'กรณ์' ลงพื้นที่บางกะปิ ปชช.ร้องช่วยแก้ปัญหาค่าไฟแพง ลั่น มุ่งรื้อโครงสร้างพลังงานโดยไม่กลัวใคร

'กรณ์'ลงพื้นที่บางกะปิ ช่วย 'ธาม-กอบกฤต' หาเสียง ประชาชนเรียกร้อง ช่วยแก้ปัญหาค่าไฟ หลังพุ่งสูงจนช็อก ลั่น มุ่งรื้อโครงสร้างพลังงานโดยไม่กลัวใคร ชี้กำลังผลิตมากกว่าความต้องการถึง 50% เป็นต้นทุนที่ต้องไปจ่ายให้กับเอกชน

19 เม.ย.2566 - นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ลงพื้นที่หาเสียงเพื่อช่วย นายธาม สมุทรานนท์ ผู้สมัครส.ส.เขตบางกะปิ เบอร์ 8 และนายกอบกฤต สุขสถิตย์ ผู้สมัคร ส.ส.เขตห้วยขวาง เบอร์ 13 ณ ตลาดลาดพร้าว 87 โดยมีพ่อค้า แม่ค้า และประชาชนให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาค่าไฟที่เพิ่มขึ้นให้กับนายกรณ์ ฟัง เนื่องจากทราบว่า นายกรณ์ เป็นผู้ที่ต่อสู้เรื่องค่าไฟฟ้า และพรรคชาติพัฒนากล้าเองก็ประกาศจะรื้อโครงสร้างพลังงานเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน

นายกรณ์ กล่าวว่า ประชาชนสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกครัวเรือน และในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลประกาศขึ้นค่าไฟฟ้า ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนจาก 4.72 บาท เป็น 4.77 บาท แต่ลดให้ภาคอุตสาหกรรมจาก 5.33 ลงมาเท่ากับภาคครัวเรือนคือ 4.77 บาท เดือนพฤษภาคมจึงเป็นวันเผาจริงของประชาชน

หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวอีกว่า ไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้โดยภาคอุตสาหกรรม ตนเห็นด้วยที่จะลดราคาให้ แต่ขอให้ลดเพียง 8-9% ได้ไหม เพราะเป็นจำนวนที่ไม่ต้องเพิ่มภาระให้ประชาชนในช่วงที่พวกเขาเดือดร้อน และมันก็ไม่เหตุผลที่มีตรรกะอธิบายได้ว่าทำไมต้องขึ้นเวลานี้ เนื่องจากต้นทุนสำคัญในการผลิตไฟฟ้าคือการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ในอดีตแก๊สที่เราใช้ส่วนใหญ่เป็นแก๊สจากอ่าวไทย แต่ในช่วงหลังมีประเด็นปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปริมาณแก๊สลดลงตามธรรมชาติ อีกส่วนคือโอนถ่ายสัมปทาน ที่เป็นปัญหาที่เกิดจากการทำงานของบริษัทในเครือ ปตท.คือ ปตท.สผ. พอปริมาณแก๊สที่เราผลิตจากอ่าวไทยลดลง มันเลยทำให้เราต้องไปซื้อแก๊สที่เป็น LNG จากต่างประเทศมากขึ้น และโชคไม่ดีไปเจอช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟในช่วงเวลานั้นสูงขึ้น แต่ถ้าเรามาดูความเคลื่อนไหวของราคาแก๊ส LNG ตั้งแต่ระดับช่วงที่สูงที่สุดอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ ต่อล้านบีทียู และได้ลดราคาลงมาอย่างรวดเร็วภายใน 6 เดือนเหลือ 11 ดอลลาร์ต้นทุนค่าใช้จ่ายของตัวเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าลดลง ทำไมถึงต้องปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น

นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเรารักษาเสถียรภาพได้ดี ต้นทุนในการซื้อแก๊สก็ถูกลงด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อต้นทุนราคาแก๊สถูกลง เงินบาทก็แข็ง ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องปรับขึ้นค่าค่าไฟ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนเรื่องของโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องของค่าไฟฟ้า วันนี้ประชาชนรับภาระเต็ม ๆ โดยที่ไม่ได้มีการประเมินเลยว่าสาเหตุที่ต้นทุนมันเพิ่มขึ้นด้วยเหตุใด มีการอภิปรายในสภาหลายครั้ง ว่า กฟผ.ในอดีต ได้ไปอนุมัติเซ็นต์สัญญาที่จะซื้อไฟจากภาคเอกชนในปริมาณที่มากเกินความต้องการ โดยปกติการรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 15% ซึ่งเป็นปริมาณที่เหลือเฟือเพียงพอแล้ว แต่วันนี้กำลังผลิตของเรามีมากกว่าความต้องการถึง 50% ซึ่งมันเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของการไฟฟ้าที่ต้องไปจ่ายให้กับภาคเอกชน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20% ที่โยนภาระให้ประชาชนแบกรับ

