ภูมิใจไทย VS เพื่อไทย แข่งเดือดสนามเลือกตั้ง นครพนม

นครพนม-เจาะสนามเลือกตั้ง ส.ส.นครพนมทั้ง 4 เขต ศึกวัดบารมีภูมิใจไทย VS เพื่อไทย ชี้อนาคตการเมืองถิ่นเสื้อแดง พร้อมส่องคลื่นลูกใหม่มาแรง

19 มี.ค. 2566 -ช่วงนับถอยหลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะครบวาระ 4 ปีในวันที่ 23 มีนาคม 2566 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้วางปฏิทินวันเข้าคูหาเลือกตั้งอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ไม่ว่าจะครบวาระตามกำหนด หรือมีการยุบสภาก่อนครบวาระก็ตาม

โดยพื้นที่จังหวัดนครพนมมีเนื้อที่ประมาณ 5,512 ตารางกิโลเมตร หรือราว 3,445,414 ไร่ ถือเป็นจังหวัดชายแดนอีสาน ที่มีอาณาเขตอยู่ติดกับแขวงคำม่วน สปป.ลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นเขตแดน และเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามอง ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก

จากภาพรวมการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่ผูกขาดมายาวนาน ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ ภายหลังควบรวมกับพรรคไทยรักไทย ต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ถือว่าเป็นพรรคการเมืองเดียวที่กวาด ส.ส.ได้ครบทุกเขตเลือกตั้ง แต่ทว่าการเลือกตั้งผู้แทนที่จะมาถึง จะเป็นการวัดบารมีของ 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคภูมิใจไทย กับ พรรคเพื่อไทย เนื่องจากมีการเปลี่ยนขั้วการเมือง หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ส.ส.ในค่ายก็แตกย้ายไปอยู่พรรคอื่น อาทิ สหายแสง-นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ส.ส.นครพนมเขต 1 พรรคพลังประชาชนในขณะนั้น โดดไปอยู่พรรคภูมิใจไทย โดยมีตำแหน่ง รมช.เกษตรฯเป็นรางวัล ฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทยจึงถูกเขย่าตั้งแต่นั้นมา
ซึ่งหลังจากสหายแสง-นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว หันไปร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองกับครูใหญ่เจ้าของวลี”มันจบแล้วครับนาย” นายเนวิน ชิดชอบ โดยได้มีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ กระทั่งมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 สหายแสง-นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว พรรคภูมิใจไทย ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่นายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ จากพรรคเพื่อไทย อดีตกำนันตำบลศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม

เมื่อมาถึงการเลือกตั้งปี 2562 กระแสการแข่งขันทางการเมือง เริ่มดุเดือดขึ้นอีกเท่าตัว ในเมื่อสหายแสง-นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ได้จัดทัพสร้างฐานคะแนนนิยมทางการเมือง ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านต่อเนื่อง ตลอดเวลา 7-8 ปี ทำให้นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว สามารถฝ่ากระแสความนิยมพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทยมาได้เพียงคนเดียว ในเขตเลือกตั้งที่ 1 อ.ศรีสงคราม อ.นาทม และ อ.บ้านแพง ด้วยคะแนนท่วมท้นกว่า 34,000 คะแนน สามารถเอาชนะนายยุทธจักรเรือง วรบูรณ์ อดีตส.ส.เพื่อไทย เขต 1 นครพนม แชมป์เก่าอย่างขาดลอย ส่วนเขต 2,3 และเขต 4 พรรคภูมิใจไทยแพ้หลุดลุ่ย

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 2 มีพื้นที่ อ.โพนสวรรค์ อ.ท่าอุเทน และอำเภอเมืองนครพนม (เฉพาะตำบลในเมือง ต.หนองแสง ต.อาจสามารถ ต.นาราชควาย ต.หนองญาติ และตำบลท่าค้อ) ยังเป็นแชมป์เก่า ดร.มนพร เจริญศรี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนมากกว่า 22,000 คะแนน อันดับสอง คือหลานสาวพ่อใหญ่จิ๋ว นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ หรือน้ำผึ้ง ที่ลงสมัคร ในนามพรรคพลังประชารัฐ แพ้ห่างนับหมื่นคะแนน

