แม้”กี่บาด” จะเป็นนวนิยายเรื่องแรกของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด นักเขียนรุ่นใหม่ แต่ก็ฝ่าด่านการพิจารณาทะลุเข้ารอบสุดท้ายและเป็นนวนิยายที่คว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2567 รางวัลที่มอบให้แก่นักเขียนที่รังสรรค์วรรณกรรมทรงคุณค่าและมีศิลปะในการประพันธ์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์จัดแถลงข่าวการประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ปี 2567 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ พร้อมด้วยคณะกรรมการตัดสินร่วมงาน ณ C asean ห้องประชุมชั้น 10 อาคาร CW Tower เมื่อวันก่อน สนับสนุนโดยธนาคารกรุงเทพ ไทยเบฟ มูลนิธิเอสซีจี กระทรวงวัฒนธรรม C asean สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ประเสริฐ ปัดมะริด เป็นคนภาคตะวันออก แต่หลงไหลวัฒนธรรมประเพณีล้านนา มีความสนใจใครรู้ในวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึมซับภาษาเมือง วัฒนธรรม อ่านวรรณกรรมของนักเขียนล้านนา นำมาสู่การเขียนนวนิยายเรื่อง กี่บาด จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คมบาง “กี่บาด” เล่าเรื่องของ “แม่ญิง” ช่างทอผ้าแม่แจ่มสามรุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอซิ่นตีนจก นำเสนอผ่านโครงเรื่องการต่อสู้และการส่งต่อมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าในบริบทยุคสมัยที่มีความผันแปร โดยใช้กี่ทอผ้าเป็นเสมือนพื้นที่ของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความหมายอันหลากมิติ ทั้งการต่อรองทางเพศสภาพ การต่อสู้กับอคติของจารีต การเก็บงำความทรงจำทั้งดีและร้าย ด้านศิลปะการประพันธ์มีทั้งขนบวรรณศิลป์แบบดั้งเดิมประสานการสร้างสรรค์ใหม่ โดยใช้ศิลปะการทอผ้าและลวดลาย สื่อความหมายและดำเนินเรื่องอย่างมีเชิงชั้น เต็มไปด้วยสีสันท้องถิ่นชวนให้ผู้อ่านติดตามตั้งแต่หน้าแรก
รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ประธานกรรมการตัดสิน และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า ประเสริฐ ปัดมะริด เป็นนักเขียนหนุ่มหน้าใหม่ที่นำเรื่องราววิถีวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาล้านนา โดยเฉพาะในอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กี่บาดเป็นเรื่องราวที่มีสีสันของตระกูลช่างทอผ้าแม่แจ่ม การสร้างสรรค์ผลงานของนักเขียนเปรียบกับผ้าทอผืนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความประณีตละเมียดละไมร้อยเรียงดั่งการทำงานของกี่ทอผ้า ถ่ายทอดความเชื่อ จารีตประเพณี ชีวิต ถ่ายทอดผ่าน 16 บท ซึ่งตั้งชื่อตามลายซิ่นตีนจกแม่แจ่ม เรื่องราวยังรวมบริบทในยุคสมัยและสังคมที่ผันแปร มีฉากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ แม้จะเต็มไปด้วยสีสันท้องถิ่น แต่ก็มีความเป็นสากล
“ ที่สำคัญผู้เขียนเสนอเรื่องราวสามชั่วอายุคน รุ่นแม่ รุ่นลูก และรุ่นหลาน สืบทอดการทอซิ่นตีนจก มีความหมายต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ การต่อรองเรื่องเพศสถานะ เพราะในจารีตล้านนาการทอผ้าเป็นของผู้หญิง แต่ผู้เขียนสอดใส่แนวคิดที่เปลี่ยนไป นำเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ เข้ามาเกี่ยวข้อง นวนิยายเรื่องนี้จึงมีความเข้มข้น เป็นพื้นที่ต่อรองสร้างตัวตน ขณะเดียวกันเต็มไปด้วยเรื่องราวของมนุษย์ที่ต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรค ผู้เขียนใช้ชื่อเรื่อง”กี่บาด” สื่อถึงความทรงจำอันเจ็บปวดและประสบการณ์อันเจ็บปวด เป็นชะตากรรมที่ตัวละครเผชิญ เรื่องราวในนิยายเปิดโอกาสให้ผู้อ่านตีความหลากหลายมิติ โดยผู้เขียนทิ้งปมปัญหาให้ครุ่นคิด “รศ.ดร.ธัญญา กล่าว
