'เหวง' ร่ายยาว 30 พฤษภาทมิฬ ไล่เรียงตั้งแต่รัฐประหารยุค รสช.ถึง คสช. ก่อนตบท้ายเผด็จการทหารแบะระบอบยึดอำนาจซ่อนรูปยิ่งใหญ่กว่าเดิม
05 พ.ค.2565 - นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า 30 ปีพฤษภาทมิฬ เผด็จการทหารและระบอบยึดอำนาจแบบประชาธิปไตยซ่อนรูป กลับเข้มแข็งเติบใหญ่กว่าเดิม แม้การเคลื่อนไหวระลอกสุดท้ายเมื่อปี35 จะเป็นการต่อต้านการดำรงตำแหน่งของสุจินดาก็ตาม แต่แก่นแท้ของการเคลื่อน ปี35 ทั้งหมดอยู่ที่การต่อต้านรัฐประหาร และสร้างสรรค์ประชาธิปไตย
กรณีพฤษภา35ทั้งหมด เริ่มต้นที่การยึดอำนาจรัฐประหารของ รสช.เมื่อ 23 ก.พ.34 ด้วยข้ออ้างห้าประการซึ่งภายหลังได้ประจักษ์แล้วว่า "เป็นเท็จทั้งสิ้น" จากนั้นก็เป็นไปตาม "สูตรสำเร็จของคณะรัฐประหาร" จัดทำรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารโดยเนติบริกรเดิมๆ เพื่อปกป้องและสืบทอดอำนาจของพวกยึดอำนาจรัฐประหารยาวนานต่อไป
ตามมาด้วยการเลือกตั้งใหม่ที่ทำให้ กลุ่มพวกของคณะรัฐประหารกลับมาจัดตั้งรัฐบาล ในครั้งนั้นด้วยความชะล่าใจของพวก รสช. ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ณรงค์ วงศ์วรรณ ไม่อาจจะเป็น นรม.ได้ สุจินดา คราประยูรจึงต้องเข้ามาเป็นเองอันเป็น จุดตายของ รสช. เพราะต้องกลืนน้ำลายตนเอง และเผยธาตุแท้ที่ต้องการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพวกเขา จนเป็นเหตุให้เกิดกรณี นองเลือดพฤษภาทมิฬ ลงเอย ด้วยพวกเขาต้องหลุดพ้นออกไปจากวงจรของอำนาจโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่ได้มาจากการสูญเสียวีรชนประชาธิปไตยจำนวน 44 ท่าน (ตัวเลขทางการ ความจริงควรจะมากกว่านั้น)ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญของ รสช.เพียงสองมาตรา คือ 1.นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. 2.ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นประธานรัฐสภา
การเลือกตั้งหลังพฤษภาทมิฬ35 พรรคประชาธิปัตย์ ใช้วาทกรรม "จำลองพาคนไปตาย" "ไม่ต้องเสียใจไม่ต้องหลั่งน้ำตาเลือกประชาธิปัตย์" "เอาคำบรรยายเรื่องอนาธิปไตย ของ สองมหาบุรุษประชาธิปไตยไทย อ.ปรีดี และ อ.ป๋วยมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง" มาโจมตีการเคลื่อนไหวพฤษภาทมิฬของประชาชน ผู้ต่อสู้กับกระสุนปืนของ รสช. สร้างกระแสจน พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดตั้งรัฐบาล และนายชวน หลีกภัย ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่ พรรคพลังธรรม อยู่ในกระแสสูงทางการเมืองอย่างเชี่ยวกราก แต่ก็ยังพ่ายแพ้กับ ความเหนือชั้นกว่าทางการเมือง ของพรรคประชาธิปัตย์โดยสิ้นเชิง
รัฐธรรมนูญ 2540 นั้น มาจากการเริ่มต้นของ เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วง รัฐบาลชวนหลีกภัย ที่ปฏิเสธในการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ รสช.แล้วให้ ส.ส.ทั้งสภายกร่างกันเอง แต่ในที่สุดภายหลังการโต้แย้งทางการเมืองและกฎหมายของสมาพันธ์ประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องไปสร้างฉากการเมือง ตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเมืองโดยมี ประเวศ วะสีเป็นประธาน เพื่อมากลบเกลื่อนเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นแทนฉบับ รสช. ซึ่งก็ได้ผลเป็น "เอกสารกองโต"เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งกอง
ภายหลังเหตุการณ์ "สปก.4-01ที่รัฐบาลชวนออกเอกสารที่ดินให้กับมหาเศรษฐีของพวกประชาธิปัตย์กันเอง"บังคับให้นายกฯ ชวนต้องประกาศยุบสภา เพื่อหนีการคว่ำกลางสภา บรรหาร ศิลปอาชาจึงนำเรื่องการแก้ ม.211 มาเป็นนโยบายเพื่อให้เกิด สสร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ ในที่สุดจึงได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง หรือรัฐธรรมนูญประชาชน
ภายหลังจาก 30 ปีผ่านพ้นไปจนมาถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญ 40พิสูจน์แล้วว่าประชาชนสามารถที่จะแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้ผ่านการเลือกตั้ง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและประเทศดีขึ้นได้ผ่านระบอบประชาธิปไตยผ่านหนทางรัฐสภา สร้างความโกรธแค้นชิงชังอย่างหนักหนาสาหัสให้กับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยม ที่พวกเขาสูญเสียบทบาทที่จะครอบงำอำนาจทางการเมืองของประเทศไทยอีกต่อไป พวกขวาจัดอำนาจนิยม จึงดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน จนนำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา49 ตั้งรัฐบาลสุรยุทธ์เขียนรัฐธรรมนูญ 50 แต่ประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองแล้ว ก็ไม่สยบยอมต่อ อำนาจรัฐอนุรักษ์นิยมจารีตอำนาจนิยมอีกต่อไป จึงเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านใหญ่โต ตั้งแต่ ปี 49 ปี 50 ปี 51 ปี 52 จนเกิดการรุมยิงนกในกรง "ฆ่าประชาชนสองมือเปล่ากลางเมืองโดยทหารกองทัพไทยอีกในปี 53"
การเลือกตั้งปี 54 ก็ยังไม่สนองตอบความต้องการของพวกอนุรักษ์จารีตอำนาจนิยมอีก พวกเขาจึงยึดอำนาจรัฐประหารอีกครั้งใน 22 พ.ค.57 ในชื่อ คสช. คสช.เขียนรัฐธรรมนูญแล้วผ่านประชามติกำมะลอ เพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 60 ครั้งนี้พวกอนุรักษ์จารีตอำนาจนิยมได้แก้ไขทุกอย่างที่เป็นจุดอ่อนของพวกเขาเอาไว้จนทำให้พวกเขาสามารถครองอำนาจต่อเนื่องอย่างน้อยเมื่อนับถึงปี 2565 เป็นเวลาแปดปี รัฐธรรมนูญ 60 ของ คสช.สร้างความแข็งแกร่งให้กับพวกยึดอำนาจอนุรักษ์จารีตนิยมไว้อย่างมั่นคง นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส.คสช.แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ที่มีอำนาจทางการเมืองสูงมากเช่น มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเลือกองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
องค์กรอิสระที่มาจาก คสช.มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบ หรือกระทั่งถอดถอน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ ยังมีเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องจริยธรรมนักการเมือง ที่คอยควบคุมตรวจสอบหรือกระทั่งถอดถอน ส.ส.ได้เช่นกันและอีกสารพัดเรื่อง
กฎเกณฑ์การคำนวณจำนวนสส.ที่เรียกกันง่ายๆว่า "จัดสรรปันส่วนแบบผสม" โดยมอบอำนาจให้กับ กกต.ดำเนินการ ในทางปฏิบัติที่เป็นจริง เกิดความสับสนอย่างมากมาย จึงเกิดการเลือกปฏิบัติ ระหว่างฝ่าย บางฝ่ายจะต้องได้คะแนนเสียงประชาชนกว่าเจ็ดหมื่นขึ้นไปจึงได้สส.หนึ่งคน บางฝ่ายระดับหมื่นต้นๆก็ได้เป็นส.ส. บางกรณีเพียง พันเจ็ด ก็ได้เป็น ส.ส.แล้ว จนมีคำล้อเลียนว่า "ตั๊นพันเจ็ด" ก็ได้เป็น ส.ส.แล้ว
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุในหมวด 15 มาตรา 256 ก็เป็นไปได้ยากลำบากมาก เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.อย่างน้อยหนึ่งในสาม (84เสียง) และบางกรณีต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคอย่างน้อย 20% ดังนั้นโอกาสที่รัฐธรรมนูญ60ที่จัดทำโดย คสช.ผ่านประชามติกำมะลอ จะได้รับการแก้ไขหรือจัดทำใหม่จากประชาชนโดยตรง เป็นไปได้ยากมากหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นหลังพฤษภาทมิฬ 30 ปี ประเทศไทยสังคมไทย จึงอยู่ในสภาวะที่เผด็จการทหารและระบอบยึดอำนาจแบบประชาธิปไตยซ่อนรูปกลับเข้มแข็งเติบใหญ่กว่าเดิม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' ประเดิม 18 ธ.ค. บุก ป.ป.ช. หึ่งล็อบบี้หนักล้มคดีชั้น 14
วงหารือฝ่ายต้านรัฐบาล ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' นำร่อง 18 ธ.ค. บุกตึก ป.ป.ช. หลังได้กลิ่นล็อบบี้หนัก 3 กรรมการฯ ล้มคดีชั้น 14
เปิดเซฟ 2 อดีตคสช. ในรอบ 10 ปี 'พล.ร.อ.ณรงค์-พล.อ.ธนะศักดิ์'
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณี สว.พ้นจากตำแหน่ง หลายราย
'จตุพร' ลั่นไม่อยากเห็นประชาชนลงถนน รัฐบาลก็อย่าทำโครงการขายแผ่นดิน
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า สถานการณ์การเมืองเริ่มไม่แน่นอนขึ้น เพราะการตรวจสอบชั้น 14 ใกล้เสร็จและต้องไปถึงศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย
มีสะดุ้ง!หมอเหวงบอก 'ณัฐวุฒิ' แก่นของมนุษย์คือความจริงใจต่อตัวเองถ้าไม่มีจบ
เพจยูดีดีนิวส์ - UDD news ซึ่งเป็นเพจรายงานข่าวและความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง
อดีตบิ๊กศรภ. จี้รัฐบาลแพทองฯ ทำกรณีทหารกับเสื้อแดง ให้ยุติเสียที
พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กว่าเรื่องทหารกับเสื้อแดง
'เหวง' สุดช้ำคนผลักดันฟื้นความยุติธรรมเสื้อแดงไม่ใช่พรรคสีแดง!
นพ.เหวง โตจิราการ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำคนเสื้อแดง