เขตเลือกตั้งที่ 3 มีพื้นที่ อ.เรณูนคร อ.ธาตุพนม และอำเภอเมืองนครพนม (เฉพาะตำบลบ้านกลาง ต.ดงขวาง ต.ขามเฒ่า ต.คำเตย ต.โพธิ์ตาก และตำบลนาทราย) ยังเป็นของผู้แทนขวัญใจประชาชน แชมป์ตลอดกาล 11 สมัย คือ ดร.ไพจิต ศรีวรขาน พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนกว่า 18,000 คะแนน เอาชนะคู่แข่งคือนายแพทย์ อลงกต มณีกาศ ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ห่างกันประมาณ 2,000 คะแนน

และเขตเลือกตั้งที่ 4 มีพื้นที่ อ.นาแก อ.วังยาง อ.ปลาปาก และอำเภอเมืองนครพนม (เฉพาะตำบลวังตามัว ต.กุรุคุ และตำบลบ้านผึ้ง) ต้องยอมรับว่าเป็นเขตที่ชี้วัดว่าพรรคเพื่อไทย ยังมีฐานคะแนนนิยมสูงอยู่หรือไม่ เนื่องจาก นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มีความจำเป็นย้ายมาลงสมัคร ส.ส.เขตฯ หลังจากนายชูกัน กุลวงษา แชมป์เก่าถูกจีบไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น แต่ฐานเสียงพรรคเพื่อไทยยังเหนียวจึงทำให้นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ชนะการเลือกตั้งเกินความคาดหมาย ด้วยคะแนนกว่า 24,000 คะแนน ห่างอันดับสองคู่แข่งคือนายชูกัน กุลวงษา กว่า 10,000 คะแนน ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อมูลการเลือกตั้ง ส.ส.นครพนมทั้ง 4 เขตเมื่อปี 2562

ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ส.ปี2566 ที่จะมาถึง ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ดุเดือด เพราะพรรคเพื่อไทยจะต้องเจอศึกหนัก ทั้งจากการวางตัวผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทย รวมถึงกฎหมายการเลือกตั้งที่ ให้มีการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เลือกพรรคและเลือกคน ที่อาจทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องสูญเสียคะแนนนิยมส่วนตัวของผู้สมัคร หากไม่มีการวางตัวผู้สมัคร ที่มีฐานคะแนนนิยมที่เหนียวแน่นดีพอ

โดยการเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดนครพนม แบ่งออกเป็น 12 อำเภอรวม 4 เขตเลือกตั้ง มีประชากรทั้งหมดประมาณ 7 แสนคน จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 5.6 แสนคน และมีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณร้อยละ 70 หรือราว 3.8 แสนคน

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งที่จะกำลังจะเกิดขึ้น สหายแสง-นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย แม่ทัพคนสำคัญของนครพนม ได้มีการปรับทัพเพื่อช่วงชิงเก้าอี้ทั้ง 4 เขต โดยอาศัย ช่องว่างของการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เลือกพรรคและเลือกคน ที่โอกาสพรรคเพื่อไทยจะเสียคะแนนนิยมมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา พร้อมปรับการวางตัวผู้สมัครทุกเขต เพราะถือว่าเป็นการเลือกตั้งชี้อนาคตทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทย หากไม่สามารถล้มแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทยได้ โดยพลิกมาชนะทั้ง 4 เขต โอกาสที่พรรคภูมิใจไทยจะกลับมาชิงเก้าอี้ในอนาคตคงยาก จึงทำให้สหายแสง-นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย ยอมทิ้งฐานที่มั่นในเขตเลือกตั้งที่ 1 (อ.ศรีสงคราม อ.นาหว้า และ อ.บ้านแพง) โดยส่งภรรยาคือนางพูนสุข โพธิ์สุ อดีตข้าราชการครู และอดีตรองนายก อบจ.นครพนม ลงสู้ศึกแทน ชนกับ ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ อดีต ส.ส.แบบสัดส่วน พรรคภูมิใจไทย และอดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อชาติ ปัจจุบันมาลงสมัครส.ส.เขต 1 พรรคเพื่อไทย

ส่วน สหายแสง-นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย หันมาลงสมัครเขต 2 หวังล้มแชมป์เก่าคือ ดร.มนพร เจริญศรี ส.ส.เขต 2 นครพนม พรรคเพื่อไทย ทางด้านเขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคภูมิใจไทย ดึงเอานายแพทย์ อลงกต มณีกาศ อดีตผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ย้ายมาสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย หวังล้างตากับ ดร.ไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.แชมป์ตลอดกาล 11 พรรคเพื่อไทย หลังคาใจครั้งที่แล้วแพ้เลือกตั้งประมาณ 2,000 คะแนน

