อดีต ปัจจุบัน อนาคต:109ปีเพาะช่างสู่สถาบันเฉพาะทางด้านศิลปะชาติ

7 มกราคม พ.ศ. 2456 เป็นวันก่อตั้ง”โรงเรียนเพาะช่าง” หรือ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน  โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดและพระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งว่า สถาบันที่เป็นแหล่งบ่มเพาะศิลปะการช่าง   สร้างความงอกงามให้กับประเทศด้วยงานศิลปะและมรดกวัฒนธรรมไทย

การก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่างเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ต้องการจะสร้างสถาบันการศึกษาด้านศิลปะการช่างของไทยขึ้นด้วยการอนุรักษ์มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ และให้มีการเรียนรู้ศาสตร์ศิลปะของชาวตะวันตกให้เท่าทัน เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาศิลปะการช่างไทยต่อไป

ต่อมาปี 2518 โรงเรียนเพาะช่างได้เปลี่ยนเป็นวิทยาลัยเพาะช่าง  และจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีของคณะศิลปกรรม  จากนั้นปี 2531  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ  และพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล   ปัจจุบันวิทยาลัยเพาะช่างอยู่ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีจำนวน 14 หลักสูตรประกอบด้วยหลักสูตรศิลปะบัณฑิต  13 หลักสูตร และหลักสูตรศึกษาศาสตร์บัณฑิต 1 หลักสูตร


ปีนี้วิทยาลัยเพาะช่างก่อตั้งครบ 109 ปี มีการทบทวนอดีต สถานการณ์ความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน พร้อมตั้งเป้าหมายหรือความหวังในอนาคต ซึ่งมีแผนการจะยกสถานะจากวิทยาลัยเพาะช่าง สู่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะของชาติ  

ผศ.บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง เผยเหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องขอออกจากสังกัดมทร.รัตนโกสินทร์ว่า  พระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่างเป็นสถาบันศิลปะการช่างของไทย   แต่ปัจจุบัน มทร.รัตนโกสินทร์ต้นสังกัดมีเป้าหมายและนโยบายระดับองค์กรเพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์สู่ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเลือกเป็นสถาบันการศึกษากลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม เมื่อกระทรวง อว.ให้แบ่งกลุ่ม  จากประเด็นดังกล่าวทำให้เพาะช่างต้องกลับมาทบทวนบทบาท  หากยังอยู่ภายใต้เป้าหมายที่ไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะและวัฒนธรรมเท่าที่ควรจะปิดกั้นศักยภาพและความมุ่งหมายในการพัฒนาคน พัฒนาชาติด้วยงานศิลปวัฒนธรรมอันเป็นศักยภาพเต็มของวิทยาลัยเพาะช่าง อีกทั้งกระแสโลกในปัจจุบันมุ่งสู่อนาคตผลักดันเรื่องทุนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาฐานรากทุกรูปแบบ เป็นสิ่งที่เพาะช่างถนัดและทำได้เต็มที่ 

“ เพาะช่างเป็นสถาบันที่จัดการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับอุดมศึกษามานานกว่า 109 ปี  มีหลักสูตรศิลปกรรมที่หลากหลาย เน้นอนุรักษ์มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ แต่ปัจจุบันมีสถานะเทียบเท่าคณะวิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีเท่านั้น ทำให้การทำงาน การบริหารจัดการองค์กรเกิดความไม่คล่องตัวและไม่เต็มประสิทธิภาพ  “ ผศ.บรรลุ กล่าว      

กว่าจะมาสู่แผนจัดตั้งสถาบัน ทางวิทยาลัยเพาะช่างได้ศึกษาความเป็นไปได้ในแยกออกจากต้นสังกัดมาเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มที่ 5 คือ กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ โดยศึกษาข้อมูล กฎหมาย พระราชบัญญัติ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอมติสภามหาวิทยาลัยเพื่ออนุมัติ

ผอ.วิทยาลัยเพาะช่าง เชื่อว่า การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาด้านศิลปกรรมจะเป็นทิศทางการบริหารจัดการองค์กรได้เต็มประสิทธิภาพในฐานะสถาบันหลักในการสร้างบุคคลากรด้านศิลปวิชาการช่างไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคม เป็นสถาบันที่จัดการองค์ความรู้ศิลปะเป็นที่เชิดหน้าชูตาประเทศ  และมีส่วนสำคัญสืบสานศิลปะงานช่างไทย ทั้งศิลปะประจำชาติ ศิลปหัตถกรรมประจำถิ่น  และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ศิลป์   

