'ดร.พิชาย' วิเคราะห์ 'ครอบครัวเพื่อไทย' จะผสานของโครงสร้างแบบ 'ไตรอำนาจ'


'ดร.พิชาย' วิเคราะห์ 'ครอบครัวเพื่อไทย' มีความเป็นไปได้สูงจะมีการผสานของโครงสร้างแบบ'ไตรอำนาจ' ระหว่าง 'อำนาจครอบครัว' 'อำนาจพรรค' และ 'อำนาจรัฐ'

25 มี.ค.2565 - ดร.พิชาย รัตนาดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ เมื่อ “ครอบครัว” กลายเป็น องค์กรทางการเมือง มีเนื้อหาดังนี้

การเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยใช้ยุทธศาสตร์ “ทวิพรรค” ตั้งพรรคคู่ขนานในนาม พรรคไทยรักษาชาติ เพื่อตอบสนองระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ยุทธศาสตร์นั้นเกือบประสบความสำเร็จ และอาจทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ทว่ากลับพลิกผันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเป็นฝ่ายค้านอย่างยาวนาน

นั่นเป็นเพราะ Surprise Strategy ที่มาจากอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จนเป็นเหตุให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ อันที่จริง Surprise Strategy เป็นยุทธศาสตร์ที่คู่แข่งคาดไม่ถึง และตั้งรับไม่ทันจนต้องพ่ายแพ้ไป แต่ทว่า Surprise Strategy ในครั้งนั้นกลับส่งผลกระทบย้อนกลับอย่างรุนแรงต่อผู้คิดยุทธศาสตร์ จนประสบความพ่านแพ้อย่างไม่คาดฝันเช่นกัน

การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยคิด “ยุทธศาสตร์ทวิองค์กร” ขึ้นมาใต้ชื่อยุทธศาสตร์ “ครอบครัวเพื่อไทย” เพื่อตอบสนองข้อจำกัดของกฎหมายพรรคการเมือง ที่ต้องเสียค่าสมัครสมาชิก ขณะที่ครอบครัวเพื่อไทย ประชาชนสมัครฟรีและสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

พรรคเพื่อไทยในยุคนี้จึงมีโครงสร้างองค์กร 2 แบบดำรงอยู่คู่ขนาน “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะที่เป็นองค์กรทางการ กับ “ครอบครัวเพื่อไทย” ในฐานะองค์กรที่ไม่เป็นทางการ

เป้าหมายสำคัญที่แจ้งต่อสาธารณะของครอบครัวเพื่อไทยคือ การมุ่งหวังดึงคนเก่าแก่ที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย แต่กระจายซ่านเซ็นออกไปด้วยปัจจัยนานัปประการกลับคืนมาเลือกพรรคเพื่อไทยเช่นเดิม เพื่อให้ได้ 14 ล้านเสียง ชนะการเลือกตั้งแบบท่วมท้น และยึดอำนาจรัฐได้

การคิดเช่นนี้เป็นการคาดการณ์ในทำนองว่า ผู้ที่สมัครเป็นครอบครัวเพื่อไทยจะเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือคิดว่าคนในครอบครัวต้องมีความคิดเหมือนกัน และทำในสิ่งที่หัวหน้าครอบครัวบอกทำ

พรรคเพื่อไทยได้เลือก “บุคคลยุทธศาสตร์” คือ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือหัวหน้าองค์กรนี้ เป็นการเลือกทายาททางสายเลือดของบุคคลที่ได้การยกย่องจากสมาชิกพรรคว่าเป็นอดีตหัวหน้าครอบครัว

ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็ง เพราะยากแก่การปฏิเสธความจริงที่ว่า ความนิยมหลักที่พรรคเพื่อไทยได้รับจากประชาชนมาจากความนิยมในตัวนายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดาของ น.ส. แพทองธาร

แต่ปมปัญหาคือ การยก น.ส. แพทองธาร ซึ่งอ่อนทั้งอายุและประสบการณ์ทางการเมือง เป็นหัวหน้าครอบครัว ดูไม่เข้ากับอีกมุมหนึ่งของค่านิยมเรื่องการเคารพผู้อาวุโสของครอบครัวไทยเท่าไรนัก

คำถามอีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีองค์กรคู่ขนานเช่นนี้เกิดขึ้นคือ ระหว่างหัวหน้าพรรค หรือ หัวหน้าครอบครัว มีอำนาจมากกว่า (แต่ดูกิริยานอบน้อมที่ หัวหน้าพรรคแสดงต่อหัวหน้าครอบครัว ในวันแถลงยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทยแล้ว ดูเหมือนว่าหัวหน้าครอบครัวอาจมีอำนาจเหนือกว่า)

และการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่าง “ครอบครัว” กับ “พรรค” จะจัดวางอย่างไร พรรคเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว หรือ ครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของพรรค

ภายใต้การออกแบบองค์กรการเมืองเช่นนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่า ในการเมืองไทยในอนาคตจะมีปรากฎการณ์ของการผสานของโครงสร้างแบบไตรอำนาจอย่างชัดเจนระหว่าง “อำนาจครอบครัว” “อำนาจพรรค” และ “อำนาจรัฐ”

การเมืองแบบ “ครอบครัว พรรค และรัฐ” อาจก่อรูปเป็นอัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของการเมืองไทยในยุคต่อไปก็เป็นได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง