'ก้าวไกล' โวยว่าที่ผู้สมัครส.ส. ถูกศาลเรียกไต่สวนประกันตัวด่วนคดี 112

22 มี.ค.2565 - ที่อาคารอนาคตใหม่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 ปทุมธานี พรรคก้าวไกล แถลงข่าวเรื่อง “หยุดเงื่อนไขประกันตัว ละเมิดสิทธิผู้ต้องหา 112”

โดยน.ส.ชลธิชา กล่าวว่า ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวจากการตกเป็นผู้ต้องหาในคดี 112 แต่ได้ถูกศาลอาญา รัชดา เรียกไต่สวนการประกันตัวด่วน ในวันที่ 23 มี.ค.เวลา 13.30 โดยมีข้อสังเกตว่าการเรียกดังกล่าว มีความผิดปกติหลายประการ เริ่มจากวันที่ 18 มีนาคม เจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์แจ้งมายังนายประกันว่า ศาลจะขอไต่สวนการประกันตัว จากการที่ตนโพสต์ถึงการเข้าร่วมประชุมกับ เมลิสซา เอ. บราวน์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยในโพสต์แจ้งว่าได้ให้ข้อมูลกับทางการสหรัฐฯ เรื่องคดีของตนและการถูกติดกำไลติดตามตัว หรือ EM

“หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงหนึ่งวัน ก็ถูกศาลนัดไต่สวนเร่งด่วน นี่คือความผิดปกติประการแรก ประการต่อมา จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการใดๆว่า เรียกไต่สวนด้วยจุดประสงค์ใด เพื่อถอนประกัน หรือเพื่อปรับเงื่อนไขการประกัน ดิฉันจะต้องไปขึ้นศาลเพื่อรับการไต่สวนในวันพรุ่งนี้แล้ว แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหมายศาล ไม่มีหนังสือส่งมาจากศาลแม้แต่ฉบับเดียว มีเพียงการโทรศัพท์มาแจ้งให้ไปในเวลากระชั้นชิดเพียง 5 วันนับจากวันที่โทรแจ้ง ซึ่งทำให้ดิฉันและทนายแทบไม่มีเวลาเตรียมตัว”

สำหรับรายละเอียดคดี 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ ที่ถูกตั้งข้อหานั้น น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า เกิดจากการที่ นายนพดล พรหมภาษิต ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จากการโพสต์เฟซบุ๊ก ราษฎรสาส์น’ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต่อมา เมื่อตนประกาศตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในนามพรรคก้าวไกล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่นาน อัยการจึงมีคำสั่งฟ้องคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

“เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา ดิฉันได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 90,000 บาท พร้อมเงื่อนไขประกันตัว ห้ามทำผิดซ้ำ, ห้ามร่วมกิจกรรมที่กระทบสถาบันกษัตริย์, ห้ามออกนอกเคหะสถานช่วงเวลาสองทุ่มถึงตี 5 , รายงานตัวต่อศาลทุก 15 วัน รวมถึงติดกำไล EM ตลอดเวลา ในระหว่างยื่นขอประกันตัววันเดียวกัน ดิฉันได้ยื่นคัดค้านเงื่อนไขติดกำไล EM พร้อมวางหลักทรัพย์เพิ่ม เนื่องจากกระทบต่อการทำหน้าที่ในการเป็นผู้สมัคร ส.ส. ที่ต้องทำงานในพื้นที่ และกระทบต่ออาชีพที่ตนต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำ และคัดค้านด้วยเหตุว่าตนเองไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน มีที่อยู่อาศัยและอาชีพเป็นหลักแหล่ง ไม่ว่าการเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล และการเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แต่ศาลได้ยกคำร้อง”

น.ส.ชลธิชา กล่าวอีกว่า การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดกับหลักสากลแน่นอน และไม่ใช่เฉพาะตนเองที่สิทธิเสรีภาพถูกลิดรอนจากการตั้งเงื่อนไขประกันตัวและการถูกติดกำไล EM นับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 46 คนที่ถูกศาลสั่งให้ติดกำไล EM ระหว่างการพิจารณาคดี แม้บางคนได้รับอนุญาตให้ถอดกำไล EM แล้ว แต่ยังมีนักกิจกรรมอีกหลายคนที่ยังคงถูกเงื่อนไขการประกันตัวในลักษณะเดียวกัน

“ขอยืนยันว่า การตั้งเงื่อนไขประกันตัวเหล่านี้ขัดต่อหลักสากล เพราะใช้คำว่า “ห้ามทำผิดซ้ำเดิม” ทั้งที่ผู้ถูกดำเนินคดีอาญาจะต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาออกมา การกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ออกมาจึงเท่ากับศาลพิพากษาไปแล้วว่า สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทั้งที่การไต่สวนคดียังไม่จบ นอกจากนี้ การกล่าวหาดังกล่าวยังไม่ได้สัดส่วนด้วย ในกรณีของดิฉัน เป็นให้ข้อมูลคดีของตัวเองกับทางการสหรัฐฯ กลับทำให้ถูกศาลเรียกไต่สวนประกัน ซึ่งอาจถูกถอนประกันหรือตั้งเงื่อนไขเพิ่ม ทั้งที่ดิฉันไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขใดๆเลย ไม่ได้คิดหลบหนี นี่ยิ่งชัดเจนว่าเงื่อนไขการประกันตัวของพวกเรา กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจำกัดการเคลื่อนไหวของเรา จำกัดสิทธิเสรีภาพของเรา”

ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า คดีของ น.ส.ชลธิชา เป็นเพียงหนึ่งในคดีเกิดขึ้นนับพันคดี ตั้งแต่ปลายปี 63 เป็นต้นมา พรรคก้าวไกลติดตามสถานการณ์การใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 และ116 , พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองมาโดยตลอด เรามีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นทิศทางของการเลือกปฏิบัติ บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เพื่อริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายประการ โดยเฉพาะการไม่ให้ประกันตัว และการตั้งเงื่อนไขประกันตัวที่ขัดหลักสากลและไม่ได้สัดส่วนและไม่มีเหตุอันสมควร รวมถึงใช้เงื่อนไขประกันตัวเป็นเครื่องมือจำกัดการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน และการใช้กำไล EM เป็นเครื่องสอดแนมติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหา

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลมีข้อสังเกตต่อแนวทางการปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมไทยต่อผู้ต้องหาคดีการเมือง โดยเฉพาะคดี 112 ดังนี้ 1. สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ภายใต้หลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา (Presumption of innocence) ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะยกเว้นได้เท่าที่จำเป็น หากมีหลักฐานหรือเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

“แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองมักไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว แม้จะไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น จึงดูเหมือนว่าการไม่ได้รับการประกันตัวเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองมากกว่าหลักการทางกฎหมาย”

นายชัยธวัช กล่าวว่า ภายหลังกระบวนการยุติธรรมไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จนกดดันให้มีแนวทางปฏิบัติใหม่ โดยหันมาใช้วิธีการตั้งเงื่อนไขการประกันตัวแทน โดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองแทน เช่น วางเงื่อนไขการให้ประกันตัวว่า ต้องห้ามกระทำผิดซ้ำในข้อหาเดิม ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่กระทบกระเทือนสถาบันกษัตริย์ ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้ร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย ห้ามกระทำการใด ๆ ที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยด่าสถาบันศาล เป็นต้น

“เราเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา (Presumption of innocence) ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขในลักษณะดังกล่าว ถูกตั้งคำถามว่าศาลได้ตัดสินไปแล้วล่วงหน้าว่า การกระทำที่ประชาชนถูกกล่าวหานั้นเป็นความผิดใช่หรือไม่ การกำหนดเงื่อนไขแบบนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ และจุดมุ่งหมายทางการเมืองเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองใช่หรือไม่”