อีกปัญหาคือ เรื่องของปริมาณแก๊สที่เราสามารถผลิตในอ่าวไทย ตรงนั้นมันก็เกิดจากความผิดพลาด ในการถ่ายโอนตัวสัมปทานระหว่างเชฟรอน กับ ปตท.สผ. ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณแก๊สที่เราผลิตได้ในต้นทุนราคาที่ต่ำในอ่าวไทย มีปริมาณน้อยมาก น่าแปลกตรงที่ ปตท.สามารถที่จะโอนต้นทุนที่จะต้องไปซื้อแก๊สจากต่างประเทศมาในราคาที่แพงให้ขึ้นให้กับการไฟฟ้าได้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตผิดพลาดก็สามารถที่จะโอนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของการไฟฟ้าส่งต่อมาให้กับประชาชนได้ ประชาชนเป็นผู้รับภาระแต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจที่จะเจรจาต่อรองใด ๆ เลย ซึ่งตรงนี้เป็นโครงสร้างที่ต้องปรับต้องเปลี่ยน เป็นเรื่องที่ชาติพัฒนากล้าจะต้องมาทุบเรื่องนี้แน่นอน

“ระบบการกำหนดค่าไฟบ้านเราเป็นระบบส่งต่อให้ประชาชนทั้งหมด ผู้ผลิตไม่รับความเสี่ยงอะไรเอาไว้เลย ต้นทุนเท่าไร ก็ส่งมาที่ประชาชน ไม่แปลกที่จะทำให้มีคนร่ำรวยจากการสร้างโรงไฟฟ้า ผมมองว่ามันไม่ยุติธรรม และที่มีการออกมาให้ข่าวว่าไม่สามารถจะลดค่าไฟฟ้าได้ เนื่องจากได้ลงนามในสัญญาแล้ว ก็ต้องรอการเปลี่ยนแปลงครับ ถ้าท่านไม่ทำจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าทำได้มันอยู่ที่ความตั้งใจ เรื่องของการรื้อระบบ การคำนวณราคาค่าไฟฟ้ามัน เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทุนใหญ่แน่นอน เพราะมันมีผู้เสียประโยชน์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราไม่กลัว และสาเหตุที่เราเลือกอยู่พรรคเล็ก เพราะเราการมีอิสระทางความคิดและทางนโยบาย เราไม่ต้องพึ่งทุนมากมายจากใคร ทำให้เราสามารถรักษาความซื่อสัตย์ต่อประโยชน์ที่มีต่อประชาชนไว้ได้” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สยามเทคโนโพล' เผย คนไทยส่วนใหญ่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เหตุช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับ อาจารย์วงศกร อยู่มาก หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และ ดร.ธนเสฏฐ์ อัคคัญญ์ภูดิส อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล เปิดเผย ผลสำรวจเรื่อง ประชาชนสนใจโซลาร์เซลล์

เลขาครป.จี้รัฐแก้ปัญหาโครงสร้างยุติซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ให้กฟผ.กลับมาผลิตเองเหมือนเดิม

เลขาครป.จี้รัฐบาลแก้ปัญหาโครงสร้างยุติการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน แต่ให้กฟผ.กลับมาผลิตเองเหมือนเดิม ด้วยต้นทุนที่ต่ำจะสามารถลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้ และขอให้ตรวจสอบสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเอื้อประโยชน์ให้นายทุนของรัฐบาล

'กรณ์' ดึงสติรัฐบาลอย่ากู้เงินต่างประเทศในช่วงนี้

'กรณ์' เตือนรัฐบาลคิดให้ดี กู้เงินต่างประเทศในรอบ 25 ปีเพื่อมาทำประชานิยม ชี้อาจต้องแบกดอกเบี้ยเกิน 6% ขึ้นไป ซ้ำเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน หากเทียบกับกู้เงินบาทแพงกว่าถึง 2 เท่า