ยกคำร้อง 'รวิสรา' ยื่นขอออกนอกประเทศ ครั้งที่ 6 ศาลชี้ผู้กำกับดูแลไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม

ศาลอาญาใต้ยกคำร้อง “รวิสรา” จำเลยคดี 112 เเปลเเถลงการณ์ม็อบหน้าสถานทูตเยอรมนี ยื่นขอออกนอกประเทศครั้งที่ 6 อ้างได้ทุนเรียนต่อ ป.โท ที่เยอรมัน ศาลไต่สวนผู้กำกับดูเเลเเล้ว ชี้คุณสมบัติยังไม่เป็นไปตามระเบียบศาลยุติธรรม

30 มี.ค.2565 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 705 ศาลได้นั่งบัลลังก์นัดไต่สวนคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนี ของน.ส. รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 

โดยระบุว่า น.ส.รวิสราได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของรัฐบาลเยอรมนี The German Academic Exchange Service (DAAD) แต่ด้วยเงื่อนไขการประกันตัวของศาลทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ โดยที่ผ่านมาเธอได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อศาลแล้ว 6 ครั้ง

ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2565 โดยสองครั้งแรก ศาลไม่อนุญาต 5 ครั้ง ถัดมา ศาลให้ยื่นเอกสารต่างๆ เพิ่มเติม โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 รวิสราได้นำหนังสือจากมหาวิทยาลัยออสนาบรึค ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่รวิสราได้รับทุนให้เข้าศึกษาต่อ พร้อมผ่านการรับรองเอกสารจากสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยแล้ว เข้ายื่นต่อศาล

และศาลนัดไต่สวนคำร้องวันนี้ ซึ่งตามกำหนดของ น.ส.รวิสราหลังได้รับทุนการศึกษา จะต้องเดินทางไปศึกษาในหลักสูตรเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. -30 ก.ย. 2565 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ก่อน

โดยก่อนมีคำสั่งศาลได้นัดไต่สวนรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กำกับดูแลของ น.ส.รวิสราทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศเยอรมนี ทั้งสองคนถึงการติดต่อสื่อสารกันได้ รวมทั้งประเด็นให้ผู้ปกครองช่วยติดต่อกับผู้กำกับดูแลทั้งสองอีกทางหนึ่งโดยวันนี้ศาลไต่สวน ผู้กำกับดูเเลทั้ง2คนคนเเรกเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนที่สองเป็นนักวิจัยระดับศึกษาปริญญาเอกที่สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศวัลเธอร์ชึคกิ้ง ที่ประเทศเยอรมนี เเละไต่สวนบิดาของ น.ส.รวิสรา

ภายหลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลอ่านคำสั่งโดยพิเคราะห์คำร้องของจำเลยที่ 11 แล้ว เห็นว่า ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว…พ.ศ. 2561  ข้อ 4 ผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่มิใช่บุคคลตามข้อ 5 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ 

(1) เป็นผู้ที่รู้จักผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเป็นอย่างดีและผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้ความเคารพเชื่อฟัง หรือเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนที่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีที่อยู่อาศัยให้ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และ (2) เป็นผู้สมัครใจ มีความพร้อมและเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลมอบหมาย 

ข้อ 5 ผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่มีหน้าที่ในการให้คําปรึกษาเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการให้คําปรึกษา หรือผ่านการอบรม การให้คําปรึกษาทางจิตสังคมตามหลักสูตรที่สํานักงานศาลยุติธรรมจัดหรือรับรอง และ (2) เป็นผู้สมัครใจ มีความพร้อมและเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลมอบหมาย 

ข้อ 6 บุคคลต่อไปนี้ต้องห้ามเป็นผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว…(2) ผู้ประกัน บุคคลซึ่งเป็นหลักประกัน หรือบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราว

ดังนั้นเมื่อบุคคลที่จำเลยที่ 11 ได้แสดงต่อศาล เพื่อขอให้เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว คือรองศาสตราจารย์ดร.แพร จิตติพลังศรี เป็นผู้ประกันจำเลยที่ 11 ในคดีนี้ จึงเป็นบุคคลต้องห้ามตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมดังกล่าว 

ส่วนนายชัช ขำเพชร ซึ่งจำเลยที่ 11 ประสงค์ให้เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวขณะไปศึกษาและพักอาศัยที่ประเทศเยอรมนี จำเลยที่ 11 เบิกความตอบศาลว่าตนเองมิได้รู้จักนายชัช เพียงแต่อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นเพื่อนกับพี่สาวจำเลยที่ 11 แนะนำให้ทราบถึงบุคคลที่คิดว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวได้ในระหว่างที่พักอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี จำเลยที่ 11 จึงติดต่อนายชัชเพื่อขอให้เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกกปล่อยชั่วคราว จึงน่าเชื่อว่านายชัชเองก็ไม่ได้รู้จักจำเลยที่ 11 เป็นอย่างดีเช่นกัน เท่ากับว่านายชัชมิได้มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 11 ตามข้อ 4 ของระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมดังกล่าว

ในชั้นนีจึงยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมมีคุณสมบัติตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว…พ.ศ. 2561 ในอันที่จะกำกับดูแล หรือให้คำปรึกษา หรือคอยกำชับ หรือตักเตือนให้ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด และป้องกันการหลบหนีของจำเลยที่ 11 ในระหว่างที่จำเลยที่ 11 จะเดินทางไปศึกษาและพักอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี จึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ตามที่จำเลยที่ 11 ร้องขอ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง

ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท   

'พิธา' เผยไม่ได้เห็นต่าง 'ทักษิณ' เรื่องเปลี่ยนโครงสร้าง เหน็บอย่ามัวแต่พูด ถึงเวลาต้องทำแล้ว

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างลงพื้นที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร