สุดตระการตา 'เรือแห่เทียนพรรษา คลองลาดชะโดอยุธยาฯ-ยายดอกไม้' สิงห์บุรี

ขบวนเรือแห่เทียนพรรษาสวยงามเต็มคลองลาดชะโด 

ช่วงหยุดยาวในวันสำคัญทางพุทธศาสนาของเดือนกรกฎาคมนี้ มีทั้งวันอาสาฬหบูชาที่ 13 วันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพุทธศาสนา พร้อมทั้งมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และวันเข้าพรรษาที่ 14 เป็นช่วงที่พระสงฆ์จำพรรษาตลอด 3 เดือน จึงทำให้มีกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่เหล่าพุทธสาสนิกชนจะได้เดินทางไปทำบุญตักบาตร ร่วมกิจกรรม อาทิ การถวายเทียนพรรษา การเวียนเทียน เป็นต้น

เรือที่ตกแต่งด้วยปลาชะโด แห่งคลองลาดชะโด

ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้จัดทริปบุญไปดูประเพณีทำบุญเข้าพรรษา ในเส้นทางพระนครศรีอยุธยา – สิงห์บุรี จังหวัดใกล้ๆกรุงเทพฯ เดินทางง่ายที่ได้ความสนุก อิ่มเอมกับธรรมชาติ และอิ่มบุญด้วย สำคัญใน 13-14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ชาวบ้านมายายดอกไม้ในวันเข้าพรรษา

ล้อหมุนออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้าตรู่มุ่งหน้าสู่จ.พระนครศรีอยุธยา  เพื่อชมขบวนเรือแห่เทียนพรรษาทางน้ำที่ลาดชะโด ครั้งที่ 11 ณ ตลาดคลองลาดชะโด อ.ผักไห่ ประเพณีที่มีการสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง โดยคลองลาดชะโดนั้น มีชื่อเรียกอีกว่า คลองบางคลี่ ซึ่งเป็นคลองสาขาที่แยกออกมาจากแม่น้ำน้อย จากปากคลองบางคลี่ ชาวบ้านมักเรียกว่า คลองลาดชะโด เพราะมีปลาชะโดอาศัยชุกชุมในลำคลอง และมีตลาดลาดชะโด เป็นตลาดเก่าแก่ในอำเภอมีอายุกว่า 100 ปี ในอดีตคือพื้นที่เรือนแพค้าขายของชาวจีนริมน้ำทอดยาวกว่าร้อยคูหา ทำให้พื้นที่แห่งนี้เกิดการขยายเป็นชุมชน โรงเรียน วัด ศาลเจ้า โรงฉายภาพยนตร์ที่ปัจจุบันก็ยังฉายอยู่ในตลาด เนื่องจากเป็นชุมชนริมน้ำพาหนะที่ใช้สัญจรจึงเป็นเรือเมื่อก่อนก็จะเป็นเรือพาย และพัฒนาตามยุคสมัยเป็นเรือใส่เครื่องยนต์

บ้านริมคลองลาดชะโด

บ้านริมน้ำจากไม้ก็แปรเป็นปูนเพื่อความแข็งแรง บางหลังก็ยังคงเป็นบ้านไม้ริมน้ำยังคงวิถีการยกยอในการหาปลาไว้ด้วย  ก่อนที่จะเข้าสู่พิธีเราจึงแวะมาฝากท้องในตลาด เช่นเดียวผู้คนที่มารอชมขบวนเรือทั้งชาวบ้าน นักท่องเที่ยวต่างมาเดินซื้อของทานมีให้เลือกทั้งเมนูคาวเมนูหวานมากมายให้เลือกสรรจนอิ่มท้อง

ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวรอชมขบวนแห่เรือ

ได้เวลาอันสมควร คลองลาดชะโดก็เต็มไปด้วยขบวนเรืองดงาม ตลอดสองฝากฝั่งชาวบ้านที่มีบ้านริมน้ำก็จะออกมานั่งชม หรือยืนชมอยู่บนสะพานไม้ โบกไม้โบกมือทักทายกึ่งแซวฝีพายด้วยน้ำเสียงเจื้อยแจ้ว ส่วนเราก็มายืนชมบนสะพานปูนตรงศาลเจ้าลาดชะโด สำหรับเรือแห่เทียนพรรษานั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรือของชาวบ้านในอ.ผักไห่ และส่วนงานราชการต่างๆกว่า 128  ลำ ซึ่งทุกลำมีการประดับตกแต่งตามสไตล์ของแต่ละตำบล จากที่เราเห็นก็มีทั้งการตกแต่งด้วยเทียน พร้อมดอกไม้นานาชนิดหลากหลายสีสัน มีเทพบุตรเทพธิดาประจำเรือ เครื่องมือหาปลา บางลำก็รังสรรค์เรือเป็นวิถีเกษตรกรการไถนา หรือต้นข้าวเขียวขจี เพิ่มสีสันด้วยเรือที่มีคณะรำตัด เรือดนตรีไทย ที่บรรเลงเสียงเพลงเคล้าคลอให้ชาวเรือและผู้ชมได้ปรบมือ โยกย้ายกันไปตามจังหวะ โดยขบวนล่องไปตามคลองลาดชะโดกว่า 3 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็จะนำเทียนไปถวายวัดลาดชะโดต่อไป

กระทงที่บรรจุด้วยดอกไม้มงคลเพื่อถวายพระ

เตร็ดเตร่อยู่สักพักก็เดินทางเข้าสู่อ.เมือง จ.ลพบุรี แวะพักร่างกายจากการตื่นเช้าที่ร้าน Anacolly Cafe’ & Bistro ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนาเขียวขจีและการโอบอ้อมจากภูเขาทำให้บรรยากาศเย็นสบาย ปิดทริปด้วยการยืดเส้นยืดสายไปดูพระอาทิตย์ตกที่ภูซับเหล็ก ชาวบ้านแนะนำทันทีต้องพกไม้ค้ำยันขึ้นไปด้วย เพราะทางขึ้นเป็นดินที่มีการทำเป็นขั้นบันได ค่อนข้างชันระยะทางไวสุดคือ 250 เมตร ในที่สุดเราก็มาถึงยอดภูซับเหล็ก ทอดสายตาจากมุมสูงเราได้เห็นวิวของวัดเวฬุวัน หรือภูเขาจีนแล และอ่างเก็บน้ำซับเหล็ก มีเกาะเล็กอยู่ตรงกลาง ถึงพระอาทิตย์จะไม่สาดแสง แต่ก็ได้อารมณ์ใส่ฟิลเตอร์หน้าหนาวได้ความรู้สึกไปอีกแบบดีนะ

นำขบวนด้วยพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร

ชมพระอาทิตย์ตกแล้ว เช้าอีกวันเราไม่พลาดไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จุดชมวิวนี้เป็นที่ตั้งของสถานที่ปฏิบัติธรรมวัดหนองนา ถึงพระอาทิตย์จะโดนเหล่ามวลเมฆบดบังแต่วิวเบื้องที่ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สลับกับความเขียวขจีของภูเขา ลมพัดเย็นๆ แค่นี้ก็สดชื่น

ชาวบ้านรอใส่บาตร

ช่วงบ่ายมุ่งหน้าสู่วัดจินดามณี ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี  จ.สิงห์บุรี ซึ่งมีการจัดงานประเพณียายดอกไม้ หรือตักบาตรดอกไม้ ในวันเข้าพรรษา ประเพณีดั้งเดิมของชาวลาวเวียงที่ได้สืบสานมาอย่างยาวนาน พระครูปริยัติกิจจานุกูล เจ้าอาวาสวัดจินดามณี ได้เล่าประวัติให้ฟังว่า เดิมแล้วประเพณีนี้เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวเวียงจัน ประเทศลาว ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านแป้งที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยในจ.สิงห์บุรี

ใส่บาตรดอกไม้

สำหรับประเพณียายดอกไม้ จะทำเฉพาะในวันเข้าพรรษา ซึ่งในอดีตจะมีลักษณะการทำเป็นกำ ประกอบด้วย ดอกข้าวโพด ดอกรัก และองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือ ข้าวตอกร้อยใส่ไม้เป็นช่อ ส่วนคำว่า ยายดอกไม้ ซึ่งในความหมายของคำว่า “ยาย” นั้นเป็นสำเนียงที่เพี้ยนมาจากภาษาลาวคำว่า “หย่าย” ที่แปลว่าการแจกจ่าย หรือการให้ความหมายโดยร่วมจึงหมายถึงการให้ หรือการถวายดอกไม้ให้พระ โดยจะมีเสียงกลองแฉะหรือกลองเพล ดังเป็นสัญญาณเมื่อถึงเวลา ชาวบ้านก็จะเตรียมตัวตั้งแถวถวายดอกไม้ เพื่อให้พระนั้นนำไปพุทธบูชา ในอดีตประเพณีจะนิยมทำกันเฉพาะชุมชนบ้านแป้ง เจ้าอาวาสวัดจินดามณีจึงได้มีการฟื้นฟูประชาสัมพันธ์ และเปลี่ยนจากกำดอกไม้ เป็นการนำดอกไม้มงคลที่หาได้ง่ายใส่กระทง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้นในปี 2554 และได้ทำสืบต่อเนื่องกันมา

