'กสม.' ชี้เจ้าหน้าที่ทหารไปเยี่ยมครอบครัวจำเลยในคดีอาญาถือว่าละเมิดสิทธิฯ

'กสม.' ชี้เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมครอบครัวเคยตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ละเมิดสิทธิมนุษยชน ชง 3 ข้อให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าแก้ไขแนวปฏิบัติ

10 มี.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กสม.แถลงข่าวประจำสัปดาห์ครั้งที่ 9/2565 ระบุว่า ตามที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ว่า ผู้ร้องซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี มีความกังวลจากการที่เจ้าหน้าที่กองร้อยทหารพรานที่ 4202 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 เข้าตรวจเยี่ยมบ้านพักและสอบถามถึงสามีของผู้ร้อง เนื่องจากสามีของผู้ร้องเคยตกเป็นจำเลยในคดีวางระเบิดห้างสรรพสินค้าในจังหวัดปัตตานี แม้ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง และสามีของผู้ร้องได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ทหารได้มาที่บ้านพักหลายครั้ง จนทำให้สามีของผู้ร้องเกิดความหวาดกลัวจึงเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ทหารยังมาที่บ้านพักของผู้ร้องอีกหลายครั้ง เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ รายละเอียดส่วนบุคคล การใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งถ่ายรูปผู้ร้องและถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องและครอบครัวเกิดความวิตกกังวลและหวาดกลัว จึงขอให้ตรวจสอบ

เรื่องนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การเข้าตรวจค้นและการเข้าพบปะเยี่ยมเยียนเครือญาติบุคคลเป้าหมายเป็นไปเพื่อสอบถามข้อมูล ซึ่งในการเข้าพบแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่จะแสดงตน แจ้งสังกัด รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมเยียน และมีการลงบันทึกการตรวจเยี่ยมทุกครั้ง ส่วนกรณีการไปพบปะที่บ้านพักเพื่อเยี่ยมเยียนบุคคลที่เคยถูกจับกุมและพ้นโทษแล้ว เป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า โดยใช้ชุดจรยุทธ์ในพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการ

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลไว้ การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 ที่ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยพลการไว้เช่นเดียวกัน

กรณีตามคำร้องแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า การที่เจ้าหน้าที่เดินทางไปพบผู้ร้องที่บ้านพัก เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์อันเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือการป้องกันอาชญากรรม แต่การดำเนินมาตรการนั้นจะต้องยึดหลักความได้สัดส่วนระหว่างการดำเนินมาตรการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์กับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการแทรกแซงหรือการรุกล้ำสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องและครอบครัวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และสามีผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมาย มิได้พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว แต่การที่เจ้าหน้าที่ไปพบผู้ร้องที่บ้านพักตั้งแต่ปี 2559 – 2564 หลายสิบครั้ง โดยที่ผู้ร้องไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และบางครั้งมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวในลักษณะติดตามตรวจสอบ และเมื่อพิจารณาถึงครอบครัวของผู้ร้องที่มีแต่ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเด็กแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด พร้อมอาวุธครบมือไปพบที่บ้านพัก ย่อมสร้างความวิตกกังวลและความหวาดกลัวให้กับครอบครัวของผู้ร้อง มีผลทำให้ผู้ร้องและครอบครัวใช้ชีวิตโดยไม่ปกติสุข

การกระทำของเจ้าหน้าที่กรณีนี้ จึงไม่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ระบุให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อสิทธิมนุษยชน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวในการอยู่หรือพักอาศัย (Territorial Privacy) อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเห็นควรมีมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปได้ดังนี้

1.ควรยกเลิกแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ให้หน่วยทหารในพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของเครือญาติ ซึ่งเป็นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง

2.ควรปรับปรุงแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการเข้าตรวจเยี่ยมเครือญาติบุคคลเป้าหมาย ที่คำนึงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้มีความเหมาะสม ได้สัดส่วน และลดผลกระทบที่จะเกิดกับเครือญาติกลุ่มเป้าหมายในสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว โดยร่วมมือกับผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ หรือหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ในการเข้าตรวจเยี่ยมร่วมกัน และดำเนินการให้เหมาะสม เช่น หากครอบครัวใดมีเฉพาะผู้หญิงและเด็กพักอาศัยอยู่ในบ้าน ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้หญิงเข้าตรวจเยี่ยมด้วย เป็นต้น

และ 3.ควรเผยแพร่กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือแนวทางปฏิบัติ ที่มีลักษณะเป็นหลักประกันสิทธิให้กับประชาชน ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ในรูปแบบและภาษาที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าใจได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ อันเป็นการลดปัญหาผลกระทบจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปลาหมอคางดำ'ต้องเป็นศูนย์ ก่อนนิเวศย่อยยับ

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย   ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553  ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน

กสม. ชี้ตร.ปล่อยให้มีการถ่ายภาพ-คลิปเด็กกราดยิงในห้างฯเผยแพร่ในโซเชียล ละเมิดสิทธิ

กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการถ่ายภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิฯ

ท่วมท้น! โหวต 406 เสียงรื้อคำสั่ง คสช.14/2559 เรื่องไฟใต้

มติเอกฉันท์ 406 เสียง! สภาฯ ผ่านร่าง กม.รื้อคำสั่ง คสช.14/2559 ฟื้นสภาที่ปรึกษาฯชายแดนใต้ พร้อมหนุนปรับการคัดเลือก โดยการเลือกตั้ง เพิ่มสัดส่วนเยาวชน

เปิดผลตรวจสอบ 'คดีไซยาไนด์' ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายกฯ สั่งหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. ให้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในหลวง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) เป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน.(วาระพิเศษ) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

เปิดผลสอบกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงาน 'ฟุตบอลจตุรมิตร' ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก

กสม. เผยผลสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงานฟุตบอลจตุรมิตร ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก แต่มีข้อเสนอแนะไปยังโรงเรียนทั้งสี่เพื่อให้งานดียิ่งขึ้น