'อ.พนา'เตือนสติกองเชียร์รัสเซีย-ยูเครน ชี้ เรื่องคุณธรรม ความเท่าเทียม เป็นเพียงมายาคติ ไม่มีความเสมอภาคกันในการเมืองระหว่างประเทศ มีแต่กฎของการอยู่รอด -อำนาจเป็นธรรม
11 มี.ค.2565-ดร.พนา ทองมีอาคม นักวิชาการด้านสื่อมวลชน อดีตอาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสงครามรัสเซีย- ยูเครน มีเนื้อหาดังนี้
ไม่มีหรอกความเสมอภาคกันในการเมืองระหว่างประเทศ
เขียนเรื่องรัสเซีย-ยูเครนไปวันก่อนจากมุมมองของรัสเซีย หวังว่าเพื่อนๆ จะได้ข้อมูลและทัศนะจากอีกฝ่ายบ้างเพราะข่าวสารหลัก ๆ ที่เราได้รับส่วนใหญ่มาจากมุมมองของโลกตะวันตก
ที่นี่ไม่ประสงค์จะสร้างความชอบธรรมให้ใคร หรือไม่ได้ต้องการชี้ว่าใครผิดใครถูก
ประเด็นที่เขียนไม่ใช่เรื่องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยิ่งไม่ใช่การเลือกข้าง เพราะที่นี่ไม่ใช่ฝ่ายเชียร์รัสเซียหรือฝ่ายเชียร์อเมริกัน
เรื่องบางเรื่องเรารู้ไว้เฉย ๆ ก็ได้ยังไม่ต้องเอาคุณค่าส่วนตัวไปประเมินวัด ไม่ต้องไปตัดสิน จะเรียก Suspend Judgment ก็ได้
หรือถ้าจะต้องเลือกข้างจริง ๆ ก็ให้ยึดประโยชน์ของไทยนี่แหละเป็นหลัก
บังเอิญอีกว่า เรื่องรัสเซีย/ยูเครนนี้ เป็นเรื่องที่ฝักฝ่ายการเมืองในบ้านเราเกิดมีการถือหางกันเข้า
มีการเชียร์คู่สงครามแบบถือหางเชียร์กัน เกิดเหตุขึ้นก็เลือกข้างกันไปก่อน ใครชอบข้างไหนค่อยหาเหตุผลและข้อมูลมาสนับสนุนข้างตัว
ที่ไม่เก่งเรื่องเหตุผลข้อมูล ก็ท้าทายด่าทอ ตีตราความเห็นต่างที่อยู่คนละข้าง
ที่เห็นชัด ๆ เรื่องหนึ่งก็คือ มีฝ่ายที่คิดในเรื่องคุณธรรม ความเท่าเทียมของประเทศอิสระ ความเสมอภาคของรัฐ กฎหมายและความผูกพันที่ปัจจุบันมีอยู่
ในมุมมองของที่นี่ อยากจะบอกว่านั่นเป็นมายาคติ
การเมืองในระดับระหว่างประเทศถ้าจะมีกฎก็คือกฎของการอยู่รอด ถ้าจะเอาดิบ ๆ เลยก็คือกฎของอำนาจเป็นธรรม
อื่นๆ นั้นเป็นเพียงฉากบัง สร้างความชอบธรรมให้พฤติกรรมที่ก่อกันขึ้น
ถ้ามีความเสมอภาคกันจริง ทำไม 5 รัฐใหญ่ในสภาความมั่นคง UN ถึงมีสิทธิดีกว่ารัฐอื่น ๆ
ในขณะที่สมาชิกสภาความมั่นคงอื่น ๆ อยู่กันเป็นวาระพวกนี้อยู่แบบถาวร ใช้เสียงเดียววีโต้มติต่าง ๆ ของสภาก็ได้ และพวกนี้เป็นมหาอำนาจทั้งนั้น
ประเทศสมาชิกที่เหลืออื่น ๆ ก็ใช่ว่าจะมีเสียงดังเท่ากัน
เช่นอินเดียกับตองก้า ยังไง ๆ อินเดียก็เสียงดังกว่า คนเกรงใจกว่า
อินเดียมีคนพันสี่ร้อยล้าน ตองก้ามีประชาชนหนึ่งแสนคน ต่างโหวตหนึ่งเสียงเหมือนกันแต่ไม่เท่ากันหรอก
นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องประเทศใหญ่ประเทศเล็ก ประเทศรวยประเทศจน ประเทศสำคัญทางยุทธศาสตร์กับประเทศในหลืบมุม..
มองยังไงประเทศต่าง ๆในโลกมันก็ไม่เสมอภาคกัน
ในระดับโลก มันไม่มีกฎหมายบังคับได้อย่างที่คนมักเข้าใจกัน มันไม่เหมือนกฎหมายในประเทศ
ประเทศอิสระมีอธิปไตยเป็นของตัวเองทั้งนั้น ใครจะใช้อำนาจอะไรไปบังคับประเทศอิสระอีกประเทศหนึ่งได้
ที่เรียกว่าก.ม.ระหว่างประเทศนั้น จริง ๆ แล้วมันก็แค่พวกสนธิสัญญาต่าง ๆ หรือมติการประชุมที่ประเทศต่าง ๆ ยอมไปผูกพันด้วย
มีสนธิสัญญามากมายที่ผู้แทนประเทศไปร่วมจัดทำ พอเอาเข้าจริงตอนกลับมาให้สัตยาบรรณในสภาของประเทศก็ถูกเบี้ยว
ยังมีสัญญาที่ไม่มีการลงสัตยาบรรณใด ๆ บ่อยครั้งมันใช้ผูกพันกันได้เท่าที่จะยอมผูกพัน รัฐที่ไม่ยอมผูกพันจะไปทำอะไรเขา
ส่วนรัฐที่ยอมผูกพันแล้วกลับยกเลิกทีหลังหรือไปฝ่าฝืนก็มี บทลงโทษอยู่ที่ไหน ใครจะบังคับให้ ?
ที่เห็นก็ได้แต่ด่ากัน ประณาม แซงชั่น บอยคอต อะไรทำนองนั้น แค่นั้นเอง จะมีก็เรื่องใหญ่ ๆ ที่มีประเทศมหาอำนาจออกหน้าล็อบบี้ประเทศเล็ก ๆ ให้หนุนแล้วมหาอำนาจอื่นไม่วีโต้ ตอนนั้นแหละที่เราอาจเห็นแอ๊คชั่นการรบ เช่นในกรณีอิรัคบุกคูเวต
เรื่องพรมแดนก็เป็นเรื่องน่าหัวร่อ
พรมแดนคือเส้นประดิษฐ์ ถ้าประเทศสองฝั่งตกลงยอมรับกันมันก็มีอยู่ ถ้าไม่ยอมกันเช่นอินเดียกับจีน มีจุดที่เห็นไม่ตรงกัน ต่างคนต่างก็ขีดกันคนละเส้น ผลสุดท้ายก็ยันกันด้วยปืน แนวยันกันเรียก LAC หรือ Line of Actual Control หยุดกันอยู่ตรงนั้น แต่นั่นไม่ใช่พรมแดนแท้จริงที่ยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน
อย่างกรณี ฟอล์คแลนด์ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ใช้กำลังดิบ ๆ กัน
อาร์เจนติน่าอ้างประวัติศาสตร์ว่าเกาะชื่อมัลวีน่านี้เคยเป็นของตน อังกฤษบอกไม่ใช่นี่คือเกาะฟอล์คแลนด์
อาร์เจนติน่าที่อยู่ใกล้เกาะแค่ 3-4 ร้อยก.ม. เจรจาขอเกาะคืนไม่ได้ก็ยกทัพไปยึดดื้อ ๆ อังกฤษที่อยู่ห่างไปเป็นหมื่นกิโลก็ยกกองทัพไปยึดคืน นี่เป็นอำนาจดิบ ๆ แม้ตอนนี้มีการให้สัมปทานทับซ้อนในทะเลก็ออกกันดื้อ ๆ ออกด้วยอำนาจดิบ ๆ ทั้งนั้น ไม่ได้พึ่งศาลหรือพึ่งก.ม.ใด ๆ
รัฐต่าง ๆ ในโลกนี้มักตั้งอยู่กันยาวนาน บางทีชื่อประเทศเปลี่ยน เอกราชเปลี่ยน พรมแดนเปลี่ยน เช่น จีนอ้างยึดทิเบตเพราะเคยเป็นของจีนยุคราชวงศ์ชิง ทิเบตเพิ่งแยกไปเมื่อจีนยุ่ง ๆ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ พอจีนสงบก็ยึดกลับคืน ซินเกียงก็อ้างประวัติศาสตร์เก่า อิสราเอลอ้างประวัติศาสตร์พันปีเอาดินแดนคืนก็ยังมี
หรือบอสเนีย อาร์เซอร์ไบจัน ประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปมา
กรณีสำคัญ ๆ เช่นแค่เมืองเยรูซาเล็ม ศาสนาสองสามศาสนาก็มีประวัติศาสตร์อยู่ที่นั่น โบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ก็สร้างทับกันไปมา มันไม่มีจุดบอกได้ว่าที่ตรงนั้นของใคร
ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะมหาอำนาจขีดเส้น แล้วประเทศที่เข้มแข็งก็ใช้กำลังทหารบังคับกันเท่านั้น
กรณีที่ยังบังคับกันไม่ได้ก็ตั้งประจันกันไปก่อนเช่น เกาะเซนกากุ /เตียวหยู ระหว่างญี่ปุ่นและจีน เกาะคูริล/ซัคคารินระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซีย รัฐแคชเมียร์ระหว่างปากีสถานและอินเดีย
ที่เขียนมายืดยาวนี้ ขอบอกอีกครั้งว่า ไม่ได้จะสร้างความชอบธรรมให้ใคร แค่อยากชี้ว่าในระดับระหว่างประเทศแล้ว อำนาจดิบ ๆ ยังเป็นตัวกำหนด
การเจรจาอาจช่วยได้บ้าง เพราะสังคมโลกยังไม่มีวิธียุติที่ดีกว่านั้น
แต่ท้ายสุดแล้วเมื่อยังเห็นต่างกัน ประเทศมหาอำนาจที่มีกำลังคุ้มครองอาณาเขตของตัวเองได้เท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดพรมแดน
และพวกเขายังกำหนดกติกาขึ้นเพื่อใช้บังคับกันด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ตุรเกีย' ออกโรงเรียกร้องให้ยูเอ็นคว่ำบาตรการส่งอาวุธให้อิสราเอล
กระทรวงการต่างประเทศของตุรเกียแถลงการณ์ว่า ได้ส่งจดหมายถึงสหประชาชาติที่ลงนามโดย 52 ประเทศและสององค์กร
'โวโลดิมีร์ เซเลนสกี' ครุ่นคิดถึงบทสิ้นสุดของสงครามในปีหน้า
ที่นิวยอร์ก โวโลดิมีร์ เซเลนสกีเรียกร้องให้ตะวันตกสนับสนุนยูเครนเพิ่มเติม และสัญญาว่าจะยุติสงครามก่อนกำหนด โดยจะ
สงครามในยูเครนสร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศโลกแค่ไหน?
ความขัดแย้งทางทหารและกองกำลังติดอาวุธเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุด กลุ่ม Scientists f
นักวิชาการบอกหากมีรัฐประหารอีกไทยอาจถูกมหาอำนาจแทรกแซง!
ครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร คสช.คาดหวังเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย หากเกิดรัฐประหารอีกในอนาคตจะสร้างความเสียหายรุนแรง อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจ
สุ่มเสี่ยง! 'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' เตือนไม่ควรให้ผู้ใหญ่ลงพื้นที่สู้รบ หวั่นถูกตีความส่งสัญญาณผิด
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ สุ่มเสี่ยง มีเนื้อหาดังนี้