จับชีพจรอนาคตวิถีคนคลองฝั่งธนฯ

ภาพจำของฝั่งธนบุรีในสายตาของใครหลายคนจะคุ้นเคยกับพระปรางค์วัดอรุณที่โดดเด่นเป็นสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ไปจนถึงกุ้ยช่ายตลาดพลู แป้งบาง ไส้เยอะ อร่อยจนต้องยืนรอต่อคิว ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นเมืองเก่าและมากด้วยเรื่องราวในพื้นที่ประวัติศาสตร์

แต่อีกแง่มุมที่หลายคนไม่รู้จัก ฝั่งธนบุรีมีพื้นที่สีเขียวมากมายที่เป็นเรือกสวนไร่นา จนถึงพื้นที่รกร้างเขียวครึ้ม หลงเหลือรอดพ้นจากการเปลี่ยนไปเป็นบ้านจัดสรรและคอนโดนิเนียมรองรับการขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ    รวมถึงชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีที่ยังผูกพันกับกับการอยู่อาศัย มีอาชีพ และความเป็นอยู่ตามวิถีชาวคลองแบบดั้งเดิม

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ฝั่งธนบุรีเหมือนเหรียญสองด้านเป็นทั้งโอกาสและปัญหาสำหรับพื้นที่ ทำให้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีด้วยเครือข่ายคลังสมองของพื้นที่และแผนผังภูมินิเวศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Thonburi) ซึ่งเป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันคลังสมองของชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) สถาบันอาศรมศิลป์ และมหาวิทยาลัยสยาม  เป้าหมายเพื่อส่งเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้พื้นที่คลอง พื้นที่สีเขียว และวิถีชีวิตชาวฝั่งธนฯ ไม่เลือนหายไป

โครงการนี้นำร่องพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ ชุมชนพูนบำเพ็ญ เขตภาษีเจริญ ชุมชนตลาดพลู เขตธนบุรี ชุมชนคลองบางประทุน เขตจอมทอง และชุมชนคลองบางมด เขตทุ่งครุ-บางขุนเทียน ส่วนระดับกลุ่มชุมชนโฟกัสพื้นที่ชุมชนและคลองเชื่อมต่อระหว่าง 4 เขตดังกล่าว

จากการรวบรวมองค์ความรู้และข้อมูลของทีมผู้วิจัย ฝั่งธนฯ ในปัจจุบันยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 4,000 ไร่  และมีสวนเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานหลายแห่ง  โดยเฉพาะในพื้นที่เขตทวีวัฒนา  ตลิ่งชัน หนองแขม ทุ่งครุ รวมถึงบ่อปลา-นากุ้งเขตบางขุนเทียน           หลายชุมชนริมคลองฝั่งธนฯ ยังรักษาวิถีวัฒนธรรมเกษตรสายคลอง รวมถึงการเป็นย่านพาณิชยกรรมดั้งเดิม และย่านพหุวัฒนธรรมจีน ไทย มอญ มุสลิม

ขณะเดียวกันช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า ทำให้พื้นที่เกษตรลดลง หลายคูคลองถูกกลบทับหรือเป็นที่ระบายน้ำเสีย  ชุมชมจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพตัดขาดจากพื้นที่

เบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ฝั่งธนฯ ในปัจจุบันมีส่วนผสมที่ชัดเจนทั้งพื้นที่กึ่งชนบท พื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่เกษตร และที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม พื้นที่เกษตรลดน้อยลงและเหลือกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ คนในชุมชนริมคลองฝั่งธนฯ ส่วนผู้อยู่อาศัยใหม่หรือชุมชนคอนโดฯ  หันหลังให้คลองพร้อมสร้างกำแพงกั้น ทำให้ชุมชนใหม่ละเลยและไม่เห็นความสวยงามของวิถีชาวคลอง เมื่อไม่ได้ประโยชน์ รับรู้คุณค่า ความตระหนักดูแลรักษาคูคลองก็น้อยลง แต่อีกด้านหนึ่งผู้อาศัยใหม่มีศักยภาพเป็นตลาดสำคัญสำหรับชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคคนเมืองรุ่นใหม่ ขณะที่หลายชุมชนริมคลองรักษาอัตลักษณ์สังคมวัฒนธรรมไว้ นี่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการพัฒนา

 “ พื้นที่เกษตรในชุมชนริมคลองฝั่งธนฯ ไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยใกล้เมือง แต่มีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร  สวนเกษตรและสายคลองเป็นพื้นที่สีเขียวช่วยปรับอุณหภูมิให้เมืองเย็นลง เป็นพื้นที่สีเขียวที่ใช้ได้จริงต่างจากสวนสาธารณะ จากการทำงานยังพบริมคลองตามธรรมชาติที่เต็มไปด้วยพืชพรรณและสัตว์น้ำ ไม่ใช่โครงสร้างแข็งที่พบทั่วไปริมคลองในกรุงเทพฯ “ เบญจมาศให้ภาพในพื้นที่

4 ชุมชนเป้าหมาย ผู้อำนวยการคนเดิมบอกว่ามีบทบาทเป็นพื้นที่เกษตรใกล้เมือง มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม และที่สำคัญมีผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านมีความรู้ในพื้นที่ของตัวเองอย่างดี  มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวทั้งสินค้าเกษตรและบริการท่องเที่ยว  ทำให้เกิดรายได้พึ่งพาตนเอง ซึ่งบางชุมชนลุกขึ้นมาทำท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตรแล้ว พื้นที่ทั้ง 4 เชื่อมโยงกันทางสายคลอง และระบบขนส่งมวลชน เป็นโอกาสการพัฒนาระดับกลุ่มชุมชนเครือข่ายคลองฝั่งธนฯ หนุนให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจ โดยนักวิจัยจากทั้ง 5 สถาบันเข้ามาเติมเต็ม ให้ชุมชนเป็นฐาน ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้สำคัญมากที่ชุมชนจะพัฒนาในรูปแบบที่ดูดซับประโยชน์จากการพัฒนาหรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบเหมือนที่ผ่านมา

แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว  4 พื้นที่นำร่อง ชุมชนตลาดพลู เขตธนบุรี เป็นชุมชนพาณิชยกรรม มีของดี เช่น กุ้ยช่าย ก๋วยเตี๋ยว ขนมไทยต่างๆ นอกจากอาหาร ยังเต็มไปด้วยมรดกวัฒนธรรม เช่น วัดอินมาราม หรือวัดพระเจ้ากรุงธนบุรี  วัดราชคฤห์ประวัติเกี่ยวข้องพระยาพิชัยดาบหัก  ศาลเจ้ากวนอู  วัดปากน้ำภาษีเจริญ  มีท่องเที่ยวโดยกลุ่มตลาดพลูดูดี จะพัฒนาท่องเที่ยวเชื่อมโยงต้นทุนวัฒนธรรมของชุมชน

ชุมชนพูนบำเพ็ญ เขตภาษีเจริญ  ส่งเสริมทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี ผลิตสินค้าปลอดภัยสู่ผู้บริโภค และพัฒนาพื้นที่ตลาดเชิงอนุรักษ์วิถีคนคลอง  เกิดการกระจายรายได้   ส่วนชุมชนคลองบางมด เขตทุ่งครุ-บางขุนเทียน  มีทั้งส้มบางมดและมะพร้าวน้ำหอมริมคลองบางมด วางแนวทางท่องเที่ยวชุมชนและเกษตรปลอดภัย หนุนการผลิตผลผลิตการเกษตรที่หลากหลาย หนุนท่องเที่ยวสีเขียวเชื่อมกิจกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่โดยรอบ  

ชุมชนคลองบางประทุน เขตจอมทอง ในพื้นที่มีจุดขายผักสวนครัวและผลไม้ นอกจากผลิตส่งขายตลาด มีแนวทางแปรูปเป็นยาจากสมุนไพร และขนมจากผลไม้ สร้างมูลค่ามากขึ้น มีสร้างแบรนด์ชุมชน ทำโมเดลทางธุรกิจ   ผู้คนมีรายได้จะยังอยู่ในพื้นที่  

การนำเศรษฐกิจสีเขียวขับเคลื่อนคลอง  เบญจมาศ กล่าวในท้ายว่า เป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ชุมชนริมคลองฝั่งธนฯ พัฒนาบนต้นทุนทางวัฒนธรรมและสภาพธรรมชาติที่มี ชุมชนต้องตั้งรับและปรับตัวกับสังคมยุคใหม่ ทั้งนี้ ปัจจัยความยั่งยืน  คือ การเสริมสร้างศักยภาพจากภายในชุมชน ในการพัฒนาผลผลิตและบริการที่สอดคล้องความต้องการของผู้บริโภค  หากชุมชนมีทางเลือกในการพัฒนา เชื่อว่าจะอยู่รอดและแก้ปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันเสน่ห์ของคนริมคลองฝั่งธนฯ จะไม่สูญหายไป อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพราะหากสูญเสียไปแล้ว ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้

อยากรู้จักฝั่งธนบุรีและชุมชนริมคูคลองฝั่งธน ชวนมาชมนิทรรศการ”คูคู่บ้าน คลองคู่เมือง”  จัดขึ้นโดยเครือข่าย Green Thonburi และชุมชนริมฝั่งคลอง ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ม.ค.2565 ที่โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายในนิทรรศการเล่าถึงศักยภาพย่านคลองฝั่งธนบุรี  ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม  และการสัญจรทางล้อ ราง เรือ  จนเป็นพื้นที่คุณภาพขับเคลื่อนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ทุกเสาร์-อาทิตย์มีตลาดสินค้าชุมชน

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ปชป.’ ปราศรัยใหญ่ฝั่งธนฯ ‘จุรินทร์’ ชู ‘4ทำ 3ไม่’ มั่นใจแลนด์สไลด์ไม่มีอยู่จริง

ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร(กทม.) เวลา 17.00 น. พรรคประชาธิปัตย์ จัดเวทีปราศรัยใหญ่มีแกนนำร่วมการปราศรัยเป็นจำนวนมาก

ปชป. เตรียมเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ฝั่งธนบุรี 23 เม.ย. 'เดียร์' โวมีเซอร์ไพรส์แน่นอน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. และ นายชยิน พึ่งสาย ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตราษฎร์บูรณะ - ทุ่งครุ

‘เศรษฐา’ นำทีม ‘เพื่อไทย’ บุกฝั่งธนฯ เมินคำพูด ‘บิ๊กตู่’

“เศรษฐา” นำทีม “เพื่อไทย” บุก 3 ตลาดเช้าย่านฝั่งธนฯ เมิน “บิ๊กตู่” ขู่ แลนด์สไลด์ออกนอกเลนระวังเจ็บตัว มองฝ่ายบริหารแยกนิติบัญญัติดีกว่า

ปชป. ผนึกตระกูล 'ม่วงศิริ' ชิง ส.ส.ฝั่งธนฯ 'สุวัฒน์' แจงแล้วเหตุทิ้ง พปชร.

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งนายสากล นายสาทร นายสารัช และน.ส.วณิชชา ม่วงศิริ