ททท. สำนักงานสุรินทร์ ชวนไปชิม “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ผลไม้ดีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในดินแดนอีสานใต้ ในงานเทศกาลประจำปี 2566 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมเชิญชวนมาสัมผัสแหล่งท่องเที่ยว 3 ธรรม ที่ผสมผสานความงดงามจากธรรมชาติ ธรรมะ และวัฒนธรรมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษอันเลื่องชื่อ
นางนงเยาว์ จิรันดร ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า "ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ" ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียง บ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น อีกทั้งทุเรียนมีรสชาติดี เนื่องจากพื้นดินที่ปลูกอยู่ในบริเวณพื้นที่ภูเขาไฟโบราณ แถบเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นดินที่ผุพังมาจากหินบะซอลต์ ดินจึงมีลักษณะเหนียวแดง ระบายน้ำได้ดี มีธาตุอาหารต่างๆ ในปริมาณสูง จึงทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคจากทั่วประเทศอย่างมาก
จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ระบุว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกทุเรียนจำนวน 2,408 ราย โดยมีพื้นที่การปลูกทุเรียน 15,575 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 9,004 ไร่ และยังไม่ให้ผลผลิต 6,571 ไร่ โดยพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่อำเภอกันทรลักษ์, ขุนหาญ และศรีรัตนะ นับเป็นพื้นที่ให้ผลผลิต 8,873 ไร่ ให้ผลผลิต 14,243 ตัน คิดเป็นร้อยละ 99 ของปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้งหมดของจังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังมีผลไม้และพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษ เช่น เงาะ ลำไย มังคุด ลองกอง เมื่อนับรวมแล้วสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
สีสันทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ
สำหรับเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษในปีนี้ ภายในงานได้ยกกองทัพทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษและผลไม้ต่างๆ จากสวนของเกษตรกรในพื้นที่มาจำหน่าย และมีร้านค้าจากส่วนราชการ รวมถึงสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนต่างๆ อาทิ ผ้าทอเบญจศรี ผ้าทอพื้นถิ่นแบรนด์ศรีสะเกษ ที่มีกรรมวิธีในการย้อมไหมหรือผ้าฝ้ายด้วยวัสดุธรรมชาติ อันเป็นอัตลักษณ์สำคัญของจังหวัด 5 ชนิด ได้แก่ ผลมะเกลือ ดินปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ดินทุ่งกุลา ใบลำดวน และเปลือกไม้มะดัน ทอโดยช่างฝีมือพื้นบ้าน ยกดอกเป็นลายลูกแก้ว มาจำหน่ายในงานด้วย
นอกจากนี้ยังมีสินค้าโอทอป สินค้าอุปโภคและบริโภคที่มีชื่อของจังหวัดศรีสะเกษมาร่วมออกร้าน เช่น หอมแดง กระเทียม ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสินค้า GI : Geographical Indication ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
หอมแดง กระเทียม อีกหนึ่งสินค้าขึ้นชื่อของศรีสะเกษ
ตลอดจนส้มปลานิล ส้มปลาตะเพียน และผลไม้แปรรูปจากชุมชน อาทิ ทุเรียนกรอบ เฟรนช์ฟรายทุเรียนภูเขาไฟ สมูทตี้ทุเรียนภูเขาไฟ เค้กทุเรียนภูเขาไฟ บัวลอยทุเรียนภูเขาไฟ กล้วยฉาบ ส้มโอกวน เผือกแผ่นสไลด์ หนังปลากรอบ ข้าวสาร ข้าวสามสี ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน จังหวัดศรีสะเกษยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่ผสมผสานกันภายใต้แนวคิด “ศรีสะเกษ เมือง 3 ธรรม ประกอบไปด้วย ธรรมชาติ ธรรมะ และวัฒนธรรม” อาทิ
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
สำหรับคนที่ชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สามารถไปชม "สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์" ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง ภายในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ถนนกสิกรรม ตำบลหนองครก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร บนเนื้อที่ 237 ไร่ ลักษณะโดยทั่วไป เป็นที่ราบสูง-ต่ำตามธรรมชาติ มีลำห้วย 2 สายมาบรรจบกันตรงด้านทิศเหนือของสวน ภายในสวนแห่งนี้ มีต้นลำดวน ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่มากมายโดยรอบกว่า 5 หมื่นต้น อันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ
นอกจากนี้ ยังมีสวนสัตว์ สวนสาธารณะที่ตกแต่งได้อย่างสวยงามให้ความร่มรื่น และมีบึงน้ำสำหรับพายเรือเล่น ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 06.00-19.00 น.
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำเภอกันทรลักษ์ ที่ตั้งของผามออีแดง เป็นจุดชมทัศนียภาพสองฝั่งชายแดนไทย-กัมพูชา มีลักษณะเป็นหน้าผาหินสีแดง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 556 เมตร ทำให้มองเห็นผืนป่าเขียวขจีและทัศนียภาพกว้างไกลสุดตาจนสามารถมองเห็นพระวิหารในฝั่งกัมพูชาได้
ภาพสลักนูนต่ำ ที่ผามออีแดง
ด้านทิศใต้ มีบันไดลงเลียบหน้าผา เพื่อไปชมภาพสลักนูนต่ำ รูปเทพสามองค์ ขนาดเท่าคนจริง บนผาหินทราย เชื่อกันว่า เป็นภาพเพื่อซ้อมมือของช่างแกะสลักก่อนจะดำเนินการแกะสลักจริงที่ปราสาทพระวิหาร
ส่วนทิศตะวันตก มีสถูปคู่ ชาวบ้านเรียกว่า ธาตุ ทำจากหินทรายตัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ด้านบนกลมมนตั้งอยู่คู่กัน ข้างในเป็นโพรงไว้บรรจุสิ่งของ ที่เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของสมัยนั้น
จุดชมวิว ผาพญากูปรี
ผาพญากูปรี อำเภอภูสิงห์ แหล่งท่องเที่ยว Unseen New Chapters ของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นจุดชมวิวที่มีอากาศบริสุทธิ์และมีสายลมเย็นจากเทือกเขาพนมดงรักพัดผ่านตลอดเวลา ทั้งยังเป็นจุดชมธรรมชาติที่สวยงามของลำห้วยสำราญแหล่งต้นน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวศรีสะเกษ และเป็นพื้นที่สุดท้ายที่เคยพบกูปรีในประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่จะช่วยเติมความสดชื่นของร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี
วัดมหาพุทธาราม หรือวัดหลวงพ่อโต
สำหรับสายธรรมะ พลาดไม่ได้กับการไปไหว้พระขอพรที่วัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวศรีสะเกษ เริ่มกันที่ วัดมหาพุทธาราม อำเภอเมือง ตั้งอยู่กลางเมืองศรีสะเกษ ที่นี่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวศรีสะเกษ คือ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ สูงจากฐานถึงยอดเกศ 6.85 เมตร หน้าตักกว้าง 3.50 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยขอมซึ่งมีอายุร่วมพันปีมาแล้ว
วัดศรีบึงบูรพ์
วัดศรีบึงบูรพ์ อำเภอบึงบูรพ์ ตั้งอยู่ริมลำน้ำห้วยทับทัน เป็นสถานที่บำเพ็ญเพียรภาวนาของ พระอาจารย์ศรีจันทร์สาโร มีบรรยากาศสวยงามตามธรรมชาติ โดยพระอาจารย์ศรีจันทร์สาโร ท่านมีดำริที่จะสร้างวัดแห่งนี้ให้เป็นพุทธสถานมรดกอีสานใต้ โดดเด่นด้วยพระอุโบสถที่มีลักษณะสูงโปร่ง ผสมผสานศิลปะสมัยอยุธยาเข้ากับศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ได้อย่างลงตัว
วัดป่าศรีมงคลรัตนาราม
วัดป่าศรีมงคลรัตนาราม อำเภออุทุมพรพิสัย วัดแห่งนี้ได้รับการแวะเวียนมาทำบุญอย่างไม่ขาดสายจากนักท่องเที่ยวสายศรัทธา เนื่องด้วยมีถ้ำพญานาคจำลองที่ทางวัดสร้างขึ้นจากพุทธประวัติ ที่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นพญานาค ภายในถ้ำตกแต่งด้วยซอกหลืบและหินงอกหินย้อย ประดับไฟหลากสี ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ภายในถ้ำใต้บาดาล ตรงกลางประดิษฐานพระประธานหยกขาว ล้อมรอบด้วยรูปปั้นนาคาธิบดีและพญานาคขนาดใหญ่ที่เลื้อยพันอยู่ตามผนังถ้ำ เพื่อคอยปกปักป้องกันภัยให้พระพุทธองค์
วัดไพรพัฒนาของหลวงปู่สรวง
วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ เป็นสถานที่พำนักของหลวงปู่สรวง ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญแห่งดินแดนอีสานใต้ เป็นพระที่บำเพ็ญเพียรตามเขตชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากจนเป็นที่รักและศรัทธาของประชาชน สิ่งที่โดดเด่นของวัดไพรพัฒนา คือ มณฑปปราสาทหลวงปู่สรวง ที่สร้างด้วยอิฐสีแดง ในรูปแบบเก่าแก่เหมือนกับศิลปะขอม ที่มีความสวยงามมาก
วัดสำโรงเกียรติ ที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปศิลปะขอม
วัดสำโรงเกียรติ อำเภอขุนหาญ เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระตาตน” พระพุทธรูปศิลปะแบบขอม ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 5 นิ้ว สร้างด้วยเกสรดอกไม้ผสมครั่งหรือยางชัน เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านการขอบุตรธิดา และการรักษาโรคภัยต่างๆ
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จังหวัดศรีสะเกษมีการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน เช่น ชุมชนท่องเที่ยวบ้านดวนใหญ่ อำเภอวังหิน เป็นชุมชนที่เกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน และเป็นชุมชนต้นแบบที่มีการบริหารจัดการที่ดี จนได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย และผ่านการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ระดับอาเซียนอีกด้วย
ท่องเที่ยวชุมชนบ้านดวนใหญ่
ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานสุรินทร์ กล่าวต่อว่า จังหวัดศรีสะเกษ ยังมีจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ตั้งอยู่ที่อำเภอภูสิงห์ เป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อไปยังจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ระยะทาง 139 กิโลเมตรได้ โดยตามเส้นทางนี้สามารถเที่ยวชมอารยธรรมขอมโบราณและสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลก ได้แก่ นครวัด นครธม บันทายศรี ฯลฯ รวมทั้งเที่ยวชม วิถีชีวิตและพิพิธภัณฑ์ของชาวเขมรแดงยุคสุดท้าย ณ อัลลองเวง โดยนักท่องเที่ยวที่มีพาสปอร์ต สามารถเดินทางเข้า-ออกได้สะดวก เปิดให้บริการประชาชนทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น.
ด่านช่องสะงำ
“เชื่อว่า หากนักท่องเที่ยวได้มาเยือนศรีสะเกษแล้ว จะได้ชิมทั้งทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติความอร่อยที่ไม่เหมือนใคร และยังได้พักผ่อนในแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม และมีวิถีถิ่นที่งดงาม ทรงคุณค่าอัตลักษณ์เฉพาะตัวทางวัฒนธรรมของแดนอีสานใต้อีกด้วย”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานสุรินทร์ (พื้นที่รับผิดชอบ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ) Facebook Fanpage : ททท.สำนักงานสุรินทร์ - ศรีสะเกษ TAT Surin-Sisaket, TikTok : @tat_surin โทรศัพท์ 0-4451-4447-8 หรือ โทร. 1672 Travel Buddy
สรณะ รายงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ททท. จัดประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก ในงาน 'สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567'คลองผดุงกรุงเกษม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานลอยกระทง “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567” ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2567 โดยไฮไลท์วันสุดท้าย มีการประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก
รองโฆษกรัฐบาล เผยตัวเลขชี้ท่องเที่ยวไทยคึกคัก
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงรายงานสถานการณ์การท่องเที่ยว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2567) มีนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล
'สระบุรี' ชวนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ MEAT & MILK FESTIVAL วิถีใหม่ของนักเดินทาง กระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่ลานกิจกรรมเมืองคาวบอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา เริ่มงานย้อนตำนานสระบุรี