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 4 พรรคภูมิใจไทยส่งนายชูกัน กุลวงษา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ มารอบนี้ย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทยตามเทียบเชิญของครูแก้ว หวังล้มแชมป์คือนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.เขต 4 นครพนม พรรคเพื่อไทย ที่ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคไทยสร้างไทย

ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ส่งนายณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.นครพนม และเป็นน้องชายของนายอรรถสิทธิ์ (คันคาย) ทรัพยสิทธิ์ ส.ส.เขต 4 นครพนม 7 สมัย สวมสีเสื้อพรรคเพื่อไทย และพื้นที่เลือกตั้งนี้ยังมี ดร.สมชอบ นิติพจน์ อดีตนายก อบจ.นครพนม ที่เคยสังกัดพรรคเพื่อไทย หลังแพ้การเลือกตั้งนายก อบจ.ฯ ได้โบกมือลาพรรคเพื่อไทย เตรียมลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้เขตเลือกตั้งเขตนี้ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะถือว่าแต่ละพรรค มีผู้สมัครที่คะแนนนิยมสูสี

นอกจากนี้ก็ยังมีนักการเมืองหน้าใหม่ไฟแรง อย่างเช่นนายบัญชา มาตย์วังแสง ที่พรรคพลังประชาธิปไตยส่งเข้าประกวด เพราะขยันลงพื้นที่ตั้งแต่ปี่กลองการเมืองยังไม่บรรเลง ประกอบกับเป็นคนในพื้นที่โดยกำเนิด จึงได้ใจประชาชนเป็นกอบเป็นกำ เรียกว่าหาเสียงตุนคะแนนอย่างเงียบๆ หากพรรคใหญ่มัวแต่ห่วงหน้าพะวงหลัง ระวังนายบัญชาคว้าตั๋วเดินเข้าสภา

หากถามถึงที่มาของคะแนนนิยมในแต่ละพรรค ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ทำให้ผู้สมัครที่มีคะแนนนิยมส่วนตัวได้เปรียบสูง ส่วนคะแนนนิยมพรรค ภาพรวมในพื้นที่นครพนม ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีฐานความนิยมมายาวนาน และเชื่อว่าจะได้คะแนนนิยมพรรคสูงกว่าทุกพรรค ส่วนการช่วงชิงคะแนนของพรรคภูมิใจไทย นำโดยสหายแสง-นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว หลังจากย้ายฐานที่มั่นเขตเลือกตั้งจากเขต 1 เป็นเขตเลือกตั้งที่ 2 จะต้องฝ่ากระแสความนิยมส่วนตัวให้ได้มากที่สุด เพราะคะแนนนิยมพรรคภูมิใจไทย ยังมีปัญหาเรื่องเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และเลือกอยู่ฝ่ายเผด็จการ จากคราวที่แล้วเคยหาเสียงไว้ว่าจะไม่ร่วมรัฐบาล บวกกับนโยบายกัญชาเสรียังไม่สะเด็ดน้ำ

ส่วนหนึ่งเชื่อว่าพรรคภูมิใจไทย จะสร้างฐานคะแนนนิยมจากการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากสหายแสงมีลูกสาว คือ นางสาว ศุภพานี โพธิ์สุ หรือนายกขวัญ ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.นครพนม เมื่อปี 2564 ที่จะมีส่วนช่วยในฐานคะแนนให้พรรคภูมิใจไทยทั้ง 12 อำเภอ ขณะที่พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับว่า มีคะแนนนิยมพรรคมายาวนาน หากตัวผู้สมัครยังมีคะแนนนิยมส่วนตัวสูง และนโยบายเข้าถึงประชาชน น่าจะมีความได้เปรียบในส่วนของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย โดยประชาชนมีกระแสนิยมชัดเจนในการสนับสนุนพรรคฝ่ายประชาธิปไตย อาจทำให้พรรคภูมิใจไทยยากที่จะฝ่ากระแส เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่เริ่มมาจากการทำรัฐประหาร

อย่างไรก็ตามการเลือกครั้งนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งชี้อนาคตทางการเมือง ทั้ง 2 พรรคในพื้นที่จังหวัดนครพนม หากพรรคภูมิใจไทยไม่สามารถที่จะล้มแลนด์สไลด์ หรือช่วงชิงเก้าอี้ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว อนาคตทางการเมืองคงยากที่จะสานต่อในการสร้างความนิยมทางการเมือง โดยเฉพาะสหายแสงที่ยอมทิ้งฐานที่มั่นข้ามเขตเลือกตั้ง ถือว่ามีความเสี่ยงสูง หากพ่ายการเลือกตั้งครั้งนี้ กว่าจะตั้งลำได้คงต้องใช้เวลา เช่นเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย หากถูกล้มแลนด์สไลด์ สิ่งที่ตามมา คือ จะเป็นการสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคภูมิใจไทย แบบเกินความคาดหมาย และอาจจะมีผลต่อการเมืองท้องถิ่นตามมา สำคัญที่สุดทุกพรรคจะต้องเรียกคะแนนนิยมส่วนตัวของผู้สมัครให้ได้มากที่สุด

ในขณะเดียวกัน เขตเลือกตั้งที่ 1 มีตัวสอดแทรกจากพรรคไทยสร้างไทย คือ ดร.มานพ เหมพลชม อดีต สจ.ยุคเดียวกับนายศุภชัย โพธิ์สุ ดร.มนพร เจริญศรี และ ดร.สมชอบ นิติพจน์ ลูกชาวบ้านที่ไฝ่รู้ไฝ่เรียนจนจบปริญญาเอก ปัจจุบันเปิดสำนักงานทนายความ เสนอตัวเป็นทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชนเขตเลือกตั้งที่ 1 โดยยึดหลักทางสายกลาง มีประชาชนเป็นศูนย์รวม

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 2 พรรคก้าวไกลส่ง นางสาว สุพิชญ์ชญา กิตติ์พรศิริกุล หรือน้องพราว ดีกรีปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนสหรัฐอเมริกา โครงการ AFS เป็นคลื่นลูกใหม่ที่พร้อมจะมาสร้างความหวาดผวาให้กับทุกพรรค โดยได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำจากกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ฯลฯ ขณะที่เขตเลือกตั้งที่ 3 ยังไม่มีคลื่นลูกใหม่แสดงตน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิธา' อัด กกต. อย่าสองมาตรฐานคดียุบพรรค เชื่อ ก้าวไกล มีสิทธิรอด

'พิธา' บอก ยังไกลไปเยอะ หาก 'ก้าวไกล' รอดถูกยุบ แล้วฟ้องกลับ 'กกต.' มอง ตีความแยกมาตรา 92-93 ทำให้เกิดสองมาตรฐาน มั่นใจ คดี 44 สส. ยื่นแก้ ม.112 อธิบายได้ ย้ำ ต้องให้โอกาสในการพิสูจน์ เหตุคดีก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด

'ธนกร' แนะ 'ธนาธร-ช่อ' ระวังข้อกฎหมายให้ดีผลักดันแคมเปญชวนคนสมัครสว.

“ธนกร” แนะ “ธนาธร-ช่อ” ระวังข้อกฎหมายให้ดี หลังเปิดแคมเปญชวนคนสมัครสว.กรอกประวัติผ่านเว็ป ส่อชัดจัดตั้ง ชี้ กกต.ออกโรงเตือนแล้ว อาจขัดระเบียบ หวั่นที่มาไม่สุจริต ร้องเรียนกันวุ่น คลอดสว.67ล่าช้า จี้ หยุดเคลื่อนไหวถ้าอยากได้สว.อิสระเป็นประชาธิปไตยลั่น หากพบนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง เจอคุก-ปรับ อ่วมแน่

'เลขากกต.' แจงยิบ 4 เหตุผลพิมพ์บัตรเลือกตั้งสำรอง4.9 ล้านบัตร

'เลขากกต.' แจงยิบ 4 เหตุผลพิมพ์บัตรเลือกตั้งสำรอง4.9 ล้านบัตร ยันต้องแจกเป็นเล่ม ฉีกแบ่งไม่ได้ เผยยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลังเพิ่มถอนชื่อล่าสุด 52.2ล้านคน

พปชร. หนาว! กกต. ลุยสอบเงินบริจาคนายทุนจีน ผิดจริงยุบพรรค

กกต.แจงนายทะเบียนพรรค ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทันที ปมนายทุนบ่อนจีนบริจาคเงิน 3 ล้าน ให้ พปชร. อันเป็นเหตุถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่

'สมชัย' ชี้รัฐบาลแก้ปัญหาสลากราคา 80 บาทผิดทาง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า สลากราคา 80 บาท ที่รัฐบาลประยุทธ์ภาคภูมิใจ