การสร้างสรรค์เป็นหัวใจของการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประธานกรรมการตัดสิน กล่าวด้วยว่า วรรณกรรมซีไรต์เป็นวรรณกรรมแนววรรณศิลป์ ตั้งแต่ปี 2522 นวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี มุ่งที่จะนำเสนอความหมายที่กระตุ้นและมีพลังปัญญา อีกทั้งมีการสร้างสรรค์กลวิธีเล่าเรื่อง เพราะงานเขียนเป็นศิลปะ ซึ่งขึ้นกับนักเขียนจะจัดวางและสร้างสรรค์อย่างไร สำหรับกี่บาดเขียนเรื่องราวช่างทอผ้า ขณะที่ตัวบทเปรียบกับผ้าทอผืนหนึ่ง สะท้อนผู้เขียนมีเชิงชั้นวรรณศิลป์ ประกอบสร้าง นิยายเต็มไปด้วยสัญญะ แม้แต่ชื่อเรียง ชื่อบทใช้ลายผ้า สื่อการสืบทอดจารีต ขณะเดียวกันช่างทอมีทางสร้างสรรค์ใหม่แหวกจากจารีต วรรณกรรมต้องจรรโลงใจ ยกระดับ และทำให้นักอ่านเกิดพุทธิปัญญา คนอ่านวรรณกรรมซีไรต์มีทุกเพศทุกวัย การยกย่องวรรณกรรมต้องไม่ให้สิ่งที่เป็นพิษ และส่งเสริมความเข้าใจกันและกัน ส่วนความรื่นรมย์มาจากการติดตามลีลาการประพันธ์ของนักเขียน นี่คือ แก่นหลักพิจารณารางวัลซีไรต์ ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันทน์ให้กี่บาดได้รางวัล
ลีลาการเขียนโดดเด่นชนะใจคณะกรรมการ ในประเด็นนี้ รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร กรรมการตัดสิน และที่ปรึกษาสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชื่อเรื่อง”กี่บาด” แสดงถึงความกล้าของนักเขียนในการใช้ภาษาไทย เล่นภาษา ในเรื่องหาญกล้าด้วยการใช้ภาษาถิ่น หรือภาษาเมือง ทั้งในบทบรรยายและบทสนทนา ซึ่งนักเขียนไม่ใช่คนเมือง แต่เกิดจากการซึมซับและศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างดี โดยดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น แม้เป็นเรื่องราวสามชั่วอายุคน
“ การเล่นภาษาเป็นจุดเด่นของนวนิยายร่วมสมัยเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช้ภาษาไทยที่เป็นภาษามาตรฐาน อีกทั้งสร้างสรรค์โครงเรื่องโดยนำ 16 ลวดลายของผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ใช้เป็นชื่อตัวบท แต่ละตัวบทเนื้อเรื่องประสานเป็นหนึ่งเดียวกับลาย ส่วนประเด็นเรื่องเพศสภาพ ไม่ใช่เสนอสถานภาพสตรี แต่เสนอเรื่องราวความปวดร้าวของผู้หญิง มีการต่อสู้ ผ่านความรัก มีพบ พลัด พราก ซึ่งกี่เหมือนชีวิตจิตวิญญาณ แต่ในความเฉพาะจำกัดขอบเขต แม้มีเพศสภาพไม่ใช่หญิง แต่สนใจทอผ้า ก็มีคนเห็นุณค่า และกลายเป็นช่างทอผ้าตัวละครเอกของเรื่องสืบสานภูมิปัญญาผ้าซิ่นตีนจก พื้นที่สมัยใหม่ในการเปิดตัวตนของเพศทางเลือกได้เผยขึ้นมา คนที่คุ้นชินวรรณกรรมวาย เรื่องนี้ก็เป็นวรรณกรรมวายในลักษณะ Old Fashion อยากเชื้อเชิญให้คนรุ่นใหม่อ่านเรื่องนี้ “ รศ.ดร.ตรีศิลป์ กล่าว
นวนิยายกี่บาดเป็นก้าวใหม่ของวงการวรรณกรรมไทย รศ.ดร.ตรีศิลป์ กล่าวว่า ผลงานเรื่องนี้มีคุณค่ากับสังคมการอ่านสะท้อนสังคมไทยมีเสรีภาพทางเพศ เรื่องนี้อ่านไม่ยากแต่ได้รับการท้าทายจากผู้เขียนที่ใช้ภาษาเมือง เป็นการสร้างสรรค์จากรากภูมิปัญญา วรรณกรรมเล่มนี้เป็นพื้นที่จินตนาการซึมซับความเป็นมรดกภูมิปัญญาไทยอยู่ในบริบทร่สมสมัยอย่างเข้มข้น มีพลัง ชวนอ่าน กี่และพื้นที่ทอผ้าเป็นพื้นที่สำหรับผู้หญิง แต่ในเรื่องตัวละครที่สืบสานการทอผ้าเพศสภาพไม่ใช่ผู้หญิง นี่คือ วรรณกรรมนำสังคม มีความเป็นมหากาพย์การต่อสู้ของตัวละคร สำหรับช่างทอผ้าถ้าเศร้าผ้าทอสีหม่น ถ้าอารมณ์เบิกบานผ้าทอจะเนรมิตรออกมาอย่างเจิดจรัส มีการสืบสานและสร้างสรรค์ใหม่ในตัวละครเอก เธอนำ 16 ลายมาทอบนซิ่นตีนจกผืนเดียวกัน และจะสืบสานให้คนรุ่นใหม่ นักเขียนปลดปล่อยสิ่งที่กดทับ กลายเป็นจิตวิญญาณรักการทอไม่จำกัดเพศ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 8 เรื่องเข้ารอบสุดท้ายถือเป็นตัวแทนวงกรรณกรรมไทย อยากชวนอ่านผลงานสร้างสรรค์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นวนิยาย ‘กี่บาด’ ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด คว้ารางวัลซีไรต์ 2567
คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จัดแถลงข่าวการประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2567
8 นวนิยายเข้ารอบชิงรางวัลซีไรต์ 2567
จากนวนิยายจำนวน 17 เล่มที่คณะกรรมการรางวัลซีไรต์พิจารณาให้เข้ารอบแรก (Longlist) คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ประกาศผลรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2567 ประเภท”นวนิยาย” รอบคัดเลือก (Shortlist) โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนิงานรางวัลซีไรต์