'อ.ไชยันต์' รีวิวหนังสือ 'ปฏิวัติฝรั่งเศส' ชี้ทำให้ดราม่าเกิน ผู้เขียนสรุป หากคนฝรั่งเศสสามารถย้อนเวลากลับไปได้ คงไม่ต้องการล้มล้าง แต่น่าจะเห็นด้วยกับแผนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่จะลดภาษีลงมากกว่า
11 มี.ค.2565- ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุเรื่อง
มาตามนัด ! #revomantics
“คุณ ‘ใจเป็นกลาง’ กับ ดราม่า ปฏิวัติฝรั่งเศส (Revo-Mantics)
ตอน “ชีวิตประจำวันของผู้คน (ฝรั่งเศส) ในปี ค.ศ. 1789 มันเลวร้ายจริงๆหรือ ?”
—————
ตามที่ผมเคยโพสต์ไปแล้วว่า สาเหตุที่ Stephen Clarke ต้องเขียนหนังสือ Stephen Clarke’s The French Revolution & What Went Wrong (London: Arrow Books: 2018, 2019)
เพราะเขาเห็นว่า การรับรู้เรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศสในปัจจุบันนั้นบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากมาย (เขาเรียกมันว่า fake news !)
Clarke เห็นว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสถูกทำให้เป็น “revo-mantics”
พูดง่ายๆก็คือ ทำให้ดราม่าเกิน !
ดราม่าเกิน คือ การสร้างเรื่องแบบใส่สีตีไข่ ให้เร้าใจผู้คน โดยให้มีการต่อสู้ผจญภัย มีพระเอกที่แสนดีและผู้ร้ายที่เลวสุดๆ
----------------------
และจากที่ผมเคยชวน เพื่อนๆ ใน FB ให้ช่วยแปลหนังสือเล่มนี้
ล่าสุด เพื่อน FB ท่านหนึ่ง ขอใช้นามแฝงว่า "ใจเป็นกลาง" ได้บอกกับผมว่า ได้ไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้มา และ “สนุกกับหนังสือเล่มนี้
และขออาสาแปล เพราะเห็นประโยชน์จากการนำเสนอมุมมองที่ไม่ดาดๆ"
ผมต้องขอขอบคุณ คุณ “ใจเป็นกลาง” อย่างยิ่ง ที่ได้กรุณาไปซื้อหนังสือเล่มนี้ และแปลบทที่ 10: “Was Everyday Life Really that Bad in 1789?” และสรุปมาให้พวกเราได้อ่านกัน ดังนี้:
บทที่ 10
• โดยทั่วๆไปแล้ว ในปีค.ศ. 1789 ก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสโดยทั่วไปมีชีวิตที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าภาระภาษีของคนจนยังสูงอยู่มาก อาจเรียกได้ว่าเป็นยุครู้แจ้ง (Lumière/หรือ Enlightenment ในภาษาอังกฤษ) ของความก้าวหน้าและความรุ่งเรืองซึ่งกระจายไปถึงผู้คนในทุกระดับฐานะของสังคม และมีการวางรากฐานให้ความเจริญในระยะยาว ซึ่งแทบจะไม่มีความจำเป็นอะไรที่ประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์ด้วยความรุนแรงเลย (violent revolution)
• ภาพพจน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในความหมกหมุ่นกับการล่าสัตว์ และสิ่งประดิษฐ์เช่นนาฬิกาและกุญแจ รวมถึงการอนุญาตให้พระนางมารีอองตัวแน็ตใช้จ่ายเงินของประเทศฝรั่งเศสอย่างฟุ่มเฟือยนั้นได้ถูกสร้างขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2 สองศตวรรษหลังจากที่พระองค์ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอแล้วต่างหาก ทุกวันนี้การอธิบายเหตุผลของการปฏิวัติให้เป็นที่ยอมรับจะง่ายขึ้นมากหากบอกว่ามันคุ้มดีแล้วที่เกิดการปฏิวัติขึ้น (Today, it is much easier to explain away the Revolution if it looks as though it was all worthwhile.)
• ในสมัยของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 มีการพัฒนาเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนฝรั่งเศสเป็นอันมาก รวมถึงความพยายามที่จะพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (more democratic) มีการพัฒนาระบบภาษี เรือนจำ โรงพยาบาลและท่าเรือ และที่สำคัญคือระบบการศึกษา ทำให้ในปีค.ศ.1788 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์ ราวครึ่งหนึ่งของเด็กชาวฝรั่งเศสไปโรงเรียน และการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 3 ใน 4 ของประชากร แต่กระนั้นคุณภาพของการศึกษาโดยรวมก็อยู่ในระดับพื้นฐานเท่านั้น เนื่องจากการศึกษายังต้องอาศัยพระศาสนจักรทำการสอน
• แต่ที่น่าแปลกคือ นักปรัชญาในกลุ่มรู้แจ้ง (Enlightenment) เช่น วอลแตร์ มองว่า คนจนไม่จำเป็นต้องได้รับการศึกษาที่ดีนัก เพราะเป็นผู้ใช้แรงงาน อุปสรรคที่สำคัญอีกประการคือความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาระหว่างคนจนและคนรวย และการที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยคอนแวนต์ยังมองว่า คุณสมบัติของผู้หญิงยังเหมาะกับความรู้ในศาสตร์ เช่น ศิลปะ วรรณกรรม การเย็บปักถักร้อย การเต้นรำ ประวัติศาสตร์ หรือหลักยุติธรรมพื้นฐาน (the main rules of justice) เท่านั้น
• ในภาพรวมในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เกิดการพัฒนาในหลายๆด้านอย่างก้าวกระโดด และเป็นช่วงของการวางรากฐานของการศึกษาวิศวกรรม กลศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ และการทหาร ซึ่งนำมาสู่ความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของฝรั่งเศสในยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านกลไกที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกชนชั้นมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ให้ชนชั้นขุนนางครอบครองทรัพยากรอย่างง่ายดายอย่างที่เคยเป็น
• พระองค์ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยและสนับสนุนการศึกษาที่เป็นพื้นฐานความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคมของฝรั่งเศสในหลายด้าน เช่น École royale des mines สำหรับสร้างทักษะฝนด้านวิศวกรรมและคณิตศาสตร์ให้ประชากรเพื่อการก่อสร้างบ้านเมืองในยุคนั้น เช่น การสร้างถนน และสะพานในยุคนั้น ซึ่งในปัจจุบันสถานศึกษาแห่งนี้ก็ยังคงได้รับการยอมรับอย่างมากทั้งในด้านวิศวกรรมและพลังงาน Société royale de médecine (Royal Society of Medicine) เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และให้ความช่วยเหลือกับประชาชนในการรักษาโรค ความสนใจของแพทย์ที่มีต่อวิชาชีพ และคุณภาพของน้ำ อาหารและอากาศที่เป็นพื้นฐาน ที่ส่งต่อมาในช่วงที่มีการปฏิวัติและหลังจากนั้น อันเป็นพื้นฐานของธุรกิจน้ำแร่อันเลื่องชื่อของประเทศฝรั่งเศสด้วย ผลของการพัฒนานี้ยืดอายุขัยของประชากร และคุณภาพชีวิตของประชาชน และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในเขตเมือง เช่น ปารีสก็มีอ่างอาบน้ำบริเวณแม่น้ำแซนให้บริการสำหรับคนยากจน และเมืองปารีสเองมีความสะอาดสะอ้านมากขึ้น
• พระองค์ยังได้ให้ปฏิรูปวงการวิทยาศาสตร์ที่เดิมบริหารอย่างหละหลวมโดยบรรดาขุนนาง ให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและเปิดกว้างมากขึ้น ขยายขอบเขตไปยังเกษตรกรรมฟิสิกส์ เหมืองแร่ แร่ธาตุและกลศาสตร์ และในรัชสมัยของพระองค์ความก้าวหน้าในด้านการวิจัย ซึ่งทำให้สามารถที่จะวางพื้นฐานทางด้านเคมี จนกลายมาเป็นผู้นำในการส่งออกจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นพระองค์ยังได้ปฏิรูปการทหาร นอกจากก่อตั้งโรงเรียนฝึกเทคโนโลยีทางการทหาร พระองค์ได้เปิดโอกาสให้มีการรับนักเรียนโดยถือความสามารถมากกว่าเชื้อสายวงศ์ตระกูล มีการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของทหารสร้างอาชีพให้กับทหารในยามสงบ พระองค์ได้ทำให้ฝรั่งเศสบรรลุความเป็นเลิศทางการทหาร แต่ก็ให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์มากกว่า พระองค์ประสงค์ที่จะให้มีการพัฒนากองเรือของฝรั่งเศสเดินทางไปยังมหาสมุทร เพื่อที่จะทำแผนที่ได้ถูกต้อง และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของทุกชีวิตรวมถึงทหารระดับล่างด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับนโปเลียนในอีกไม่กี่ปีถัดมา หรือแม้แต่อดีตประธานาธิบดีมีแตร็อง (Mitterand ประธานาธิบดีฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. 1981-1995) ที่มีปฏิบัติการทางทหารในนิวซีแลนด์ในปีค.ศ. 1989 โดยเปรียบเทียบแล้วพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นกษัตริย์ผู้นำที่ใฝ่สันติที่สุดที่ฝรั่งเศสเคยมีมา