ประการที่ 2. ข้อสังเกตดังกล่าวยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อในระยะหลังศาลยังได้ขยายแนวทางในการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวเพิ่ม คือการสั่งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 ติดกำไลติดตามตัว หรือกำไล EM ตลอดเวลา และกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหะสถาน ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ได้สัดส่วนและไม่มีความจำเป็น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองอย่างน้อย 46 คนที่ถูกศาลสั่งให้ติดกำไล EM ระหว่างการพิจารณาคดี ตามหลักของกระบวนการยุติธรรมไทย ผู้ที่ศาลจะพิจารณาให้ติดกำไล EM มี 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้กระทำผิดที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้คุมประพฤติ 2.นักโทษเด็ดขาดที่มีคำสั่งพักโทษ หรือลดวันจำคุก แต่คดีมีความร้ายแรงสะเทือนขวัญ หากปล่อยไปเฉยๆ สังคมจะหวาดระแวง จึงต้องใส่กำไลติดตามตัวเพื่อควบคุมความประพฤติ 3.การใช้กำไล EM แทนหลักทรัพย์ประกันตัวที่มาวางศาลทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างไต่สวน

“กระทรวงยุติธรรมให้เหตุผลของการให้ใส่กำไล EM กับผู้ต้องหาว่า เพื่อให้ผู้ต้องหาที่ยากจน มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงการประกันตัว จึงให้ใส่กำไล EM แทนหลักทรัพย์ แต่สังเกตได้ว่าจำเลยคดี 112 ทุกคดี จะถูกให้ใส่ทั้งกำไล พร้อมทั้งให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวมูลค่าสูงหลักแสนบาท ซึ่งไม่ใช่หลักปกติที่ทำกันทั่วไป เราจึงตั้งข้อสังเกตว่า เงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปเพื่อควบคุมการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนใช่หรือไม่ การกำหนดเงื่อนไขติด EM สำหรับคดีการเมือง เป็นการจงใจสอดแนมการเดินทางของนักกิจกรรมใช่หรือไม่”

ประการที่ 3 นอกจากนี้ มีแนวโน้มการถอนประกันตัวจำเลยคดี 112 จำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชน ที่ต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หากไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน นอกจากการนัดไต่สวนประกันคดีของลูกเกด ชลธิชาในวันที่ 23 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ยังมีการนัดไต่สวนประกันของคนอื่นด้วย เช่น 1.กรณีทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งศาลอาญา รัชดา ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันในคดี 112 กรณีไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ โดยศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนการถอนประกันในวันที่ 5 เมษายน เวลา 10.00 ณ ศาลอาญารัชดา 2. พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องถอนประกันตัว ใบปอ ทะลุวัง(ไม่เปิดเผยชื่อสกุลจริง) และเนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมที่จัดทำโพลขบวนเสด็จ โดยศาลนัดไต่สวนคำร้องถอนประกันในวันที่ 19 เมษายน 2565 เวลา 9.00 ณ ศาลอาญา กรุงเทพใต้

“ทั้งหมดนี้กำลังเป็นแนวปฏิบัติและบรรทัดฐานใหม่ของกระบวนการยุติธรรม ที่เราตั้งข้อสังเกตว่า ศาลนำมาใช้เฉพาะกับคดีการเมือง โดยเฉพาะคดี 112 พรรคก้าวไกล ขอเรียกร้องให้ยุติการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน และขัดต่อหลักการสากลเช่นนี้ เราหวังว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ จะไม่ถูกการเมืองบิดผันไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ เพราะนั่นจะทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่ จนประเทศนี้ไม่หลงเหลือสถาบันหลักใดๆ ให้ประชาชนยึดถือได้อีก และหวังว่ากระบวนการยุติธรรมไทยจะไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้” นายชัยธวัช ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง

ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท   

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

‘สาธิต’ ถาม 2 ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมือง ผู้นำจิตวิญญาณ จะเชื่อได้กี่โมง?

สาธิต ปิตุเตชะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และอดีตสมาชิกพรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ 'จะเชื่อได้? กี่โมงครับ'