'คำนูณ' สงสัย 'ยธ.' เร่ง ‘กม.ป้องกันทำผิดซ้ำ’ เร็วผิดปกติกฤษฎีกาค้าน 2 รอบ-ไร้ผล !

5 เม.ย. 2565 – นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า  ยธ.เร่งสุด ๆ กม.ป้องกันทำผิดซ้ำ แค่ 10 เดือนใกล้คลอด ! กฤษฎีกาค้าน 2 รอบ-ไร้ผล !!

โดยมีเนื้อหาดังนี้   ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. แม้จะมีข้ออภิปรายโต้แย้งกันหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ความชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อย้อนดูเส้นทางเดินทั้งในส่วนของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติของร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วต้องบอกว่า

เร็วมากถึงเร็วที่สุด !

เรียกว่าขึ้นทางด่วนพิเศษรวดเดียวเกือบจบ !!

– 8 กรกฎาคม 2564  กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างฯต่อคณะรัฐมนตรี

– 9 กรกฎาคม 2564 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือถึงส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

– 16 กรกฎาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับการตรากฎหมายใหม่

– 3 สิงหาคม 2564 คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างฯ

– 4 สิงหาคม 2564 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งกฤษฎีกาตรวจร่างฯ

– 2 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงยุติธรรมทำหนังสือเร่งไปยังกฤษฎีกา

– 9 ธันวาคม 2564 กฤษฎีกาส่งร่างที่ตรวจแล้วกลับครม. พร้อมแจ้งข้อสังเกต 3 ประการจากกฤษฎีกาคณะ 11 ในเชิงไม่เห็นด้วย

– 2 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการวาระแรก 

– 3 กุมภาพันธ์ 2565 ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯนัดแรก และประชุมทั้งหมดรวม 5 ครั้ง 

– 14 กุมภาพันธ์ 2565 ประธานคณะกรรมาธิการส่งร่างที่พิจารณาแล้วเสร็จถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร

– 23 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติวาระ 3 

– 28 กุมภาพันธ์ 2565 วุฒิสภาอนุมัติวาระแรก 

ตามไทม์ไลน์นี้มีข้อสังเกตเบื้องต้น 2 ประการ

ประการแรก – สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือเสนอความเห็นเชิงคัดค้านต่อการตราร่างกฎหมายใหม่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่ได้รับร่างฯจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และครั้งที่ 2 เมื่อตรวจร่างฯเสร็จส่งกลับคณะรัฐมนตรี

แต่ไร้ผล !

ไม่มีบันทึกว่าคณะรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไรต่อความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นอกจากนั้น ความเห็นจากกฤษฎีกาทั้ง 2 ครั้งยังแทบไม่ได้รับการนำไปตั้งประเด็นอภิปรายในสภาผู้แทนราษฏรเลยไม่ว่าในวาระใด เพิ่งจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการของวุฒิสภา

ความเห็นของกฤษฎีกาครั้งที่ 2 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 หลังตรวจร่าง เคยนำมาลงให้ดูกัน ณ ที่นี้แล้ว ขอนำมาลงซ้ำให้ดูกันอีกครั้ง ส่วนความเห็นครั้งที่ 1 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน มานำมาลงให้ดูกัน ณ ที่นี้

ประการต่อมา – ร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้เวลาพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร 5 ครั้งภายในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์เท่านั้น

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีจุดเริ่มต้นเสนอมาจากกระทรวงยุติธรรม

เป็นมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการกระทำผิดซ้ำสำหรับบุคคลผู้กระทำความผิดทางเพศและความผิดอาญาร้ายแรงจำนวนหนึ่งที่ระบุไว้ นักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษแล้วแต่ ‘มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า’ อาจกระทำความผิดซ้ำอีก จะต้องเข้าสู่มาตรการเฝ้าระวังที่มีอยู่ 3 ระดับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี หรือสูงสุดรวมทุกมาตรการแล้วไม่เกิน 10 ปี 

หนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังนี้มีการ ‘คุมขัง’ และ ‘คุมขังฉุกเฉิน’ รวมอยู่ด้วย

‘คุมขัง’ เป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้ในร่างกฎหมานนี้ จงใจให้แตกต่างกับคำ ‘จำคุก’ ‘กักขัง’ และ ‘กักกัน’ ตามประมวลกฎหมายอาญา

เพื่อไม่ให้เป็นโทษทางอาญา

เมื่อเขียนไม่ให้เป็นโทษทางอาญาเสียแล้ว ดังนั้นร่างกฎหมายนี้จึงบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีผลย้อนหลังสำหรับคดีที่กำลังพิจารณาอยู่และนักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ได้

แต่แม้จะระบุว่าไม่ใช่โทษทางอาญา ก็ต้องยอมรับว่ามีความละม้ายกันอยู่ในที คือเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคล จำกัดเสรีภาพของบุคคลที่เป็นนักโทษเด็ดขาดทางอาญาที่พ้นโทษแล้วแต่ ‘มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า’ อาจจะกระทำความผิดซ้ำ นานาชาติเขาจะยอมรับในตรรกะของเราหรือไม่

ผมจึงตั้งคำถามดัง ๆ มาก่อนหน้านี้แล้วในโพสต์แรก ๆ ที่เล่าถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า…

“จะเป็นการย้อนแย้งหรือไม่ที่เรากำลังมาสร้างมาตรการพิเศษใหม่ต่าง ๆ รวมถึง ‘คุมขัง’ หลังพ้นโทษ ทั้ง ๆ ที่มาตรการ ‘จำคุก’ เดิมมีปัญหา หลายกรณีนักโทษเด็ดขาดถูกจำคุกจริงไม่ถึง 1 ใน 3 ของคำพิพากษาก็ถูกปล่อยตัวพ้นโทษไป สมควรแก้ไขปัญหาหลักที่แท้จริงของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นบังคับโทษที่ผิดเพี้ยนเห็นตำตาในขณะนี้เสียก่อนหรืออย่างน้อยก็พร้อม ๆ กันไป”

ใช่หรือไม่ว่าหากร่างกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และมาตรการอภัยโทษสุดซอยยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ชัดเจน ตอบข้อกังขาของสังคมได้หมดจด จะเกิดคำอธิบายใหม่ตามมาว่าไม่ต้องห่วง เพราะแม้นักโทษจะได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ ก็จะยังมีมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำมาใช้บังคับได้อีกไม่เกิน 10 ปี ?

ใช่หรือไม่ว่าร่างกฎหมายใหม่กลายเป็นคำตอบใหม่ให้กับความย้อนแย้งเดิมในกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและตอบโจทย์ได้ครบถ้วนรอบด้านชัดเจน ??

ไม่ว่าจะอย่างไร ร่างกฎหมายป้องกันการกระทำผิดซ้ำก็อยู่ในการพิจารณาขั้นกรรมาธิการของวุฒิสภาแล้ว จะเริ่มพิจารณารายมาตราในสัปดาห์นี้ หลังจากเชิญหน่วยราชการและนักวิชาการมาประชุมร่วมกัน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในชั้นนี้ก็เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการที่จะต้องพิจารณาตอบโจทย์ให้ครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างน้อยใน 3 ประเด็นใหญ่

– ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?

– สมควรบังคับใช้ย้อนหลังหรือไม่ ?

– แก้ปัญหาเดิมหรือเพิ่มปัญหาใหม่ ?

และสมาชิกวุฒิสภาทุกคนในฐานะสภากลั่นกรองจะต้องร่วมกันตัดสินใจวาระ 2 และ 3 ต่อไป

คำนูณ สิทธิสมาน

สมาชิกวุฒิสภา

5 เมษายน 2565

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลอย่าเสี่ยง! แจงยิบทำไม 'MOU 44' เข้าข่าย รธน. มาตรา 178

นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 178

เดือดพลั่ก! ยธ. แถลงโต้ กมธ.มั่นคงฯ ไม่มีอำนาจเรียก ทวี-อธิบดีกรมคุก ชี้แจงทักษิณชั้น 14

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวรชัย บุตรดาบุตร เลขานุการกรมราชทัณฑ์ นายณรงค์ หนูคง ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และ น.ส.วริศรา กุญชร ณ อยุธยา ผอ.กองกฎหมาย

เดือด! 'โตโต้' สวน ยธ. ยันมีอำนาจสอบทักษิณป่วยทิพย์ ลั่น กมธ.มั่นคงฯทำงานครอบจักรวาล

นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม.พรรคประชน (ปชน.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .