ชำแหละ 4 เงื่อนไข 'ปูติน' ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

‘อดีตรองอธิการ มธ.’ ชำแหละ 4 ข้อเรียกร้อง ‘ปูติน’ ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

14 มี.ค. 2565 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ประธานาธิบดี Vladimir Putin เสนอเงื่อนไขเป็นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ เราลองมาดูข้อเรียกร้องของ Putin แล้วช่วยกันพิจารณาโดยไม่มีอคติว่า ข้อเรียกร้องแต่ละข้อ เป็นข้อเรียกร้องที่เกินเลยไปกว่าที่จะยอมรับได้หรือไม่

ข้อแรก ยูเครนต้องหยุดปฏิบัติการทางการทหารทั้งหมด

ข้อนี้คงไม่ใช่แค่ยูเครนเท่านั้น รัสเซียก็ต้องหยุดปฏิบัติการทางทหารด้วยเช่นกัน เพื่อให้เปิดการเจรจาสงบศึกกันได้ และเพื่อความเป็นธรรมต่อยูเครน

ข้อที่ 2 ให้แก้รัฐธรรมนูญของยูเครน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ายูเครนจะเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง

ข้อนี้ เท่ากับยืนยันว่า รัสเซียไม่ได้ต้องการยึดครองยูเครน เพียงไม่ต้องการให้ยูเครนซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีเขตแดนติดกับรัสเซียและมีคนรัสเซียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นหอกข้างแคร่และเป็นศัตรูของรัสเซีย แม้มีข้อโต้แย้งว่า การที่ประเทศใดจะเป็นกลางหรือไม่ควรเป็นสิทธิของประเทศนั้นๆ แต่รัสเซียคงต้องถือว่าความมั่นคงของประเทศมีความสำคัญเป็นลำดับแรก ซึ่งเชื่อได้ว่าสหรัฐอเมริกาได้เริ่มสร้างฐานยิงขีปนาวุธในยูเครนแล้ว ไม่เช่นนั้น Putin คงยังไม่ตัดสินใจบุกยูเครน และที่ขอให้ทำเป็นกฎหมายก็เพราะที่ผ่านมา NATO ไม่ได้รักษาสัญญาที่ว่าจะไม่ขยายจำนวนสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีเขตแดนติดหรือใกล้กับรัสเซีย

ข้อที่ 3 ให้ยูเครนยอมรับว่า Crimea เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

กรณี Crimea ซึ่งเป็นคาบสมุทร และเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน ในปี ค.ศ. 2014 หลังจากที่ประธานาธิบดี Viktor Yanukovich ซึ่งนิยมรัสเซียต้องพ้นจากตำแหน่ง และในขณะที่มีการเรียกร้องจากชาว Crimea ส่วนหนึ่ง ต้องการกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย รัสเซียจึงถือโอกาสส่งกำลังทหารเข้าไป และจัดให้มีการทำประชามติและผลออกมาว่า ชาว Crimea 95.5% ต้องการกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย รัสเซียประกาศให้ Crimea เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่ยังมีหลายประเทศที่ไม่ยอมรับ รัสเซียจึงต้องการให้ยูเครนยอมรับอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ข้อที่ 4 ให้ยูเครนยอมรับว่า Donetsk และ Luhansk เป็นรัฐอิสระ

ข้อนี้ หากยูเครนยอม ก็จะทำให้สามารถหยุดการฆ่าฟันกันระหว่างทหารยูเครน และชาว Donetsk และ Luhansk ซึ่งดำเนินมากว่า 8 ปี แล้วลงได้ ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Zelesky ถือว่าทั้ง Donetsk และ Luhansk เป็นรัฐผู้ก่อการร้าย จึงมีการสู้รบกันเป็นสงครามกลางเมืองตลอดมา และนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่รัสเซียบุกยูเครน เพื่อรักษาชีวิตของชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัฐทั้งสอง

ขณะนี้มีข่าวว่า ประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky เสียงอ่อนลง และจะยอมตามเงื่อนไขของรัสเซีย เพื่อเจรจาสงบศึก แต่ในระยะเวลาใกล้ๆ กันก่อนหน้า Zelensky ก็ยังเสียงแข็ง ประกาศต่อรัฐสภาอังกฤษว่าจะสู้ทุกรูปแบบ และล่าสุดยังมีข่าวที่ยังไม่ยืนยันว่า กลุ่ม Al-Qaeda หรือ อัลกออิดะฮ์ พร้อมจะเข้ามาช่วยยูเครนรบ จึงคงยังเอาแน่อะไรกับนาย Zelesky ไม่ได้

ลองพิจารณากันดูนะครับว่า ข้อเรียกร้องแต่ละข้อของรัสเซีย เป็นข้อเรียกร้องที่เกินเลย และกระทบต่อเสรีภาพของยูเครน จนชาวโลกควรต้องต่อต้านข้อเรียกร้องนี้ และยอมแลกด้วยความสงบสุขและสันติภาพของโลกหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักวิชาการ' วิเคราะห์ผลการเลือกสว.จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ มากกว่าเป็นผลเสีย

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

อิหร่านขู่อิสราเอล หลังจากนายทหารปฏิวัติเสียชีวิตอีกคนในซีเรีย

การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในเมืองดามัสกัสเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนทำให้นายพลระดับสูงของอิหร่านต้องเสียชีวิต ครั้

ปูดวาระซ่อนเร้น! เหตุดึงดัน 'แจกเงินดิจิทัล'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินคนหนึ่ง ซึ่งได้เคยดำเนินการออกหุ้นกู้ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่

อดีตรองอธิการบดี มธ. เชื่อศาล รธน.วินิจฉัยคดี ‘นายกฯ’ เป็นคุณต่อประเทศแน่นอน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่าน มีความรู้ ผ่านการทำงานใหญ่มามากมาย มีความเป็นอิสระ ทั้งยังมีความเที่ยงธรรม