราก็ทิ้งท้ายว่า อีก 5 ปี ไปทำประชามติว่าส่วนภูมิภาคจะอยู่ต่อไปหรือไม่ ดังนั้น หากข้อเสนอนี้ผ่าน ก็ไม่ใช่ยุบส่วนภูมิภาค ไม่ได้ยุบกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยทันที ต้องไปถามประชามติจากประชาชนก่อน พวกผมไม่ได้มีอำนาจที่จะไปยุบราชการส่วนภูมิภาคหรือยกเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หากข้อเสนอนี้ผ่าน ก็ต้องไปถามประชาชนผ่านประชามติ และเป็นอำนาจของรัฐบาลจะไปพิจารณาต่อว่าเมื่อกระจายอำนาจสมบูรณ์แล้ว จะจัดวางตำแหน่งบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านอย่างไรไม่ให้ซ้ำซ้อนกับท้องถิ่น เช่น ไม่เพิ่มจำนวน ใช้การทยอยลด หรือ ปรับเป็นพนักงานราชการท้องถิ่น หรือสร้างสภาพลเมืองประจำท้องถิ่นที่มีคนในท้องถิ่นสลับหมุนเวียนมาเป็นโดยมีกำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในนั้นด้วย เป็นต้น
ทุกข้อถกเถียงต้องมาพูดคุย แต่อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันอีกครั้งว่าถ้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ที่เรากำลังรณรงค์เข้าชื่อภายใต้แคมเปญปลดล็อกท้องถิ่นครั้งนี้ผ่าน ไม่ได้ยกเลิก หรือไปยุบอะไรอย่างแน่นอน ทั้งหมดจะชอบธรรมได้ก็ต้องไปถามประชาชนผ่านประชามติ” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รู้ทันกลเกมนักการเมือง แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ใครได้ใครเสีย?
ประชาธิปไตยจะไม่มีทางเบ่งบานได้เลย หากประชาชนยังไม่รู้เท่าทันกลเกมของนักการเมือง ที่มักแอบอ้างประชาชนในการกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน การเมืองไทยทุกวันนี้ยังคงเป็นพื้นที่ของคนรวยที่อยากมีอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไป หรืออยากได้อำนาจรัฐมา
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ร่างแก้ไขรธน.เพิ่มหมวด 15/1 ตั้งสสร.ร่างรธน.ฉบับใหม่ มีผลเท่ากับยกเลิกรธน.ทั้งฉบับ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมขอมติจากที่ประชุม สส.ของพรรค เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคจัดทำไว้เสนอประกบกับร่างของ
รักษาจุดยืนพรรค ’ชูศักดิ์’ ปัดตอบ ‘พริษฐ์’ มอง พท. มีโอกาสกลับลำไม่แก้ รธน. บางประเด็น
’ชูศักดิ์‘ ปัดคอมเมนต์ ‘พริษฐ์’ มอง ‘เพื่อไทย’ มีโอกาสกลับลำไม่แก้บางประเด็น ย้ำชัดต้องรักษาจุดยืนของพรรค โยน ‘วิสุทธิ์’ ตัดสินใจประชุมร่วมฯ แก้ รธน. 14-15 ม.ค.หรือไม่ เมิน เสียงวิจารณ์ พท.คว่ำร่าง ปชน.บอกเป็นแค่เสียง ต้องรอดูถกในสภาฯ
‘คำนูณ’ ยันแก้ รธน. มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ ต้องมีประชามติ สอบถาม ปชช.ก่อน
จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้วว่าทำได้ แต่จะต้องจัดให้มีประชามติสอบถามประชาชนเสียก่อน
'ชูศักดิ์' เผยครม.ติดจรวจ กม.เพื่อปชช. หาช่องแก้ม. 256 ดันรธน.ใหม่ทันรัฐบาลนี้
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอกฎหมายต่อสภาฯในนามรัฐบาล ว่า สิ่งที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนนโยบายทางด้าน
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ชัด 'ประชามติชั้นเดียว' แค่ยกแรก 'แก้รธน.ทั้งฉบับ' เจอด่านหิน-นโยบายขายฝัน!
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ กลไกแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านด่านหินยาก แม้เพื่อไทยใช้เทคนิคช่องทางพ้น 180 วัน ผ่านร่าง พรบ.ประชามติ เป็นเพียงนโยบายในฝัน