เปิด งานวิจัย การชุมนุมที่แยกดินแดง ชีวิตพลิกผันเพราะรัฐล้มเหลว การเผชิญหน้าคือ ทางออกสุดท้าย โดย ผศ.ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และ ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ศึกษาถึงที่มาที่ไปของการเกิดขึ้นของการชุมนุมที่แยกดินแดง
27 ต.ค.2564 - เว็บไซต์ ilaw เผยแพร่ งานวิจัยการชุมนุมที่แยกดินแดง ชีวิตพลิกผันเพราะรัฐล้มเหลว การเผชิญหน้าคือ ทางออกสุดท้าย มีเนื้อหาที่่น่าสนใจดังนี้
เปิด งานวิจัยการชุมนุมที่แยกดินแดง ชีวิตพลิกผันเพราะรัฐล้มเหลว การเผชิญหน้าคือ ทางออกสุดท้าย
อ่านรายงานฉบับเต็ม ได้ทาง https://ilaw.or.th/node/5997
ระหว่างวันที่ 17 สิงหาคมถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่แยกดินแดงมีการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระที่รู้จักกันในชื่อ "ทะลุแก๊ซ" ไม่น้อยกว่า 46 ครั้ง การเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐบาล จากเดิมที่รูปแบบการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่มีการปราศรัยและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงมีการใช้สิ่งของ เช่น ประทัดยักษ์ ระเบิดไล่นกและระเบิดปิงปองในการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ ลักษณะของการชุมนุมเช่นนี้นำไปสู่การตั้งคำถามของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม
ผศ.ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และ ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ทำการศึกษาถึงที่มาที่ไปของการเกิดขึ้นของการชุมนุมที่แยกดินแดง ในรายงานเบื้องต้นเรื่องการก่อตัว พัฒนาการและพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 มีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้
----
ผู้ชุมนุมดินแดง : ต้นทุนชีวิตติดลบ สู้จนเริ่มมีชีวิตที่ดีแต่ต้องพ่ายให้โควิด 19
จากการศึกษาโดยการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมการชุมนุม 30 ตัวอย่างพบว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน ชนชั้นล่างในสังคม ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีงานแบบชั่วคราว, งานที่ได้รับค่าจ้างต่ำและไม่มีความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า พวกเขาหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อยและต้องเริ่มทำงานหนัก ทำให้ขาดโอกาสและทางเลือกในชีวิต ร้อยละ 16 จบการศึกษาชั้นป.6 ร้อยละ 57 จบการศึกษาชั้นม.3
พวกเขามองว่า การเรียนในโรงเรียนไม่ได้ตอบโจทย์กับความอยู่รอดของเขาและโรงเรียนขาดระบบการประคับประคองและติดตามให้เยาวชนชั้นล่างให้กลับสู่ระบบการศึกษา ทั้งโรงเรียนยังเต็มไปด้วยความรุนแรงของเพื่อนนักเรียนที่ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยมองว่า พวกเขายากจนและตีตราพวกเขา ซ้ำยังมีการปล่อยปละละเลยของครูในการขจัดความรุนแรงที่เยาวชนเหล่านี้ต้องเผชิญ
ผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การถูกรีดไถเรียกค่าคุ้มครอง, การถูกกวาดจับร้านค้าหาบเร่แผงลอยและการถูกคดียัดยาเสพติด รวมทั้งกรณีที่ตำรวจมักจะเลือกตรวจสอบรถจักรยานยนต์ของพวกเขามากกว่ารถเก๋ง ทั้งหมดเป็นประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบและความโกรธที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐอย่างลึกซึ้ง
ก่อนการเกิดวิกฤติโควิด 19 กลุ่มเหล่านี้พอที่จะลืมตาอ้าปากเลี้ยงดูตัวเองได้บ้าง ไม่ใช่อันธพาลหรือคนที่ไร้อนาคตอย่างที่สังคมมอง มีบางส่วนที่เคยร่วมการชุมนุมกับขบวนการนักเรียน นักศึกษาในปีที่ผ่านมาและรู้สึกไม่พอใจและต้องการที่จะเห็นการชุมนุมที่สามารถกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 20 เข้าร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 33 เข้าร่วมการชุมนุมเป็นครั้งคราว ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2563
----
ออกมาสู้เพราะความยากจนไม่ใช่โชคชะตาแต่คือความขาดประสิทธิภาพของรัฐบาล
จากการสัมภาษณ์พบว่า ผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงทั้งหมดได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างหนัก ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาเป็นแรงงานนอกระบบในภาคบริการและท่องเที่ยว เป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ถูกให้ออกจากงานหรือลดเงินเดือน ส่งผลให้หลายคนต้องถอยกลับไปที่ชีวิตยากจนและต้นทุนที่ติดลบที่พวกเขาเคยก้าวข้ามมันมาได้แล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลมีการเยียวยา แต่ไม่ได้เพียงพอและไม่ทั่วถึง ผู้ให้ข้อมูลจำนวนมากที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ได้รับการเยียวยาและไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐเช่น ประกันสังคม การเข้าถึงบริการสุขภาพก็เช่นกัน 28 จาก 30 คนยังไม่ได้รับวัคซีนสักเข็มเดียว
นายจ้างอาจกำหนดให้มีการรับวัคซีนและผลตรวจโรคแบบ PCR จึงจะสามารถทำงานได้ ดังนั้น การเข้าถึงวัคซีนและการคัดกรองเป็นประตูที่จะทำให้พวกเขาจะสามารถกลับไปทำงานได้ เมื่อไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนและการคัดกรอง นั่นหมายถึงการสูญเสียโอกาสในการหาเลี้ยงชีพของพวกเขา
ผู้ชุมนุมเหล่านี้เชื่อมโยงปัญหาเศรษฐกิจและความยากลำบากที่พวกเขาเผชิญกับโครงสร้างของรัฐและระบบราชการ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงเข้ากับสถาบันกษัตริย์แบบที่ขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนที่มีลักษณะของชนชั้นกลางมอง ผู้ให้ข้อมูลทุกคนบอกว่า โควิด 19 เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่พวกเขาต้องเผชิญมาตลอด ประกอบเข้ากับปัจจัยกระตุ้น คือ การที่รัฐไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเสนอของขบวนการเคลื่อนไหวในปี 2563 ไม่มีท่าทีประนีประนอมและเปิดพื้นที่รับฟัง สวนทางกับการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ ที่ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาล เช่น ผู้ประกอบการและเกษตรกร
ปัจจัยกระตุ้นอีกประการ คือ ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อผู้ชุมนุมในช่วงต้นปี 2564 และการขยายตัวของความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกดินแดง ทั้งหลายทั้งปวงรวมเป็นการเคลื่อนไหวแบบการเผชิญหน้าและพวกเขาเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ข้อเรียกร้องหลักของพวกเขาคือ ส่งเสียงให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองรับรู้ปัญหาของพวกเขาและเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง
----
เมื่อการต่อสู้แบบเดิมไม่ได้ผลจึงต้องเผชิญหน้าต่อต้านรัฐ
ในคำถามที่ว่า ทำไมผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงถึงเลือกการเคลื่อนไหวแบบเผชิญหน้า ผู้วิจัยแบ่งเหตุผลเป็น 4 ประการดังนี้
1. พวกเขามองว่า สันติวิธีแบบเดิมไม่ได้ผล ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะเรียบร้อยและใช้สันติวิธีเพียงใด เจ้าหน้าที่รัฐก็ปฏิบัติรุนแรงไม่ต่างกัน ผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งกล่าวว่า "พี่ดูสิ ต่อให้ไม่ใช่ที่นี่ ต่อให้เป็นม็อบอื่นทำอะไรมัน [ตำรวจ] ก็ตี อยู่เฉยๆมันก็ตี ยืนเป็นระเบียบแค่ไหนมันก็ตีอยู่ดี มานี่เรายังได้เห็นว่า มันก็กลัวเป็น สะดุ้งเป็นเหมือนกัน" มีผู้ให้ข้อมูลหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเผชิญหน้าเช่นนี้ แต่ก็ยอมรับว่า การชุมนุมแบบเดิมเน้นการปราศรัยและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อาจจะไม่ได้ผล กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการปะทะยังคงเข้าร่วม แต่มีบทบาทเป็นแนวหลังในการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ชุมนุมแนวหน้า
2. การเคลื่อนไหวลักษณะนี้เป็นการกระทำที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นการต่อต้านโดยประชาชนหรืออารยะขัดขืน (Civil resistance) เน้นการท้าทายอำนาจรัฐ ไม่เคยทำร้ายหรือสร้างความเสียหายให้เอกชนหรือบุคคลทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง พวกเขามีการเลือกพื้นที่ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป มีการให้ข้อมูลว่า เหตุที่ย้ายไปเผชิญหน้าที่หน้ากรมดุริยางค์ทหารบกและถนนมิตรไมตรีเพราะชาวแฟลตดินแดงเริ่มรู้สึกเป็นอันตรายจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ
3. ความรุนแรงจากโครงสร้างสังคมกำกับแนวทางการจัดการความขัดแย้งของผู้ชุมนุม ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เติบโตมาท่ามกลางปัญหา ข้อจำกัดและการกระทำความรุนแรง ต้นทุนและอำนาจการต่อรองกับปัญหาความรุนแรงต่างๆ มีน้อยกว่าเยาวชนชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในสังคม ทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่แยกดินแดง ซึ่งเต็มไปด้วยชนชั้นล่างนั้นแตกต่างกับขบวนการเคลื่อนไหวที่ผู้ชุมนุมมีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจสูง การปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นไปด้วยพวกเขามีทรัพยากรจำกัด รอไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต้องการให้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญจบโดยไว
ผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งบอกว่า “ม็อบปีที่แล้วเป็นม็อบของคนรู้หนังสือ แต่ม็อบดินแดงม็อบที่ผมมาเป็นม็อบของคนไม่รู้หนังสือ” กิจกรรมที่เกิดขึ้นที่แยกดินแดงไม่ซับซ้อนและพวกเขาลงมือทำได้เลยทันที แต่จากการสัมภาษณ์นั้นพบว่า ความหมายของการไม่รู้หนังสืออาจเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียน แต่เขามีความรู้และสำนึกทางการเมือง เขาสามารถเล่าความประทับใจของการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและการเคลื่อนไหวของวีรชนเดือนตุลา
4. การใช้วิธีการเคลื่อนไหวแบบเผชิญหน้า ปะทะ และตอบโต้ เป็นทางเลือกสุดท้ายที่เยาวชนลูกหลานชนชั้นล่างที่กำลังเผชิญปัญหาความเป็นความตายในชีวิตอยู่ทุกวัน ผู้มีต้นทุนในการต่อสู้น้อยและพวกเขาเชื่อว่านี่เป็นวิธีการที่หนักที่สุดที่จะสามารถกดดันรัฐบาลและผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ พวกเขาไม่สามารถตอบได้ เพียงตอบว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้ว
----
เสนอ 3 ทางออก : หยุดความรุนแรง, รับฟังข้อเรียกร้องและปกป้องเยาวชนชนชั้นล่าง
ผู้วิจัยเสนอทางออกไว้ 3 แนวทาง แนวทางแรก คือ ให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดใช้ความรุนแรงที่เป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ชุมนุมออกมาชุมนุม ที่ผ่านมาการปราบปรามของรัฐด้วยอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนไม่สามารถหยุดการชุมนุมได้ ความรุนแรงเหล่านี้จะกลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขากลับมาชุมนุมเมื่อพร้อม ดังนั้น การยกเลิกมาตรการปราบปรามและจับกุมจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการลดแรงกดดัน โดยรัฐจะต้องประกาศให้ชัดเจนถึงแนวปฏิบัติจากการปราบปรามและจับกุมเป็นการเจรจาและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะลดความตึงเครียดแล้วยังเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์จากคู่ขัดแย้งให้เป็นการร่วมมือ
แนวทางที่ 2 การรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม มาตรการควบคุมฝูงชนแบบที่รัฐไทยทำอยู่นั้นเป็นลักษณะที่ประเทศประชาธิปไตยใช้ แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ยุติการชุมนุมระยะสั้นเท่านั้น การเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นที่จะช่วยให้ผู้ชุมนุมมีทางเลือกในการแสดงออกทางการเมือง และเป็นที่ทางให้รัฐได้ทำความเข้าใจปัญหาของผู้ชุมนุม ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขในอนาคต
แนวทางที่ 3 ภายใต้ข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก คือ ความต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เช่น งานที่มั่นคงค่าแรงที่เป็นธรรม สวัสดิการสำหรับแรงงานอายุน้อยและการศึกษาที่ยกระดับให้พวกเขาเป็นแรงงานคุณภาพ หากทุกฝ่ายมองอย่างเข้าใจการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมและสร้างเกราะปกป้องเยาวชนชนชั้นล่างที่แยกดินแดงแห่งนี้จะเป็นทางออกและทางเลือกให้พวกเขาไม่ออกมาร่วมชุมนุม ดอกผลอีกประการหนึ่ง คือ การที่รัฐสามารถยกระดับคุณภาพแรงงานได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐล้มเหลว! กระบวนยุติธรรมหมดสภาพ 'นักโทษเทวดา' ไม่ต้องติดคุก
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "รัฐล้มเหลว" โดยระบุว่า