พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ที่ภาครัฐและท้องถิ่นร่วมกันจัดสร้างถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์สึนามิเข้าถาโถมหมู่บ้านน้ำเค็มและชีวิตของชาวบ้านที่หนีภัยคลื่นยักษ์เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 รวมถึงต้องต่อสู้กับความสูญเสียจากภัยพิบัติอย่างมีความหวังและศรัทธา
แต่ละส่วนของพิพิธภัณฑ์ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้บทเรียนในอดีตและเล่าขานผ่านส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ปากคำของชาวบ้านผู้รอดชีวิต วัตถุพยาน และสิ่งของที่เกี่ยวกับเหตุการณ์วิปโยคครั้งนั้นที่เห็นแล้วเป็นเครื่องเตือนใจสิ่งที่จะต้องเผชิญในอนาคตข้างหน้า
ขณะนี้พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มเสร็จสมบูรณ์เข้าชมได้ กระทรวงวัมนธรรม (วธ.) จัดพิธีเปิดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เชื่อมสัญญาณจากทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วธ. พร้อมด้วยผู้บริหาร วธ. นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาวตำบลบางม่วง เข้าร่วม ณ พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า
นายกฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ภัยพิบัติ 26 ธันวาคม 2547 ผ่านมาแล้ว 18 ปี ภาพเหล่านั้นตราตรึงอยู่ในจิตใจทุกคน จำได้ตอนเป็นทหารอยู่ ใช้กำลังทหารลงไปช่วยดูแล และผลกระทบที่เกิดขึ้นมากที่สุด ผู้เสียชีวิตผู้บาดเจ็บ ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือน ภาพเหล่านี้อยู่ในหัวใจทุกคน มีการจัดกิจกรรมทุกปีในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนชุมชนบ้านน้ำเค็ม รัฐบาลมอบหมายจัดหางบประมาณสร้างพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม เพราะความเสียหายเหล่านี้ส่งผลกระทบด้านจิตใจ ยังประเมินค่าไม่ได้
นายกฯ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีความมุ่งหวังให้หน่วยงานท้องถิ่นและเอกชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสให้กับท้องถิ่น คุณค่า พิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเตือนใจให้ทุกคนระมัดระวังและเตรียมความพร้อมว่าจะสามารถอยู่กับธรรมชาติอย่างไรในอนาคต มีการเตรียมพร้อม ป้องกันภัย สิ่งเหล่านี้เราได้มาจากการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินจำนวนมาก สถานการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นอีก เพราะโลกมีปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ อย่างภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด เราต้องช่วยรักษาโลกใบนี้ที่มีอยู่ใบเดียว ให้เกิดความสมดุลให้ได้
พิพิธภัณฑ์สึนามิแห่งนี้สร้างบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ โดยอาคารจัดแสดงหลักเป็นอาคารชั้นเดียว ด้านหน้าออกแบบเป็นเส้นโค้งในรูปแบบของคลื่น และมีช่องเปิดรับแสงเป็นทรงกลมแบบฟองคลื่นกระจายตามความยาวของอาคาร ทำให้ภายในอาคารเกิดที่ว่างคล้ายท้องคลื่นยาวตลอดห้องจัดแสดง โดยมีหอเตือนภัยได้แรงบันดาลใจจากเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เป็นแลนด์มาร์กที่ให้ผู้มาเยี่ยมเยียนสามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพได้โดยรอบ
พื้นที่แบ่งเป็นส่วนจัดแสดงภายนอกอาคาร จัดแสดงเรือประมง 2 ลำ สีส้มและสีฟ้า เป็นเรือที่ถูกคลื่นสึนามิพัดพาเข้ามาจากชายฝั่งเหลือร่องรอยเป็นวัตถุพยานที่สำคัญของเหตุการณ์ครั้งนั้น ภายในมีพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ให้บริการข้อมูล มีห้องมัลติมีเดียจัดฉายวีดิทัศน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยสึนามิ นำเข้าสู่เนื้อหาการจัดแสดงนิทรรศการ
ส่วนจัดแสดงนิทรรศการร้อยเรียงเรื่องราวประกอบวัตถุจัดแสดง ซึ่งเก็บรวบรวม จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิที่เกิดขึ้นในไทย โดยเริ่มจากโซนที่ 1 สัณฐาน ของบ้านน้ำเค็ม โซนที่ 2 เรื่องเล่าจากผู้ประสบภัยหมู่บ้านน้ำเค็ม นาทีเผชิญหน้าและหนีภัย โซนที่ 3 ความรู้เบื้องต้นธรรมชาติของสึนามิ โซนที่ 4 เล่าเรื่องจากวัตถุ โซนที่ 5 และโซนที่ 6 เป็นเรื่องราวต่อเนื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากภัยพิบัติในด้านการเรียนรู้และป้องกัน สุดท้ายโซนที่ 7 เป็นบ้าน พื้นที่ที่เปิดให้ชุมชนเข้าใช้สอยในกิจกรรมของชุมชน ขณะที่ภูมิทัศน์โดยรอบอาคารสวยงามกลมกลืนกับธรรมชาติชายฝั่งทะเล
พิพิธภัณฑ์นี้สะท้อนภาพอันโหดร้ายของสึนามิผ่านความเจ็บปวดของชาวหมู่บ้านน้ำเค็ม แต่ทั้งหมดนี้คือบทเรียนและเสียงเตือนที่ทุกคนควรหาโอกาสเข้าชมสักครั้งในชีวิต เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์-อังคาร) ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการชม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รำลึก 18 ปี โศกนาฎกรรมสึนามิ ให้ความรู้วิธีเอาตัวรอดคลื่นยักษ์
พังงา รำลึก 18 ปี สึนามิ เปิดพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ให้วางดอกไม้รำลึกถึงผู้สูญเสีย พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการฟรี
นักข่าวดัง แฉเบื้องหลัง สึนามิ 2547 'ทักษิณ' กลัวญาติผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติฟ้อง
เจ้าหน้าที่อุตุฯบอกผมว่ากรมตัดสินใจไม่เตือน เพราะกลัวว่าถ้าไม่เกิด จะโดนรัฐบาล+ธุรกิจท่องเที่ยวเล่นงาน >หลังเป็นข่าว ทักษิณให้ตั้งกรรมการสอบสวนแต่ไม่เคยเขียนรายงานเพราะกลัวญาติต่างชาติที่ตายฟ้อง