• ในด้านประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าการตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เป็นอยู่ (distrust of established facts and opinions) ของผู้คนที่ได้รับการบ่มเพาะจากนักปรัชญาในยุคนั้นและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ทำให้ชาวฝรั่งเศสมีนิสัยตั้งข้อสงสัยมากขึ้น และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ได้เปิดโอกาสให้นักคิดและประชาชนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีแม้แต่กับระบอบกษัตริย์เอง
• Clarke เองก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ในยุคนั้นดูจะมีมากกว่าที่ชาวฝรั่งเศสจะแสดงต่อประธานาธิบดีของตนเองได้ในยุคนี้เสียด้วยซ้ำ ในยุคของพระองค์ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูด เขียนหรือแสดงความคิดเห็นในทางตรงกันข้ามกับทางการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเสรีภาพนี้สูญสิ้นไปทันทีที่มีการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์ หรือแม้แต่อีกหนึ่งศตวรรษถัดมาหลังจากนั้น หรือแม้แต่ในช่วงของนโปเลียนเสียด้วยซ้ำ ในยุคของพระองค์นี้เองที่ฝรั่งเศสมีหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรก ซึ่งมีมาตรฐานของการเขียนในระดับวรรณกรรม พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ให้การสนับสนุนการพูดคุยอย่างเปิดเผย และการเปลี่ยนแปลงที่จะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แม้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นแต่ กฎเกณฑ์ในราชสำนักก็ยังคงอยู่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ
• การปฏิวัติล้มล้างสถาบันกษัตริย์ในฝรั่งเศสมักถูกมองในมุมที่ว่า เป็นคลื่นแห่งการถอนรากถอนโคน (cleansing tidal waves) จากเหล่าผู้ที่ไม่นับถือศาสนาต่ออิทธิพลของศาสนาเก่าแก่ บรรดานักบวช และสมุนในทางโลก นั่นคือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งวางตัวเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจตาม “เทวสิทธิ์” (divine right) ดังนั้นการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์จึงมีค่าเท่ากับการกำจัดพระเจ้า
แต่นี่ก็เป็นเรื่องเท็จ (myth)
จริงอยู่ที่ว่า นักปรัชญาผู้มีความคิดอิสระได้รับการสนับสนุนให้ตั้งคำถามต่อศาสนา และต่อต้านศาสนจักรฝรั่งเศสในการถือครองที่ดิน เก็บภาษีคนยากจนและใช้อำนาจทางการเมือง
แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศฝรั่งเศสในค.ศ. 1789 ไม่สามารถที่จะอ่านหนังสือได้ฉะฉาน หรือเข้าใจศัพท์แสงทางปรัชญาที่ซับซ้อนได้ ดังนั้นถึงแม้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า ภาษีที่ทางศาสนจักรเก็บจำเป็นจะต้องปรับลดลง
แต่พวกเขาก็ยังเคร่งศาสนาเป็นอันมาก พระศาสนจักร ในฝรั่งเศสเองเป็นศูนย์กลางของความเอื้ออาทร และความเท่าเทียมกันในสังคม
Clarke กล่าวว่า ดังนั้น หากคนฝรั่งเศสสามารถย้อนเวลากลับไปได้ ก็คงจะไม่ต้องการล้มล้างพระศาสนจักร แต่น่าจะเห็นด้วยกับแผนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่จะลดภาษีลงมากกว่า
• ต่ออายุขัยของประชากร และคุณภาพชีวิตของประชาชน ในเขตเมืองเช่น ปารีสก็มีอ่างอาบน้ำบริเวณแม่น้ำแซนให้บริการสำหรับคนยากจน เมืองปารีสเองมีความสะอาดสะอ้านมากขึ้น และประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกมากขึ้น
จบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์
เทียบหนังสือ 'อ.พวงทอง' ปชต.เป็นข้ออ้างที่จะเข้าแทรกแซงความมั่นคงภายในประเทศอื่น
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า
'ดร.อานนท์' เห็นพ้อง 'ดร.ไชยันต์' ยุค 'ลุงตู่' ไม่ได้ปฏิรูป คงได้เห็น 'สงครามกลางเมือง' ในไม่นาน
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้แชร์โพสต์ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้โพสต์บทความเรื่อง “ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็ว่ากันด้วยสงครามกลางเมือง”
'อ.ไชยันต์' จับตาการเมืองไทยอาจเข้าสู่แพร่งที่สอง หวังพรรคการเมืองผลัดเปลี่ยนเป็นรัฐบาล
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง "ทางสองแพร่งการเมืองไทย" มีเนื้อหาดังนี้
ถึงบางอ้อ! 'อ.ไชยันต์' สวมบท เชอร์ล็อก โฮล์ม สืบย้อนหลัง พบจุดข้อสอบเอนทรานซ์รั่วปี47
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
'อ.ไชยันต์' เผยสังคมไทยในสายตานักวิชาการฝรั่ง เป็น 'โครงสร้างแบบหลวม' ตรงข้ามกับญี่ปุ่น
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า