ปิดม่านไปแล้วกับละครเวที “บันทึกรักเกาะนางจร” จัดแสดงโดยคณะสังกะสีการละคอน ขึ้นที่ GalileOasis ราชเทวี กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 17 – 19 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในกิจกรรม “เชื่อมวัยด้วยไอที” ที่ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทยจัดขึ้นเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเยาวชน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง
ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวว่า มูลนิธิให้ความสนใจการพัฒนาบุคลากร โดยตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นเน้นการสอนเขียนโปรแกรมการพัฒนาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสอนการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่เด็กควรเปิดโลกทัศน์ให้ครอบคลุม แทนที่จะมุ่งเทคโนโลยีอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อมีการเสวนาเรื่องริมปิงจึงเป็นโอกาสให้เยาวชน จะใช้เนื้อหาเดียวกัน แทนที่จะแสดงออกทางดิจิทัลอย่างเดียว ให้นำศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะกระบวนการสร้างละครเใช้ตรรกะทุกด้าน ค้นหาข้อมูล เช่นเดียวกับกระบวน Computational Thinking ที่ใช้เขียนโปรแกรม การใช้เทคโนโลยีมาสร้างงานศิลปะ ช่วยพัฒนาคุณภาพเด็กให้มีความพร้อมมากขึ้น
ครูจืด – เข็มทอง โมราษฏร์ ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า ได้รับโจทย์ให้พัฒนาเด็กด้วยงานละคร จึงนำเรื่องเรื่องเล่าของคนเฒ่าเกี่ยวกับชุมชน อดีตมีนางจรเป็นคนบ้า ประกอบกับเคยมีเกาะกลางลำน้ำปิง แต่หายไป นำเรื่องราวมาเชื่อมโยงกับช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดตาก ตั้งแต่ยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยุคการล่องแพซุงในแม่น้ำปิงจนถึงสมัยปัจจุบัน ใช้แม่น้ำปิงดำเนินเรื่อง มีการใช้เพลงค่าว บทเพลงเฉพาะภาคเหนือ นักแสดงเด็กๆ ต้องการที่จะแสดงละครเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถแสดงออกตามลักษณะของตัวละคร เด็กแต่ละคนจะแสดงบทบาทตัวละครเดียวกันในรูปแบบที่ต่างกันขึ้นกับการตีความ นอกจากนี้ เด็กๆ ใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์สร้างฉากด้วยแอนิเมชัน ออกแบบจัดทำสูจิบัตรการแสดง แสดงจบแต่ละรอบจะประเมินการแสดงของตนเพื่อปรับปรุงการแสดงรอบต่อไป
นางสาวรักษิตา เกตุดี นักเรียนชั้นมัธยมที่ 6 ร.ร.ตากพิทยาคม จ.ตาก รับบท’นางจร’ เล่าว่า สนใจการแสดงและไอที อยากรู้ถ้าผสมทั้งสองอย่างจะเป็นอย่างไร เมื่อได้แสดงจริง พบว่า การแสดงของตนเองมีการพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น มีการพัฒนาเพื่อให้รอบการแสดงต่อไปแสดงอารมณ์ของตัวละครให้ชัดเจนมากขึ้น
นอกจากละครเวที มีเวทีเสวนาหัวข้อ“จากนางจรสู่แคดเมียม” โดย กาญจนา กาญจนสุต ชาวตาก, สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมกำจัดขยะมูลนิธิกระจกเงา และ ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ร่วมพูดคุยสะท้อนการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนมาจากการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น เชื่อมโยงธีมหลักของละครเวที สื่อเหตุกาณ์พบสารแคดเมียมและขนย้ายกลับ จ.ตาก โดยละเลยความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งมีกิจกรรมเกมชิงรางวัล ชิมเมี่ยงคำเมืองตาก การแสดงดนตรี และการแสดงสินค้าจากกลุ่มชาติพันธุ์และสินค้าพื้นเมือง จ.ตากด้วย ติดตามรายละเอียดละครเวที “บันทึกรักเกาะนางจร” ที่เว็บไซต์ : บันทึกรักเกาะนางจร.ไทย