วธ.ห่วงไลฟ์สดขายของ ใช้ภาษาหยาบคาย แต่งตัวล่อแหลม-ลามกเรียกออเดอร์ ยันเอาผิดทั้งทาง กม.-มาตรการสังคม วอนให้มีความรับผิดชอบ ห่วงเด็กเยาวชนมีพฤติกรรมเลียนแบบ
28 ธ.ค.2564 – นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากกรณีมีการนำเสนอข่าวสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ตั้งกระทู้ถามกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ค้าออนไลน์บางราย มีการใช้ถ้อยคำพูดหยาบคายและแต่งกายไลฟ์สดขายสินค้าไม่เหมาะสม และมองว่ากระทรวงวัฒนธรรมละเลยไม่ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น วธ.ขอขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาและสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมกันธำรงรักษาไว้ซึ่งศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ขอยืนยันว่า วธ. ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและเห็นว่าการผลิต การจำหน่ายสินค้า การโฆษณา และการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ได้รับความสนใจจากลูกค้าหรือผู้บริโภค สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และมีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการรู้เท่าทันสื่อ หรือเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถแยกแยะหรือยังไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในการเลือกรับสื่อ และหากมีการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งกรณีที่มีการแต่งกายไม่เหมาะสม หรือใช้ภาษาหยาบคาย ไม่สุภาพ แต่มีผู้สนใจเข้าชม หรือซื้อสินค้าจำนวนมาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้เช่นกัน
โฆษก วธ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา วธ. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคม เช่น 1. กรณีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม ใช้คำไม่สุภาพ ในการไลฟ์สดขายสินค้า วธ. มอบหมายหน่วยงานสังกัด วธ. ที่ดูแลในเรื่องดังกล่าว ติดตามและเฝ้าระวังความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการตรวจสอบพบกรณีมีผู้ขายสินค้าออนไลน์ที่ไลฟ์สดขายสินค้าทางเพจเฟซบุ๊กบางเพจ ซึ่ง วธ. ได้วิเคราะห์แล้วว่าเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จึงได้มีหนังสือประสานงานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
2. กรณีการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมในการขายสินค้าช่วงที่ผ่านมา อาทิ แม่ค้าขายขนมโตเกียว ที่จังหวัดเชียงใหม่ และแม่ค้าขายเฉาก๊วยนมสด ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วธ. ได้มอบหมายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น ฝ่ายปกครอง ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พูดคุยและชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจจะเข้าข่ายลามกอนาจาร อันจะเป็นการขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ โดยขอความร่วมมือให้ปรับปรุงการแต่งกายให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และได้ทำบันทึกข้อตกลงที่จะไม่แต่งกายล่อแหลมลักษณะดังกล่าวอีก หากพบเห็นมีการเผยแพร่หรือส่งต่อภาพการแต่งกายล่อแหลมในสื่อสังคมออนไลน์อีก จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายประสพ กล่าวด้วยว่า วธ. เข้าใจถึงสถานการณ์วิกฤติจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งทุกคนต้องมีอาชีพและหารายได้ในรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นการทำมาค้าขายกันโดยสุจริตและมีวิธีการขายสินค้า หรือกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจ หลากหลาย เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าทำให้ขายสินค้าได้มาก แต่ขอให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ทุกคนได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคม ต่อเด็ก เยาวชน รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามหรือภาพลักษณ์โดยรวมของสังคมไทยด้วยทุกคนสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และหลากหลาย ที่ผ่านมา ได้มีตัวอย่างของผู้ค้าออนไลน์หลายคนที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ไม่ต้องแต่งกายที่ล่อแหลมและไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ประชาชนในฐานะลูกค้าสามารถใช้มาตรการทางสังคมโดยไม่สนับสนุนผู้ค้าออนไลน์ที่ใช้ภาษาหยาบคาย หรือแต่งกายไม่เหมาะสม และสนับสนุนการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ค้าออนไลน์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น วธ. จึงขอความร่วมมือผู้ค้าออนไลน์และผู้บริโภคทุกคนช่วยกันแก้ไขปรับปรุง การซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมไปด้วยกัน
นายประสพ กล่าวตอนท้ายว่า หลังจากนี้ วธ. จะดำเนินการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว อาทิ จัดเสวนารับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนเรื่องการใช้ภาษาไทยและการแต่งกายในการขายสินค้า โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ โดยเชิญผู้แทนกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วม เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สื่อมวลชน นักวิชาการด้านการตลาดออนไลน์ ผู้ประกอบการขายสินค้าออนไลน์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมมาเสวนาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน รวมถึงดำเนินการส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรมการขายสินค้าโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม การแต่งกายเหมาะสม และใช้ภาษาสุภาพ ซึ่งงานเสวนาดังกล่าวจะจัดขึ้นในรูปแบบปกติหรือรูปแบบออนไลน์นั้นจะพิจารณาตามสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา วธ. ได้มีการรณรงค์และป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้มีเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรม และประชาชนติดตามเฝ้าระวัง ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลและแก้ปัญหา โดยแจ้งข้อมูลมาที่ วธ. ผ่านช่องทางสายด่วนวัฒนธรรม 1765 Facebook Fan Page 1765 และเว็บไซต์ของ วธ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วธ.จัดมหกรรม‘ปลาร้า หมอลำอีสาน’ ยกระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ดังก้องโลก
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท
สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท
พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่
เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1 โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ
'ประสพ เรียงเงิน' นั่งปลัดวธ.คนใหม่
11 ธ.ค.2567 - ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ โดยแต่งตั้งนายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ทั้งนี้ นายประสพ ถือว่าเป็นลูกหม้อกระทรวงวัฒนธรรม เคย