คนรักศิลปฯแย้งผู้ว่าฯทุบปูนปั้นครูทองร่วง ยันผู้เสียหายคือสาธารณะ เตือนผิดม.157

25 ก.ย.2567- นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม อดีตเลขาฯศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีทุบปูนปั้นครูทองร่วง เอมโอษฐ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ตอนที่ 2) ระบุว่า

เมื่อวานมีการประชุมหาทางออก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีมานั่งหัวโต๊ะ และแทบจะพูดคนเดียว ก็ต้องขอชื่นชมในบทบาทผู้นำของผู้ว่าฯ ทึ่จะต้องแก้ไขให้ปัญหาผ่านไป แต่ไม่อยากให้ผ่านไปแบบ “ขอไปที” หรือน้ำขุ่นๆ จึงขอให้ข้อมูลสังคมเพิ่มเติมเป็นข้อๆ ดังนี้

1. ประติมากรรมปูนปั้นของครูทองร่วงถูกทุบไปแล้ว มีบางแหล่งข่าวบอกว่ามีการสั่งจากผู้รับผิดชอบจริง จากการที่อ้างว่าเกิดจากการออกแบบที่ผิดพลาด และบกพร่องในการควบคุมการก่อสร้าง มันขัดแย้งกับที่บอกว่ามีการประชุมกันหลายครั้งหลายหน หากประชุมกันหลายครั้งหลายหน ทำไมถึงมีการผิดพลาดแบบนี้ได้

2. หากมีการทุบทำลายประติมากรรมโดยไม่ได้อนุญาต ต้องมีการแจ้งความดำเนินคดีตามกฏหมายใช่หรือไม่ และทำไมจึงเห็นการปักเสาไปแนวเดียวกับรั้วกำแพงตึกอัมพร บุญประคอง ที่ถูกทุบ เหมือนกับว่ามีการวางแผนมาก่อน

3. การมาอ้างว่าไม่ได้ทำอาคารเพื่อขายกาแฟอย่างเดียว แต่ทำเป็นอาคารอเนกประสงค์ด้วย โดยอาจมีการขายกาแฟด้วย อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาลบล้างการทำลายประติมากรรม และยังมีหลักฐานจาก LINE ของกรรมการวัดท่านหนึ่งว่าวัตถุประสงค์เพื่อทำร้านกาแฟ (ดังแนบ) จริงๆ แล้ว การจะทำร้านกาแฟหรือไม่ทำร้านกาแฟไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือคุณทุบทำลายศิลปกรรมอันทรงคุณค่า

4. มีการเชิญภรรยาและลูกสาวครูทองร่วงมาร่วมประชุมด้วย โดยมีความพยายามอยากจะให้ปั้นขึ้นใหม่เลียนแบบของเก่า ซึ่งเป็นเรื่องของการตบหัวแล้วลูบหลัง และไม่มีทางที่ของใหม่จะมีคุณค่าเท่าของเก่า ศิลปกรรมประวัติศาสตร์ถูกทำลายไปแล้ว ทำไมก่อนทำไม่คิด จริงๆ แล้ว มีข้อมูลด้วยว่า ‘คนใหญ่’ สั่งให้ทุบ

การอ้างว่าภรรยาและลูกสาวครูทองร่วงไม่ติดใจ แท้จริงแล้วภรรยาและลูกสาวครูทองร่วงไม่ใช่เจ้าทุกข์ ผู้เสียหายคือสาธารณะ สมบัติส่วนรวมเสียหาย งานศิลปกรรมนี้เป็นงานสำคัญของประเทศ เจ้าอาวาสและผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีควรเข้าใจใหม่ในเรื่องนี้ อีกทั้งจากการให้สัมภาษณ์ของภรรยาและลูกสาวครูทองร่วงก็ไม่ได้มีความเต็มใจที่อยากจะทำซ้ำรอยพ่อ และผิดจารีตที่จะทำทับครู แต่ก็เข้าใจเพราะเป็นคนที่อยู่ในจังหวัด อยู่ภายใต้อำนาจผู้ว่าฯ และต้องเกรงใจใครต่อใครอีกหลายคน อีกทั้งลูกสาวครูทองร่วงก็เป็นข้าราชการด้วยจึงคงไม่กล้าพูดอะไรมากนัก

5. เรื่องนี้ถ้าทำแบบลูบหน้าปะจมูกก็ปล่อยให้ชี้แจงแล้วก็ผ่านๆ หยวนๆ กันไป แต่ถ้าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าพระไม่โกหก ก็อยากขอหลักฐานเหล่านี้จากเจ้าอาวาส คือ
5.1) แบบแปลนการก่อสร้างที่อ้างว่าประชุมกันมาหลายรอบ
5.2) ใครเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่บอกว่าทุบโดยพลการ
5.3) ที่มีคนอ้างว่ามีการประชุมกันอย่างรอบคอบหลายวาระ ขอรายงานการประชุมย้อนหลัง

6. การอ้างว่ามีการทุบทำลายศิลปกรรมโดยไม่ได้รับคำสั่งของวัดหรือผู้รับผิดชอบ หากมีข้าราชการเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด น่าสนใจว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่

เป็นธรรมดาของคนที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันต้องอยู่กันอย่างประนีประนอม แต่อย่าลืมว่าโบราณสถานโบราณวัตถุ วัดวาอาราม เป็นสมบัติของสาธารณะ ไม่ใช่สมบัติของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กี่ครั้งแล้วที่ศิลปกรรมในเพชรบุรีถูกทำลาย เมื่อทำผิดก็ต้องยอมรับความจริง ไม่ใช่ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริง ประชาชนทั่วประเทศต่างจดจ้องอยู่ และเขามองออกว่าอะไรเป็นอะไร อย่ามาทำเป็นเด็กเล่นขายขนม
ประเด็นสุดท้าย ขอย้ำอีกทีว่าการที่เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุบอกว่า โอกาสก็เหมือนไอติมถ้าไม่กินก็ละลาย ศิลปกรรมก็ไม่ใช่ไอติม ถ้าไม่ทุบทิ้งก็ไม่ละลาย

#วัดมหาธาตุวรวิหารจังหวัดเพชรบุรี #ทองร่วงเอมโอษฐ #กระทรวงวัฒนธรรม #กรมศิลปากร #กรมการศาสนา #ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี #ศิลปวัฒนธรรม #สภาผู้แทนราษฎร

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนนครฯฝาก 'อุ๊งอิ๊ง' 7 ข้อ ตั้งกก.ร่วมกับภาคปชช.ศึกษาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม นักวิชาการอิสระด้านสังคมศาสตร์ ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

'พระเจ้าตอง' กลับพะเยา หลังโดนขโมย 36 ปีก่อน ค้นพบที่สวิต กรมศิลป์พิสูจน์แล้วของจริง

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ประสานงานและติดตามนำ “พระเจ้าตอง” กลับจังหวัดพะเยา รับส่งมอบพระเจ้าตอง จากนางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 

ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at The Museum

กลับมาอีกครั้งสำหรับบิ๊กอีเว้นท์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรม "ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ" Night at the Museum ในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน

บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก

วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย

'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี

กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย