ดอกไม้ไฟตระการตาหน้าวัดมหาธาตุ
ซากปรักหักพังของโบราณสถาน ในจังหวัดสุโขทัย เมืองมรดกโลก ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรไทย ที่ปรากฎหน้าต่อหน้าสายตาผู้มาเยือน แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต และยังมีโบราณวัตถุที่ถูกขุดค้นพบ เช่นเครื่องถ้วยชามสังคงโลก บ่งบอกถึงความเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากความเข้มแข็งและร่วมมือกันทั้งภาครัฐเอกชนที่จะรักษาบรรยากาศของความเป็นเมืองมรดกโลกไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา หน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกาศให้จังหวัดสุโขทัย เป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก ประจำปี 2021 (The 2021 Destination Top100 Sustainability Stories) ซึ่งจะได้รับการประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วโลก
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)(อพท.) เป็นหนึ่งในภาครัฐที่ช่วยขับเคลื่อนสุโขทัย ไปติดอันดับ1 ใน 100 ของเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน โดยใช้เกณฑ์ GSTC มาพัฒนานโยบายหรือแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งมีตัวชี้วัดเป็น TTCI (Travel and Tourism Competitiveness Index) หรืออันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย มาเป็นธงในการดำเนินงาน
การขับเคลื่อนให้สุโขทัย อบอวลไปด้วยบรรยากาศเมืองประวัติศาสตร์นั้น ก็คือ การนำลวดลายเครื่องสังคโลกมาพิมพ์ลงบนผืนผ้า เรียกว่า ผ้าลายอย่าง ส่วนเศษสังคโลกที่ขุดพบแตกหัก ไม่สามารถต่อเป็นชิ้นสมบูรณ์ได้ ก็นำมาสร้างเป็นประติมากรรมบนกำแพง หรือที่เรียกว่าSangkhalok Street of Art มีระยะยาว 1.5 กิโลเมตร แต่ไม่ว่าจะเป็นผ้าหรือศิลปะบนกำแพง ล้วนปรากฎรูปพันธุ์ปลา หรือพืชพันธุ์ต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความความตระหนักการฟื้นฟูระบบนิเวศท้องถิ่นดั้งเดิมของสุโขทัย รวมทั้ง เครื่องสังคโลกยังเป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมที่ถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษา โรงเรียนท้องถิ่นตั้งแต่ประถมศึกษา-มัธยมศึกษาอีกด้วย
ในเทศกาลลอยกระทง เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ มีหลายจังหวัดที่ไม่ได้จัดงานกันอย่างเต็มที่ หรือบางจังหวัดก็ไม่มีกิจกรรมใดๆ แต่สำหรับ จังหวัดสุโขทัย มีการจัดงานอย่างอลังการ ณ อุทยานประวัติศาสตร์ โอกาสนี้ อพท.ได้ชวนไปสัมผัสบรรยากาศการเผาเทียน เล่นไฟ ซึ่งยังอยู่ภายใต้มาตรการท่องเที่ยววิถีใหม่ปลอดภัยจากโควิด จำกัดผู้เข้างานเพียง 15,000 คนต่อวัน รวมทั้ง มีข้อจำกัด เรื่องห้ามตั้งร้านขายอาหารน้ำดื่ม ไมมีการแสดงดนตรี เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา แต่ดูเหมือนว่าทุกคนที่มางาน ก็พร้อมเข้าใจและปฏิบัติตาม
ทุ่มตรง เราเดินทางมาถึงงานพอดี นักท่องเที่ยวก็เริ่มทยอยต่อแถวเข้างาน แม้จะเป็นวันสุดท้ายแต่คนก็ยังหนาตามากๆ ด่านแรกต้องเดินผ่านประตูคัดกรองโควิด ความสวยงามก็ประจักษ์อยู่ตรงหน้าคือ วัดมหาธาตุ และโบราณสถานโดยรอบ ถูกประดับด้วยไฟห้อยระย้าสวยงาม สระรอบข้างถูกจัดตกแต่งเป็นที่ลอยกระทง พร้อมที่นั่งสำหรับรับชมการจุดแสดงพลุ บรรยากาศโลงทำให้อากาศไม่ร้อนมาก และพื้นที่ก็กว้างพอให้เดินสบายๆเลย
มีร้านขายกระทงตามทางด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 20 บาท มีทั้งกระทงใบตอง กระทงขนมปัง รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปหัวใจ นก ดอกไม้ สีสันสวยงาม ไม่รอช้าเรา ไปซื้อกระทงพร้อมอธิษฐาน ลอยเสร็จก็จัดแจงหาจุดนั่งชมดอกไม้ไฟ พอได้เวลาท้องฟ้าที่มืดครึ้มก็เปล่งประกายด้วยแสงจากพลุที่แตกกระจายมีสีต่างๆ ให้ความสว่างแทนแสงไฟ นักท่องเที่ยวต่างหยิบมาถือมาเก็บภาพความประทับใจเอาไว้ ก่อนที่พลุดอกสุดท้ายจะหมดลง เราเดินไปชมกระทงนานาชาติ งานคราฟที่มาออกร้าน ก่อนจะกลับที่พักด้วยความอิ่มเอมใจ
