กรมศิลป์ MOU บูรณาการบริหารจัดการแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง ‘ภูพระบาท-วัดพระพุทธบาทบัวบาน’ ร่วมกับกรมป่าไม้-จ.อุดรธานี-ท้องถิ่น ผลักดันสู่มรดกโลกภายในปี 2567
วันที่ 30 เม.ย.2565 – ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี กรมศิลปากร(ศก.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการแหล่งมรดกวัฒนธรรมร่วมกับ จ.อุดรธานี กรมป่าไม้ อ.บ้านผือ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน และเทศบาลตำบลกลางใหญ่
นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการอุดรธานีกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับกรมศิลปากร ครั้งนี้ถือเป็นสร้างการมีส่วนร่วมผลักดันการขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทสู่มรดกโลก ซึ่งจะเกิดการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมาวัดพระพุทธบาทบัวบาน ในการนำเสนอสู่บัญชีมรดกโลก โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นไม่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ จัดการประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและแหล่งธรรมชาติทั้งจังหวัดใกล้เคียงและจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศลาวที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน เบื้องต้นกำหนดจัดแผนการท่องเที่ยวเชื่อมโยงการท่องเที่ยวช่วงการจัดมหกรรมพืชสวนโลกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานที่ จ.อุดรธานี ปี 2569
ด้าน นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรอยู่ระหว่างการแปลเอกสารภาษาอังกฤษเสนอต่อยูเนสโก ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์นำเสนอเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่องจำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมาวัดพระพุทธบาทบัวบาน รวมพื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3,661 ไร่ 4 งาน 89 ตารางวา พื้นที่กันชน 3,742 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา ขอบเขตของแหล่งวัฒนธรรมทั้ง 2 แหล่ง อยู่ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ในเกณฑ์ข้อที่ 3 คือ วัฒนธรรมสีมาเป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง ซึ่งปรากฎหลักฐานการใช้พื้นที่ของวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานอย่างต่อเนื่อง และการใช้หลักสีมาในฐานะหลักหินศักดิ์สิทธิ์ เพื่อกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา และสืบเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน
และเกณฑ์ข้อที่ 5 คืออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมาวัดพระพุทธบาทบัวบาน เป็นตัวอย่างที่โดดเด่น ของการปรับใช้พื้นที่ทางธรรมชาติ ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งกลุ่มเพิงหิน และลานหิน การปักใบเสมาเพื่อกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งทั้งหมดยังคงความครบถ้วนสมบูรณ์และความเป็นของแท้ดั้งเดิมไว้ได้อย่างดีเยี่ยม
นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า การแปลเอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญามรดกโลก ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านความเห็นชอบ เพื่อเสนอต่อยูเนสโกเข้าสู่กระบวนการนำพิจารณารอบแรกในเดือน ก.ย.และรอบที่ 2 ในเดือน ธ.ค.ปี 2566 และจะมีการพิจารณาที่กรุงปารีสในเดือน มี.ค.ปี 2567 ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และศาสนสถานของผู้คนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขง ด้วยความสำคัญของภูพระบาททั้งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และบูรณาภาพของภูมิทัศน์วัฒนธรรม จึงมั่นใจจะขึ้นมรดกโลกได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พระเจ้าตอง' กลับพะเยา หลังโดนขโมย 36 ปีก่อน ค้นพบที่สวิต กรมศิลป์พิสูจน์แล้วของจริง
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ประสานงานและติดตามนำ “พระเจ้าตอง” กลับจังหวัดพะเยา รับส่งมอบพระเจ้าตอง จากนางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at The Museum
กลับมาอีกครั้งสำหรับบิ๊กอีเว้นท์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรม "ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ" Night at the Museum ในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก
วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย
'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี
กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย