เปิดเส้นทางท่องเที่ยว "ชวนเธอ ไปชมดาว" ส่งมอบประสบการณ์เที่ยวแบบใหม่ยามค่ำคืน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ชวนท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของไทย ภายใต้แนวคิด “Amazing Dark Sky in Thailand” พร้อมประกาศ 12 พื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย และเปิดตัวคู่มือท่องเที่ยว “ชวนเธอ ไปชมดาว” เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 

นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. กล่าวถึงโครงการ Amazing Dark Sky in Thailand  ว่าเกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ททท.  โดยนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เพื่อส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่นักเดินทางผ่านการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) ตอบรับแนวโน้มการท่องเที่ยวแบบวิถีปกติใหม่ (New Normal) และพฤติกรรมของนักเดินทางในยุค Social Distancing ซึ่งต้องการพื้นที่พักผ่อนที่สร้างความสุขใกล้ตัวได้ง่ายๆ ท่ามกลางธรรมชาติ

ททท. จึงนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Amazing Dark Sky in Thailand” พร้อมกับเปิดตัวคู่มือการท่องเที่ยว “ชวนเธอ ไปชมดาว” เพื่อสร้างความประทับใจในเรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยววิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการดูดาว โดยอ้างอิงข้อมูลเชิงดาราศาสตร์มากำหนดเส้นทางท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก หรือการมีวิทยากรผู้ให้ความรู้และคำแนะนำเรื่องดวงดาวบนท้องฟ้า

E-Book คู่มือท่องเที่ยว ชวนเธอไปดูดาวและคู่มือนักดูดาว

โครงการดังกล่าว คาดว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ โดยการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการทำการตลาดแบบเฉพาะ ผ่านการสร้างคุณค่าประสบการณ์ที่แตกต่างตลอดการเดินทาง ให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจพิเศษ (Hyper Personalization) กล่าวคือ เป็นกลุ่มผู้ชื่นชอบการดูดาวและดาราศาสตร์ ต้องการชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศีที่ปรากฏบนท้องฟ้าแตกต่างกันในแต่ละเดือน 

นอกจากความสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจของท้องฟ้าในยามค่ำคืนบริเวณสถานที่ดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทยแล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้สนุกสนานไปกับกิจกรรมที่สอดแทรกความรู้ด้านดาราศาสตร์ ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่นๆ อีกด้วย

ชุมชนออนใต้  อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เขตชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด

สำหรับโครงการ Dark Sky in Thailand หรือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ททท. ร่วมดำเนินการกับ สดร. ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง และเพื่ออนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้ายามค่ำคืนผ่านการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด 

โดยสถานที่ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในแต่ละประเภทจะต้องมีความมืดของท้องฟ้าที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากแสงรบกวน เป็นพื้นที่เปิดโล่ง สามารถสังเกตท้องฟ้าได้โดยรอบ มองเห็นดาวเหนือและวัตถุท้องฟ้าเด่นๆ ได้ด้วยตาเปล่า รวมถึงมีบุคลากรในพื้นที่ที่สามารถให้ความรู้ทางดาราศาสตร์เบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้มาใช้บริการ เช่น เส้นทางคมนาคม ห้องน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น

เขตอุทยานท้องฟ้ามืด อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ 

ทั้งนี้ ในปี 2565 ได้มีการจัดพิธีมอบโล่และขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นเป็นปีแรก ภายใต้แคมเปญ “Amazing Dark Sky in Thailand” โดยมีสถานที่ที่ได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยจำนวน 12 แห่ง มีระยะเวลาการขึ้นทะเบียนรวม 3 ปี นับเป็นพื้นที่นำร่องปลุกกระแสความสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่จะนำมาใช้เป็นจุดขายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น

เขตอุทยานท้องฟ้ามืด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกระมัง จ.ชัยภูมิ 

สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1.อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) คือเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง และรักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า ระบบนิเวศ การสิ้นเปลืองพลังงาน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ให้แก่ผู้สนใจ

เขตอุทยานท้องฟ้ามืด อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี 

2.เขตชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) คือเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเชิงดาราศาสตร์ ที่ช่วยเผยแพร่และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของมลภาวะทางแสงแก่ประชาชน อาทิ บริเวณอ่างเก็บน้ำ เขื่อน สวนสาธารณะ

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา 

3.เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) คือเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น รีสอร์ต โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง มีความปลอดภัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจ มีกิจกรรมที่สามารถเผยแพร่ และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของมลภาวะทางแสงให้แก่ผู้มาใช้บริการ

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 

4.เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) คือเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง มีลักษณะเป็นลานโล่ง สามารถจัดกิจกรรมการสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้โดยรอบ มีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน มีความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาใช้บริการ

ในปัจจุบัน มีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2565 จำนวน 12 แห่ง ประกอบด้วย

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล ไร่องุ่นไวน์ อัลซิตินี่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 

อุทยานท้องฟ้ามืด

1.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ 

2.อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี 

3.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกระมัง จ.ชัยภูมิ 

4.อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ 

5.อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ 

เขตชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด

6.ชุมชนออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล

7.ไร่องุ่นไวน์ อัลซิตินี่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 

8.โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา 

9.สนามมวกเหล็ก เอทีวี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

10.บ้านไร่ยายชะพลู อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี 

11.เดอะเปียโน รีสอร์ท อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 

12.ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 

ส่วนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง ประเทศไทยในปัจจุบัน (ปี 2565) ยังไม่มีพื้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ หรือผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.  TAT Contact Center 1672

 

สรณะ รายงาน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ททท. จัดประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก ในงาน 'สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567'คลองผดุงกรุงเกษม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานลอยกระทง “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567” ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2567 โดยไฮไลท์วันสุดท้าย มีการประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก

MUST SEEK! เปิดประตูสู่สวรรค์ สุขท้าลอง @จันทบุรี

บรรยากาศในช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่เราจะออกเดินทางเที่ยวชมบรรยากาศของความสดชื่นของผืนป่า ใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศแห่งขุนเขาแบบไม่ต้องดั้นด้นเดินทางไกลมาก แนะนำว่าให้มาเที่ยวจันทบุรี

ททท. เปิดแคมเปญ WOW! ไทยแลนด์ มอบของที่ระลึกเสน่ห์ไทย ต้อนรับนักท่องเที่ยว

น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า โครงการ Amazing Thailand Passport Privileges เป็นความร่วมมือระหว่าง ททท. และพันธมิตร ในการจัดทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ททท. จับมือ TikTok ปั้นบุคลากรสู่อินฟลูเอนเซอร์ท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ TikTok Thailand จัดกิจกรรมอบรม TikTok Content Creator ในหัวข้อ "วิธีการสร้างสรรค์เนื้อหาและแนวทางในการพัฒนาเนื้อหา Content" เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาความรู้ ความสามารถ ในเรื่องการพัฒนา Smart People และ Smart Economy ของบุคลากรในองศ์กร ททท.

ททท. ดึง 'กองทัพ พีค - ต้าห์อู๋ - วันเดอร์เฟรม - PROXIE' ฉลองสัมพันธ์การทูต ไทย-จีน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม “Sound of Friendship Concert” ณ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 สยามพารากอน ร่วมเปิดงาน โดย จิระวดี คุณทรัพย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. และ ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้