คนรุ่นใหม่ร่วมใส่บาตรดอกไม้

แฉะๆ มง แฉะๆ มง…จังหวะเสียงกลองดังเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวตั้งแถว ปีนี้คนอาจจะบางตาลงไปเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด19 แต่ความศรัทธาของชาวบ้านไม่ได้ลดลงเลย สองมือถือกระทงบรรจุดอกไม้หย่ายกลีบรวมกัน ทั้งดอกรัก ดอกลีลาวดี ดอกกุหลาบ ดอกพุทธ ดอกบานไม่รู้โรย ดอกมะลิ ดอกบัว ดอกดาวเรือง และข้าวตอก ใครไม่มีก็สามารถมารับกระทงดอกไม้ได้ที่วัด สิ้นเสียงกลองพระสงฆ์ก็เริ่มเดินออกมา นำด้วยพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรตกแต่งสวยงาม ตามด้วยพระสงฆ์จำนวน 71 รูป เพื่อถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในหลวงรัชกาลที่ 10 ชาวบ้านต่างบรรจงหยิบดอกไม้ใส่บาตรอย่างใจเย็นแม้อากาศจะร้อนอบอ้าว เมื่อถึงพระองค์สุดท้าย ดอกไม้ทั้งหมดก็จะถูกรวบรวมไปไว้ในโบสถ์เพื่อสวดอธิฐานเข้าพรรษา ตั้งถวายเป็นพุทธบูชาจนดอกไม้แห้งลง พระก็จะนำไปตากแดดเพื่อเตรียมไปเป็นมวลสารในการทำพระเครื่องต่อไป

ประชาชนรอยายดอกไม้จนสุดทางเข้าโบสถ์

ภายในงานยังมีซุ้มอาหารฟรี อาทิ ข้าวกระยาสารท ขนมมงคล ลาบมะเขือ ขนมเบื้องญวน ยำญวน ข้าวเกรียบ งา บัวลอยญวน ข้าวประดับดิน อีกประเพณีสำคัญของชาวลาวเวียง และการจัดแสดงเครื่องมือทำทอง เครื่องมือปั้นหม้อที่หาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน

แม้ปีนี้คนจะบางตา แต่ศรัทธาไม่เคยเบาบาง
การแต่งกายแบบลาวเวียงพร้อมกระทงดอกไม้
วิวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
รับลมยามเย็นที่ภูซับเหล็ก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ททท. กางแผนปี 68 ดึงต่างชาติเที่ยวทะลุ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 3.4 ล้านล้าน

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในงานประชุมบูรณาการแผนปฏิบัติการ ททท. ปี 2568 (Tourism Authority of Thailand Action Plan 2025 : TATAP 2025) ว่า ททท.ตั้งเป้าหมายในปี 2568 สร้างรายได้รวมเพิ่มจากที่ทำได้ในปี 2567 ไปอีก 7.5%

ปักหมุดเที่ยวงาน'มรดกสยาม 3 สมัย'

14 มิ.ย.2567 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นางยุพา  ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดงาน Happy Journey with BEM “มรดกสยาม ๓ สมัย” โดยมีนายเจษฎา ชีวะวิชวาลกุล รองอธิบดี

ท่องเที่ยว 72 เส้นทางสายศรัทธา 55 เมืองรอง

ซิกท์ รถเช่า ประเทศไทย หนึ่งในผู้นำบริการรถเช่าระยะสั้น และลีมูซีน ภายใต้บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGC-ASIA ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พีที แมกซ์การ์ด และพันธมิตรทางธุรกิจหลายภาคส่วนร่วมกระตุ้นท่องเที่ยวไทย ภายใต้แคมเปญ ‘พี

ททท. แท็กทีม ทราเวลโลก้า หนุนท่องเที่ยวไทย

ททท. แท็กทีม ทราเวลโลก้า ประกาศความร่วมมือ (MOA) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ครอบคลุมกลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์ หวังกระตุ้นท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน