'อดีตรมว.คลัง' ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัฐบาลทั่วโลกบริหารเศรษฐกิจยากขึ้นมาก เพราะพันกันไปหมด

ขณะนี้ ราคาก๊าซ เส้นสีเขียว ได้พุ่งขึ้นฉับพลัน จึงต้องติตามว่า ราคาปุ๋ยซึ่งขณะนี้ยังพุ่งขึ้นน้อยกว่า ในอนาคตจะพุ่งขึ้นตามไป หรือไม่ เท่าไหร่ สรุปแล้ว รัฐบาลทั่วโลกจะบริหารเศรษฐกิจยากขึ้นมาก เพราะมีความเสี่ยงพัวพันกันไปหมด เรื่องปุ๋ย เรื่องอาหารคน เรื่องอาหารสัตว์ เรื่องราคาน้ำมัน เรื่องราคาก๊าซ

15 มี.ค.2565- ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์บทความที่ 29 ผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เรื่อง “เฝ้าระวังมหาวิกฤตเศรษฐกิจ” มีรายละเอียดดังนี้

ผมเคยเขียนไว้ว่า การที่สหรัฐขนส่งอาวุธนาโต้ โดยลงสนามบินในโปแลนด์ แล้วใช้รถบรรทุกเข้าไปในยูเครน
ทันทีที่อาวุธผ่านเข้ายูเครน ถ้าหากรัสเซียโจมตี ก็จะไม่ถือเป็นการปะทะโดยตรงกับนาโต้

ในรูป 1 ประธานาธิบดียูเครน ลีเวนสกี้ จึงได้พยายามเรียกร้องหลายครั้ง ให้นาโต้ประกาศน่านฟ้ายูเครน เป็นเขตห้ามบิน

คือนาโต้จะสามารถยิงเครื่องบิน และสกัดขีปนาวุธของรัสเซียได้เลย แต่ที่ผ่านมา สหรัฐปฏิเสธ เพราะไม่ต้องการยกระดับให้เป็นสงครามรัสเซีย-สหรัฐ

แต่คราวนี้ ซีเลนสกี้ กล่าวว่า ถ้านาโต้ไม่ปิดน่านฟ้า อีกไม่นาน รัสเซียก็จะยิงขีปนาวุธเข้าไปเขตของนาโต้ ทั้งนี้เพราะ รัสเซียเริ่มโจมตี รุกเข้าไป ถึงแนวประชิดพรมแดนโปแลนด์เป็นครั้งแรก

ในรูป 2 คือภาพขีปนาวุธโจมตีฐานทัพของยูเครนใกล้เมืองละวิฟ

ในรูป 3 ของบีบีซี จะเห็นได้ว่า ฐานทัพนี้ตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนโปแลนด์เพียง 25 กิโลเมตร (วงกลมสีเขียว)

อันที่จริง รัสเซียมีเทคโนโลยีสูง และโอกาสที่จะยิงพลาดเข้าไปในเขตโปแลนด์ น่าจะมีน้อย แต่ถ้าสมมุติเกิดอุบัติเหตุ ก็จะเป็นเรื่องใหญ่โต

รูป 4 ข่าวบีบีซีรายงานชัดเจนว่า พรมแดนกับโปแลนด์นี้ เป็นรูพรุน ที่สหรัฐใช้ขนส่งปืนต่อสู้รถถัง และปืนต่อสู้อากาศยาน

ซึ่งรัสเซียคงจะคิดว่า ยูเครนเก็บพักอาวุธเอาไว้ในฐานทัพนี้ และมีข่าวที่ไม่ยืนยันว่า เป็นแหล่งที่ตั้งของทหารรับจ้างต่างชาติอีกด้วย

ในประเด็นนี้ รัสเซียได้ประกาศว่า ขบวนรถบรรทุกที่ลำเลียงอาวุธนั้น ถือเป็นเป้าหมายทางสงคราม

🇺🇸 ล่าสุด เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐให้ข่าวว่า มีแนวโน้มที่รัสเซียจะตั้งประเด็นเจรจาอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งสร้างให้เกิดความหวังว่า สงครามอาจจะเพลาลงได้

แต่ทั้งนี้ ในระหว่างการเจรจา ถ้าหากนาโต้ยังคงเดินหน้า ส่งอาวุธเข้าไปในยูเครน เหมือนดังเดิม โอกาสที่สงครามจะสงบเร็ว ก็คงจะเป็นไปได้ยาก

ถามว่า สงครามที่ยืดเยื้อ จะกระทบราคาอาหารเพียงใด?

รูป 5 แสดงตารางราคาอาหารของ FAO ซึ่งเคยกระเพื่อมครั้งใหญ่ ในปี 2007-8 และปี 2010-11

ราคาอาหารสูงทั้งสองครั้ง นำไปสู่การประท้วงทางการเมืองใน 40 ประเทศ โดยปี 2010-11 เกิดเหตุการณ์ใหญ่ Arab Spring รัฐบาลหลายประเทศล้ม (รูป 6)

ราคาอาหารกระทบประเทศร่ำรวยน้อยกว่า เพราะสัดส่วนค่าใช้จ่ายอาหารยังต่ำ (รูป 7) ตัวอย่างแปดลำดับแรก ยังไม่ถึง 10%

แต่สำหรับประเทศยากจน สัดส่วนนี้สูงจนน่ากลัว เช่น ไนจีเรีย 56.4% เคนยา 46.7% และในตัวอย่างนี้ มีฟิลิปปินส์ 41.9%

ดังนั้น เมื่อดูราคาอาหาร FAO เปรียบเทียบปีต่อปี ก.พ. 2022 ปรากฏว่า สูงขึ้นจากปีก่อนไปแล้วถึง 20.7% (รูป 9)
ก็จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ตึงเครียดเพราะอดอยาก กำลังกลับมาเยือนโลกอีกครั้งหนึ่ง เพราะประเทศผู้ผลิตหลายรายได้เริ่มระงับการส่งออกแล้ว

ในรูป 10 เซอร์เบียระงับส่งออกน้ำมันพืช ข้าวสาลี ข้าวโพด แป้ง ในรูป 11 อินโดนีเซียให้ลดส่งออกน้ำมันปาล์ม 30% เป็นเวลา 6 เดือน

รูป 12 อาร์เจนตินาลดเพดานส่งออกข้าวโพดเหลือ 41.6 ล้านตัน (เป็นผู้ผลิตอันดับสามของโลก ยอดผลิต 54 ล้านตัน)

และลดเพดานส่งออกข้าวสาลีเหลือ 12.5 ล้านตัน (ยอดผลิต 20 ล้านตัน)

แต่ในเมื่อการค้าปุ๋ยในโลกจะติดขัดมากขึ้น ย่อมจะทำให้ยอดผลิตในฤดูการเพาะปลูกในอนาคตข้างหน้าลดลง

รูป 13 เป็นข้อมูลน่าสนใจที่สุด จะเห็นได้ว่า กราฟตั้งแต่ปี 2008 ราคาปุ๋ยในยุโรป จะล้อกับราคาก๊าซธรรมชาติ เกือบจะ 100%

ขณะนี้ ราคาก๊าซ เส้นสีเขียว ได้พุ่งขึ้นฉับพลัน จึงต้องติตามว่า ราคาปุ๋ยซึ่งขณะนี้ยังพุ่งขึ้นน้อยกว่า ในอนาคตจะพุ่งขึ้นตามไป หรือไม่ เท่าไหร่

สรุปแล้ว รัฐบาลทั่วโลกจะบริหารเศรษฐกิจยากขึ้นมาก

เพราะมีความเสี่ยงพัวพันกันไปหมด:- เรื่องปุ๋ย เรื่องอาหารคน เรื่องอาหารสัตว์ เรื่องราคาน้ำมัน เรื่องราคาก๊าซ.

เพิ่มเพื่อน