'คำนูณ' เตรียมสับร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญามาตรา 6 (2)- มาตรา 55 (4)

'คำนูณ' ออกบทความร่าวยาวเรื่องร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ บอกอย่าเพิ่งด่วนปิดช่องร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา กรณีให้อัยการ่วมสอบคดีสำคัญตั้งแต่ต้น

21 เม.ย.2565 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กในรูปแบบบทความหัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจวาระ 2-3 อย่าด่วนปิดทางร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา-ให้อัยการร่วมสอบสวนคดีสำคัญ!” มีเนื้อหาว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ง. (2) และ (4) ในส่วนของระบบการสอบสวนคดีอาญานั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี 2 ครั้ง 2 หนทั้งในปี 2561 และ 2562 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน ได้แยกบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา เป็น 2 ด้านของเหรียญ โดยฉบับแรกเป็นด้านภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สร้างสายงานสอบสวนให้เป็นสายงานเฉพาะ มีผู้บังคับบัญชาของตนเอง มีความเป็นอิสระในการทำสำนวนคดี ส่วนฉบับหลังเป็นด้านภายนอก กำหนดให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนตั้งแต่ต้นในคดีสำคัญ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับยกร่างเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2561 ต่อต้นปี 2562

แต่รัฐบาลส่งเข้ารัฐสภามาเพียงแค่ฉบับแรก เมื่อต้นปี 2564 หลังผ่านการปรับแก้จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว โดยหนึ่งในประเด็นที่ถูกปรับแก้ลดความเข้มข้นลงคือความเป็นสายงานเฉพาะและความเป็นอิสระในการทำสำนวนคดีของพนักงานสอบสวน

ส่วนฉบับหลังรัฐบาลยังไม่ส่งเข้ามา

จริงอยู่ ในทางทฤษฎีแล้วร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา หรือพูดให้เข้าใจง่ายว่าร่างกฎหมายให้อัยการเข้าร่วมสอบสวนกับตำรวจตั้งแต่เริ่มต้นในคดีสำคัญ จะยังไม่ถึงกับ ‘แท้ง’ เสียทีเดียว ยังอยู่ เพียงแต่วันนี้รัฐบาลยังไม่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น โดยล่าสุดทราบว่าคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ให้ชะลอการเสนอรัฐสภาไว้ก่อน เพื่อรอความสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ที่อยู่ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการของรัฐสภา โดยคาดว่าจะส่งกลับเข้ารัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2 และ 3 ได้ภายในสมัยประชุมที่จะเปิดวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้ (โปรดดูภาพประกอบที่ 1 หนังสือจากผู้ปฎิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 3 ธันวาคม 2565)

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยากที่จะเชื่อได้ว่าร่างกฎหมายให้อัยการร่วมสอบสวนจะมีโอกาส ‘คลอด’ ได้ง่าย ๆ ครับจะไม่พูดถึงเวลาของสภาผู้แทนราษฎรที่มีเหลืออยู่น้อยมาก แต่จะขอพูดถึงกระบวนการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯ กับร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา เป็น ‘กฎหมายคู่’ ซึ่งบางทีก็เรียกว่า ‘กฎหมายพวง’ ในชั้นยกร่างฯก็กระทำโดยคณะกรรมการชุดเดียวกัน โดยปกติแล้วร่างกฎหมายคู่กันทำนองนี้รัฐบาลสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้พร้อมกัน และพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการชุดเดียวกันเพื่อให้เนื้อหาสอดคล้องกันป้องกันความลักลั่น ประมาณเดียวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่เสรอเข้ามาพร้อมกันและกำชับพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการชุดเดียวกันอยู่ในขณะนี้แหละครับ

แต่รัฐบาลกลับส่งเฉพาะร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติเข้ามาฉบับเดียวเมื่อต้นปี 2564 โดยในขณะนั้นยังไม่ได้มีมติว่าจะชะลอร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาไว้ก่อนแต่ประการใด เพิ่งมามีมติเอาในอีกเกือบ 1 ปีถัดมา จะเพราะมีคนติดตามถามไถ่กันมากหรือเปล่า ไม่ทราบ และไม่ขอวิจารณ์

ถ้าจะพูดดันตรงไปตรงมา เหตุผลสำคัญจริง ๆ ก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานปฏิบัติ คัดค้านร่างกฎหมายที่บัญญัติให้อัยการเข้าร่วมสอบสวนกับตำรวจตั้งแต่ต้นในคดีสำคัญฉบับนี้อย่างเต็มที่ เหมือนที่คัดค้านร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ในบางประเด็นสำคัญและรัฐบาลยอมให้มีการแก้ไขปรับปรุงก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา หน่วยงานผู้ปฏิบัติคัดค้านไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะในเรื่องใหญ่ที่จะเป็นการปฏิรูปใหญ่อย่างเรื่องการให้อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนตั้งแต่ต้นในคดีสำคัญ
แน่นอน รัฐบาลต้องรับฟัง แต่คำว่า ‘รับฟัง’ ทั้งตัวสะกดและความหมายไม่เหมือนกับคำว่า ‘เชื่อฟัง’ นะ

รัฐบาลในฐานะฝ่ายการเมืองมีความเห็นเชิงนโยบายในที่สุดอย่างไร ควรที่จะชั่งน้ำหนักแล้วตัดสินใจให้ชัดเจน และบอกกล่าวตรง ๆ กับประชาชน ผมเองในฐานะประชาชนคนหนึ่งอาจจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับรัฐบาล แต่รับได้ครับ รับได้มากกว่าแทคติกการอ้างโน่นอ้างนี่ไปเรื่อย ๆ จนหมดเวลา

ทีนี้ ในขณะที่รัฐบาลอ้างว่า ‘พิจารณาความสอดคล้อง’ กับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ผมจะพาพวกเรามาดูผลการพิจารณาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ของคณะกรรมาธิการฯที่ทำหน้าที่มากว่า 1 ปีแล้ว
เพราะในฐานะที่เป็น ‘กฎหมายคู่’ ในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติย่อมมีการอ้างอิงหรือกล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาไว้ด้วย ปรากฏว่ามี 2 มาตรา
- มาตรา 6 (2)
- มาตรา 55 (4)

มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติบททั่วไปกล่าวถึงภาพรวมแห่งอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในอนุมาตรา (2) เขียนไว้ว่า…“ดูแล ควบคุม และกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจซึ่งปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น”

คำว่า ‘และกฎหมายอื่น’ นี่ไม่มีอยู่ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนะครับ ผู้ร่างจงใจให้หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาซึ่งเป็นกฎหมายคู่กันและยกร่างขึ้นมาพร้อมกัน หรือกฎหมายอื่นใดที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต

มาตรา 55 เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผบ.ตร. โดยในอนุมาตรา (4) บัญญัติไว้ว่า…“วางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องไว้ให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น ระเบียบหรือคำสั่งดังกล่าวจะขัดหรือแย้งต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญา มิได้”

ประเด็นอยู่ที่คำว่า ‘หรือกฎหมายอื่น’ และ ‘กฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญา’ ครับ เป็นการเขียนเพื่อรองรับร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาที่เป็นกฎหมายคู่กัน เกิดอะไรขึ้นกับมาตรา 6 (2) และมาตรา 55 (4) ทราบมั้ยครับ กรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติให้แก้ไขโดยตัดคำว่า ‘และกฎหมายอื่น’, ‘หรือกฎหมายอื่น’ และ ‘กฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญา’ ออกครับ

(ดูภาพประกอบที่ 2 และ 3 ภาพถ่ายร่างรายงานของคณะกรรมาธิการมาตรา 6 และมาตรา 55 ดูตัวพิมพ์ที่ถูกตัดออก ซึ่งเป็นรูปแบบรายงานการพิจารณามาตรฐานของกรรมาธิการ เพื่อให้สมาชิกเห็นว่ามติของกรรมาธิการตัดหรือเพิ่มเติมข้อความใด ถ้าตัดก็จะพิมพ์ให้เห็นเป็นตัวขีดฆ่าข้อความเดิมทีละตัวอักษร ถ้าเพิ่มเติมข้อความใดก็จะพิมพ์ขีดเส้นใต้ข้อความที่เพิ่มเติมใหม่นั้น)

แปลว่าอะไร ? แปลว่าถ้ามติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระ 2 เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็มีอำนาจหน้าที่และการออกระเบียบและคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับเดียว ต่อไปในอนาคตหากมีพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาหรือกฎหมายอื่นออกมากำหนดกระบวนการทำงานของข้าราชการตำรวจอีกก็จะเกิดปัญหาทันที เพราะกฎหมายหลักของตำรวจไม่เปิดช่องไว้ให้ต้องปฏิบัติตาม จะมีข้อถกเถียงในทางหลักการตามมา
หรือนี่จะเป็น ‘ความสอดคล้อง’ กับร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯฉบับใหม่ที่รัฐบาล ‘รอ’ อยู่ ?

แน่นอนครับ ผมแจ้งต่อฝ่ายเลขานุการว่าขอสงวนความเห็นให้คงไว้ตามร่างฯเดิมในมาตรา 6 (2) และ 55 (4)
ทั้งนี้ ก็เพียงแค่เพื่อให้ ‘เปิดช่อง’ ไว้สำหรับรองรับร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา หรือกฎหมายอื่นในอนาคตนอกเหนือจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ร่างกฎหมายที่ว่านั้นจะมาหรือไม่ เมื่อไร และสุดท้ายจะมีหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่าด่วนไปปิดช่อง เขียนไว้ตามร่างฯเดิมไม่เสียหาย

ผมไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าสุดท้ายแล้วจะต้องมีร่างกฎหมายใหม่ให้อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนตั้งแต่ต้นในคดีสำคัญ เพราะขึ้นอยู่กับรัฐบาลและรัฐสภาในอนาคต เป็น 2 ใน 43 มาตราที่ผมสงวนความเห็นไว้ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย จะแพ้หรือชนะไม่ว่าใน 2 มาตรานี้หรือมาตราอื่น ๆ ไม่ทราบ

สำหรับผมแพ้ชนะไม่สำคัญ ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อบันทึกไว้ซึ่งหลักการการทำงานของตัวเองที่บังเอิญเข้ามาอยู่กับความพยายามในการปฏิรูปตำรวจรอบสุดท้ายนี้มา 5 ปีแล้ว และขอใช้สิทธิอภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระ 2 สั้น ๆ เน้น ๆ ตามความเข้าใจของตัวเองในแต่ละประเด็น จุดประกายให้สมาชิกช่วยกันต่อยอดอภิปราย คงอภิปรายกันพอสมควรละครับ โดยเฉพาะ 2 มาตราที่จะ ‘เปิดทาง’ หรือ ‘ปิดทาง’ ร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา ตามที่เขียนเล่ามานี่ เพราะเป็นการแก้ไขของกรรมาธิการ สมาชิกสามารถอภิปรายได้ทุกคนแม้จะไม่ได้ยื่นและสงวนคำแปรญัตติไว้ก็ตาม สุดท้ายก็สุดแต่สมาชิกจะลงมติอย่างไร

รัฐบาลก็คงบอกว่า ‘เป็นเรื่องของรัฐสภา’ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เพราะหลักการของร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติเขียนเปิดกว้างไว้รัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไรก็ได้ ก็ถูก ไม่ผิด

แม้ว่าเสียงข้างมากของรัฐสภาคือเสียงสนับสนุนรัฐบาลก็จริง แต่ระบบรัฐสภาก็ ‘เป็นเช่นนั้นเอง’ แหละ รัฐบาลไม่ได้เข้ามาหรือไม่อาจเข้ามากำกับเสียงในทุกเรื่องทุกประเด็นเสมอไป โดยเฉพาะเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและมีความเห็นต่างกันมากเช่นนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ใกล้การเลือกตั้งทั่วไปเช่นช่วงเวลานี้ แต่รัฐบาลที่บริหารประเทศในช่วงที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติบังคับในเรื่องการปฏิรูปประเทศควรจะปฏิบัติเช่นรัฐบาลทั่ว ๆ ไปหรือไม่ ?

และอันที่จริง ถ้าจะใช้ตรรกะ ‘เป็นเรื่องของรัฐสภา’ รัฐบาลก็ไม่ควรกักร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาไว้ เร่งส่งเข้ามาให้รัฐสภาตัดสินใจจะดีกว่าหรือไม่ ? รัฐบาลควรต้องตอบคำถามในวาระครบ 5 ปีของการปฏิรูปประเทศที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ !

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘คำนูณ’ ยันแก้ รธน. มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ ต้องมีประชามติ สอบถาม ปชช.ก่อน

จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้วว่าทำได้ แต่จะต้องจัดให้มีประชามติสอบถามประชาชนเสียก่อน

มติ 153 สว. ยืนประชามติ 2 ชั้น! อบรม 'ไอติม' พูดได้ไงจะมีผู้รณรงค์ให้ปชช.นอนหลับทับสิทธิ์

สว. ยกมือพรึ่บ 153 เสียง ผ่านกม.ประชามติ ฉบับกมธ.ร่วมฯ ยึดเสียงข้างมากสองชั้น ก๊วนสว.พันธุ์ใหม่ โวยดัดจริต สองมาตรฐาน โธ่! "ไอติม" โชว์กึ๋นนักเรียนนอก บอกสองชั้นเปิดช่องรณรงค์ให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ์ สว.สีน้ำเงิน สวนทันควันใครจะกล้าทำแบบนั้น

สว.ปฏิมา กังวลกระบวนการยุติธรรมไทยกำลังถูกสั่นคลอนหนัก!

นายปฏิมา จีระแพทย์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ปัจจุบันนี้ เราต่างทราบดีว่า การรักษาความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศคื

กกต. ยื้อ 'หมอเกศ' เลื่อนถกคุณสมบัติจบดอกเตอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) ยังไม่ได้มีการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบกรณีพ.ญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย  สมาชิกวุฒิสภา (สว.)​ ถูกร้องว่ากระทำการหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