หากพอมีเวลาขอเชิญชวนแวะไปที่ บ้านมะขวิด บ้านทรงไทยประยุกต์ บรรยากาศร่มเย็น มองเห็นท้องทุ่งนาเขียวขจี ที่นี่เป็นทั้งโรงแรม ร้านกาแฟ-อาหาร และจุดจำหน่ายผ้าทอมือสุโขทัย แม้คนจะค่อนข้างเยอะ แต่ไม่แออัดมาก อากาศถ่ายเท เหมาะกับการมาผักผ่อนจิบน้ำหวานชิวๆ เดินเข้าไปชมด้านในจะตกแต่งด้วยเครื่องใช้ของคนสมัยก่อน ทั้งเตา จานชาม กะทะ ตะหลิว หม้อ และเครื่องสังคโลกที่นำมาตกแต่งเพิ่มความย้อนยุคให้กับบ้านมากยิ่งขึ้น
ไฮไลท์ที่ห้ามพลาดเลยก็คือ ผ้าลายอย่าง คือผ้าพิมพ์ลายโดยใช้เทคนิคปัจจุบันภายใต้ แบรนด์สุโขทัยพัสตร์ โดยมีจัดจำหน่ายมาทั้งหมด 3 รุ่น 4 ลาย มีเพียง 300 ผืนเท่านั้น ได้แก่ ลายปลาปลาตะเพียนทองพื้นบ้าน ลายพุฒตาลแดง ลายพุฒตาลขาว และลายสังคโลก ซึ่งทั้ง 4 ลายถอดแบบมาจากลวดลายบนเครื่องสังคโลก ทำให้ผ้าดูมีความงดงามและมีความหมายถึงวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน ซึ่งตอนนี้ไม่มีผ้าวางขาย หากใครชื่นชอบไม่ต้องเสียใจเพราะ มานพ ยังประเสริฐ เจ้าของร้านและผู้ออกแบบกำลังจะผลิตรุ่นที่ 4 ออกมาเร็วๆนี้
เดินทางไปกันต่อแถววัดสระพานทอง อยู่ไม่ไกลจากบ้านมะขวิด เพราะจุดนี้เราจะพาไปเดินชม Sangkhalok Street of Art ตลอด 2 ข้างทาง ระยะทางกว่า 1.5 กิโลเมตร ศิลปะเหล่านี้เกิดขึ้นจากการนำเศษสังคโลกมาสร้างสรรค์ทั้งจากศิลปิน นักเรียนช่าง รวมไปถึงชาวบ้านก็มาร่วมกันสร้างศิลปะบนกำแพง ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต การล่องเรือค้าขาย การแต่งกาย หรือชาวบ้านที่กำลังปั้นเครื่องสังคโลก พันธุ์ปลาท้องถิ่น พันธุ์ไม้ต่างๆ รวมไปถึงเทพเจ้าตามความเชื่อ สีสันก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ทำ ถือว่ามีอีกหนึ่งสีสันที่สร้างคุณค่าให้กับเศษสังคโลก ไม่ต้องทิ้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
เดินลัดเลาะตามถนนไปเรื่อยๆ สังเกตได้เลยว่าเส้นนี้มีแต่บ้านที่ทำสังคโลกกันอยู่บางบ้านเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษา ลองทำสังคโลกด้วยตนเอง เหมือนกับบ้านกะเณชาสังคโลก แกลเลอรี่ ที่มีนายสันติและนางหทัยรัตน์ พรมเพ็ชร เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายงานสังคโลกที่สืบทอดมาจากรุ่นพ่อ คือ ร้านสุเทพสังคโลก โดยสร้างสรรค์และต่อยอดชิ้นงานให้แตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิม สันติก็ได้ปั้นงานตามแบบที่ลูกค้าต้องการ โดยส่วนมากจะเป็นรูปเหมือนพระพิฆเนศ เทพเจ้าทางอินเดีย พระ และสัตว์ต่างๆ พร้อมกับมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เพ้นท์ลายลงบนจานดินเผา ซึ่งครั้งนี้ก็มีครูทุเรียน ที่มาสอนเขียนลายสือไทย และพี่ฝน ที่มาสอนเพ้นท์เสือรูปปลาพันธุ์ดั้งเดิม ค่ากิจกรรมเพียง 500 บาท/คน/กิจกรรม ถึงแม้โควิดจะทำให้ทุกอย่างชะงักลง เมื่อผ่านพ้นวิกฤตนักท่องเที่ยวก็เหมือนครอบครัวที่ชาวสุโขทัยพร้อมต้อนรับเสมอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุทิน' สั่งผู้ว่าทุกจังหวัด คุมเข้มความปลอดภัยช่วงเทศกาลลอยกระทง
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ย. 67) เป็นวันลอยกระทง ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของไทย ที่ประชาชนนิยมเล่นดอกไม้เพลิง จุดพลุ โคมลอย
กรมอุตุฯ พยากรณ์อากาศ 'วันลอยกระทง' เช็กจังหวัดมีฝนตก กทม. 30% ของพื้นที่
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศสำหรับวันลอยกระทงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
ทช.ชวนชมไฟประดับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในวันลอยกระทง
‘กรมทางหลวงชนบท‘ชวนประชาชนร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง พร้อมชมทัศนียภาพไฟประดับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในวันศุกร์ที่ 15พ.ย.นี้
นุ่งโจงห่มสไบลอยกระทง ยลวิถีคืนเพ็ญที่ ’สุขสยาม’
Bangkok River Festival 2024 เทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย ปีที่ 10 “ยลสายน้ำ ยินทำนอง” ที่เชิญชวนมาร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงริมสองฝั่งสายน้ำเจ้าพระยา