ศาลอนุญาต 'รวิสรา' ไปเรียนต่อที่เยอรมนี เพิ่มเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมกระทบสถาบัน

ศาลอาญาใต้อนุญาต "รวิสรา" ผู้ต้องหาคดี 112 เเปลเเถลงการหน้าสถานทูตเยอรมันฯ ไปเรียนต่อป.โทที่เยอรมันหลังได้ทุน DAAD ถึง ก.ย.67 กำชับผู้กำกับดูเเล ห้ามจำเลยทำกิจกรรมกระทบสถาบัน

1 เม.ย.2565 - ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลได้นั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง ขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนี ของน.ส. รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเลยที่11 คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116

โดยพิเคราะห์แล้ว ตามคำร้องขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของจำเลยที่ 11ระบุว่า นับแต่จำเลยที่ 11 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในคดีนี้ จำเลยที่ 11ไม่เคยปฏิบัติผิดเงื่อนไขการ ปล่อยชั่วคราวตามที่ศาลกำหนด จำเลยที่ 11 สามารถปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัดด้วยดีมาโดย ตลอดและมิได้มีพฤติการณ์หลบหนี ก่อนถูกดำเนินคดีนี้จําเลยไม่ถูกดำเนินคดีใด ๆ มาก่อนและจำเลยที่ 11 พยายามอย่างเต็มที่เพื่อสอบแข่งขันชิงทุนจนได้รับทุนเพื่อให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีโดยมี กำหนดเดินทางไปเข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรเตรียมความพร้อมซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4เม.ย.65 โดยจำเลยที่ 11 เสนอบุคคลที่จะเข้าเป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวโดยเป็นผู้กำกับดูแล ที่พักและอาศัยอยู่ในประเทศไทย 2 คนคือนายอัคร เข้าฉ้อง อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก สาขาวิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนายธนะชาติ เอกสกุล บิดา จำเลยที่ 11 และผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลที่พักและอาศัยอยู่ในประเทศ เยอรมนี 2 คนคือน.ส.ณัฏฐณิชา เอกสกุล พี่สาวจำเลยที่ 11 และนายชัช ขำเพชร

ศาลไต่สวน คำร้องแล้วได้ความว่านายอัครเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาเยอรมันที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขณะจำเลยที่ 11 ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6ปีการศึกษา 2556 ภายหลังจำเลยที่ 11 สอบเข้าเรียนที่ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกภาษาเยอรมัน นายอัครซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะ อักษรศาสตร์ ก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 11 รวมอยู่ด้วย จึงรู้จักคุ้น เคยกับจำเลยที่ 11เป็นอย่างดีกว่า 10 ปีแล้ว และนายอัคร ยินยอมที่จะเข้าเป็นผู้กำกับดูแลและจะคอย ติดตามดูแล กำชับ ให้คำแนะนำรวมถึงติดต่อประสานงานกับผู้กำกับดูแลที่พักและอาศัยอยู่ในประเทศ เยอรมนีด้วย

ส่วนนายธนะชาติ บิดาจำเลยที่ 11 เบิกความว่ายินยอมที่จะเป็นผู้กำกับดูแลจำเลยที่ 11 ด้วยเช่นกันและสามารถที่จะคอยกำชับ ตักเตือนหรือให้คำแนะนำแก่จำเลยที่ 11ได้โดยผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยจำเลยที่ 11 นายธนะชาติ ,น.ส.ณัฏฐนิชา และนายอัครอยู่ในกลุ่มไลน์เดียวกันด้วยแล้ว เพื่อใช้ติดต่อประสานงานกันเกี่ยวกับการกำกับดูแลจำเลยที่ 11 นอกจากนี้นายอัครซึ่งจบการศึกษา ระดับปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี้ยังเบิกความด้วยว่าทุนในโครงการ DAAD ที่จำเลยได้รับ เพื่อไป ศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีนั้นเป็นทุนอันทรงเกียรติซึ่งนายอัครเองก็เคยสอบชิงทุนโครงการดังกล่าวแต่ ยังไม่สามารถสอบได้ การที่จำเลยที่ 11 สามารถสอบชิงทุนดังกล่าวได้จึงควรยินดีและสนับสนุนให้ จำเลยที่ 11 เข้าศึกษาต่อจากทุนในโครงการดังกล่าว โดยนายอัครเชื่อว่าจำเลยที่ 11 มีความประพฤติดี และจะไม่ไปกระทำอะไรที่มิชอบซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะได้รับทุนในโครงการนี้ในอนาคต ส่วนผู้กำกับดูแลซึ่งพักและอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีคือนางสาวณัฏฐณิชา พี่สาวจำเลยที่ 11นั้นนายธนะชาติ บิดาจำเลยที่ 11 เบิกความว่าจำเลยที่ 11 เคารพเชื่อฟังนางสาวณัฏฐณิชา

เห็นว่า จำเลยที่ 11 ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี ภายหลังสอบได้ทุนโครงการDAAD จําเลยที่ 11 พยายามขวนขวายเพื่อที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลมาโดยตลอด เล็งเห็นถึง ความตั้งใจของจำเลยที่ 11 ที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี จึงเห็นควรอนุญาตให้จำเลยที่ 11 เดิน ทางออกนอกราชอาณาจักรโดยมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.65-15 ก.ย.67 ตามที่จำเลยที่ 11ระบุวันเดินทางกลับไว้ในคำร้องขอเดินทางนอกออกนอกราชอาณาจักรลงวัน ที่ 7 ก.พ.65

แต่การที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 11เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีนั้นมีช่วงระยะเวลานานซึ่งในระหว่างนั้นศาลกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ และพยานจำเลยไว้ระหว่างวันที่ 2-23 มี.ค.66 รวมทั้งภายหลังเสร็จ การพิจารณาแล้วศาลต้องกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาอีก

จึงเห็นควรกำหนดเงื่อนไขข้อปฏิบัติและข้อ ห้ามเพิ่มเติม เพื่อมิให้จำเลยที่11 มีโอกาสไปกระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับข้อกล่าวหาในคดีนี้อีก

โดยห้ามจำเลยที่ 11 ทำกิจกรรมหรือก่อเหตุหรือเข้าร่วมชุมนุมที่จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทยและในระหว่างที่อยู่ในประเทศเยอรมนี และเมื่อจำเลยที่ 11 มีความตั้งใจที่จะไปศึกษาต่อจึงให้จำเลยที่ 11 ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและให้ส่งผลการศึกษาเล่าเรียน มาให้ศาลทราบภายใน 1 เดือนนับแต่วันประกาศผลการศึกษาของแต่ละภาคการศึกษา ให้ตั้งนายอัคร นายธนะชาติ และนางสาวณัฏฐณิชา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ 4 และมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามเป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ตามข้อ 6 ของระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับดูแล ผู้ถูกปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2561 เป็นผู้กำกับดูแลจำเลยที่ 11

โดยให้บุคคลทั้งสามติดต่อประสานงาน และร่วมมือกันในการกำกับดูแลหรือให้คำปรึกษาหรือคอยกำชับหรือตักเตือนให้จำเลยที่ 11 ปฏิบัติตาม เงื่อนไขตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัดและป้องกันการหลบหนีของจำเลยที่ 11 และให้นายอัครหรือ นายธนะชาติเสนอรายงานเกี่ยวกับข้อปฏิบัติและข้อห้ามตามคำสั่งศาลของจำเลยที่ 11ในระหว่างที่พัก และอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีต่อศาลทุก ๆ เดือนโดยให้รายงานศาลครั้งแรกภายในวันที่30 เม.ย.65 และครั้งต่อไปภายในวันสิ้นเดือนของเดือนถัดไป และให้จำเลยที่11 เดินทางกลับประเทศไทย ก่อนถึงวันนัดพิจารณาของศาลในวันที่ 2 มี.ค.66 และให้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยจนกว่าจะ พิจารณาคดีแล้วเสร็จ มีหนังสือแจ้งให้เพิกถอนหนังสือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของจำเลยที่11ต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิธา' เผยไม่ได้เห็นต่าง 'ทักษิณ' เรื่องเปลี่ยนโครงสร้าง เหน็บอย่ามัวแต่พูด ถึงเวลาต้องทำแล้ว

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างลงพื้นที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร

'เพื่อไทย' แถบอกรายงานนิรโทษกรรมแค่การศึกษาหากแก้ 112 จริงไม่ยอมแน่

'พท.' จ่อเห็นชอบรายงาน-ข้อสังเกตนิรโทษกรรม บอก แต่ละพรรคโหวตอย่างไร เป็นเอกสิทธิ์ ด้าน 'นพดล' ย้ำ ไม่มีความคิดนิรโทษความผิดม.110 และ 112

ไม่สำนึก! 'เฒ่าสามนิ้ว' จี้สภาฯล้างผิดคดี 112 อ้างเพื่อยุติความขัดแย้ง ประเทศเดินหน้าต่อได้

ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม สภาฯ