ส่วนความพร้อมสู่การเป็นสถาบัน นายสุเทพ จ้อยศรีเกตุ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ หนึ่งในคณะทำงานฉายภาพให้เห็นว่า ไทยติดอันดับ 5 ของประเทศที่มีอิทธิพลด้านมรดกวัฒนธรรม เราควรทุ่มเทการพัฒนาชาติด้วยศิลปวัฒนธรรม ชื่อเพาะช่างเป็นที่ยอมรับจากสังคมทั้งชื่อเสียงและศักยภาพในด้านต่างๆ  มีศิษย์เป็นศิลปินแห่งชาติจำนวนเกือบ 40 คน อาทิ ถวัลย์ ดัชนี ,เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์,ประหยัด พงษ์ดำ ,กมล ทัศนาญชลี , ปรีชา เถาทอง ,ปัญญา วิจินธนสาร หรือก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างใหญ่ผู้ออกแบบพระเมรุมาศรัชกาลที่ 9  ก็เป็นศิษย์เก่าคุณภาพคับแก้ว   เพาะช่างมีศักยภาพในด้านต่างๆ มีผลงานเป็นเครื่องยืนยันมาโดยตลอด มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเป็นที่ยอมรับ  มีเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก

ด้านสภาพแวดล้อม มีสถานที่ตั้งในเขตพระนคร กรุงเทพฯ อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ ใกล้เคียงแวดล้อมไปด้วยวัด วัง  มิวเซียม อาคารสถาปัตยกรรมสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่สนับสนุนการเรียนรู้เป็นอย่างดี มีบุคลากรสายวิชาการ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะกว่า 100 คน พร้อมดูแลสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจศิลปะทั้งแนวอนุรักษ์และโมเดิร์น

 “ อัตลักษณ์เพาะช่างถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศที่มีหลักสูตรด้านศิลปะประจำชาติมากที่สุด ปัจจุบันมีหลักสูตรปริญญญาตรีด้านศิลปกรรมรวม 14 หลักสูตร มีแผนจะเปิดหลักสูตรใหม่เพิ่ม ระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตร ปริญญาโท 3 หลักสูตร และปริญญาเอก 1 หลักสูตร โดยจะมีวิชาศิลปะประจำชาติเป็นวิชาพื้นฐานทุกหลักสูตร มั่นใจว่า เพาะช่างมีความพร้อมเต็มกำลังในการยกสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง  ” อ.สุเทพ เน้นย้ำ

 นอกจากนี้ ได้ยกตัวอย่างสถาบันศิลปะในไทยอย่างสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เดิมเป็นวิทยาลัยช่างศิลป์และวิทยาลัยนาฏศิลป์ หรือสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ในต่างประเทศมีมหาวิทยาลัยมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีการเรียนการสอนในลักษณะเดียวกัน

ส่วนชื่อสถาบันนั้น นายวิชัย รักชาติ หัวหน้าสาขาวิชาจิตรกรรมไทย กล่าวว่า  ทางวิทยาลัยเพาะช่างได้หารือกันแล้วเห็นควรให้ชื่อ สถาบันศิลปะ โรงเรียนเพาะช่าง  เพราะโรงเรียนเพาะช่าง เป็นนามพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 เนื่องในพิธีเปิดโรงเรียนเพาะช่างเมื่อ 109 ปีก่อน ซึ่งหมายถึง สถาบันที่เป็นแหล่งบ่มเพาะศิลปะการช่าง เป็นต้นกำเนิดแห่งศิลปวิทยา ที่ผลิดอก ออกผล สร้างความเจริญงอกงามให้กับแผ่นดินด้วยงานศิลปะ

“ ปรัชญาของสถาบันศิลปะโรงเรียนเพาะช่าง คือ ความเจริญในศิลปะวิชาการช่างเป็นเครื่องวัดความเจริญชาติ มาจากกระแสพระราชดำรัส ร.6 วันเปิดโรงเรียนเพาะช่าง เพาะช่างเป็นสถาบันที่ผูกพันกับพระมหากษัตริย์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเปิดนิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติ 5 ครั้ง กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดนิทรรศการศิลปะปูนปั้นเป็นประจำ พระบรมวงศานุวงศ์เยี่ยมชมกิจกรรมเพาะช่างมาโดยตลอด หากจัดตั้งสำเร็จถือเป็นการสืบสานพระราชดำริทำนุบำรุงศิลปะช่างไทยอย่างแท้จริง “ หน.สาขาจิตรกรรมไทยสรุปทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน